คุณเคยเหงื่อไหลทั่วมือ ตัวชา เสียงสั่น หรือรับมือกับเรื่องบางเรื่องไม่ถูก ราวกับว่าสมองว่างเปล่ากะทันหันบ้างไหม?
นี่เป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์คับขัน แต่ก็สามารถพบได้บ่อยในกลุ่มคนทำงานเช่นกัน บางคนมีอาการเมื่อต้องนำเสนองานต่อหน้าลูกค้าเป็นครั้งแรก บางคนมีอาการเมื่อต้องเข้าประชุมร่วมกับหัวหน้าดุ บางครั้งก็อาจเกิดขึ้นเมื่อต้องคุยกับเพื่อนร่วมงาน ส่วนบางคนอาจมีอาการนี้ตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาในออฟฟิศเลยก็ได้
โดยเฉลี่ยแล้วเราใช้เวลาหนึ่งในสามของวันไปกับที่ทำงาน ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีวัฒนธรรมองค์กร สังคมแวดล้อมและบรรยากาศที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างนั้นอาจจะไม่เข้ากันกับวิถีชีวิตส่วนตัว หรือคุณค่าของพนักงานบางคน นั่นจึงเป็นที่มาของความวิตกกังวลที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ตัว
นอกจากจะเป็นภาวะทางอารมณ์ที่มีอยู่จริง และไม่ใช่ความคิดมาก หรือคิดไปเองแล้ว ความวิตกกังวลยังสร้างผลกระทบโดยตรงกับประสิทธิภาพที่ลดลงของคนทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นความวิตกกังวลยังเพิ่มความเหนื่อยล้า ซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะ Burnout ได้ด้วย
ดังนั้น ในยุคที่ภาวะทางอารมณ์ ความกดดัน รวมถึงความเครียดมีอิทธิพลเหนือเรามากอย่างนี้ เราจะรับมือกับภัยที่มองไม่เห็นอย่าง ‘ความวิตกกังวล’ ที่เกิดขึ้นในที่ทำงานอย่างไรดี?
3 สัญญาณความเสี่ยงของ ‘โรควิตกกังวลในที่ทำงาน’
ในบรรดาโรควิตกกังวลทั้งหมด ‘ภาวะวิตกกังวลในที่ทำงาน’ ซึ่งอาจรู้จักกันในหลายชื่อ เช่น Workplace Anxiety, Job-Related Anxiety หรือ Occupational Anxiety ดูท่าว่าจะถูกมองข้ามมากที่สุด เนื่องจากในบริบทของการทำงาน เรามักโฟกัสที่ความเป็นมืออาชีพ ประสิทธิภาพ และทักษะที่มีติดตัวมากกว่าสิ่งอื่น
เมื่อภาพของอารมณ์ จิตใจ หรือความรู้สึกถูกมองข้าม การที่เรารู้สึกว่าตัวเองรับมือกับสถานการณ์ในที่ทำงาน หรือจัดการกับความเครียดและความกดดันที่เกิดจากงานไม่ไหว จึงถูกมองว่าเป็นเพราะเรา ‘ยังไม่เก่งพอ’ สำหรับสมรภูมิคนทำงาน นั่นจึงทำให้เราไม่รู้ตัวเลยว่าอาจจะกำลังประสบกับโรควิตกกังวลอยู่ก็ได้
โดยดร.โจตี คาพูร์ (Jyoti Kapoor) จิตแพทย์อาวุโสจากสถาบันศึกษาในประเทศอินเดียกล่าวว่า ภาวะวิตกกังวลในที่ทำงานเป็นปัญหาสุขภาพจิตของคนทำงาน ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียไปถึงความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ความสัมพันธ์ และคุณภาพชีวิตส่วนตัวด้วย
ทั้งนี้ ภาวะวิตกกังวลลักษณะนี้มักเกิดขึ้นจากงาน หรือสภาพแวดล้อมในที่ทำงานเป็นหลัก เช่น ภาระงานที่หนักเกินไป ความรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพ ความขัดแย้งในที่ทำงาน หรือความคาดหวังต่อการทำงาน ปัจจัยทั้งหมดนี้อาจไม่ใช่เพราะความไม่เก่ง หรือขาดทักษะ แต่เป็นความไม่ปกติของสภาพอารมณ์และจิตใจที่นำไปสู่โรควิตกกังวลในที่ทำงานได้ โดยเราสามารถสังเกตอาการคร่าวๆ ได้ดังนี้
[ ] กังวลกับงานมากเกินไป และกังวลโดยไม่มีเหตุผลบ่อยๆ จนทำให้กระทบกับความสามารถในการจดจ่อกับงานที่ทำอยู่
[ ] มีอาการทางกายเมื่อรู้สึกประหม่า หรือกังวล เช่น ปวดหัว กล้ามเนื้อเกร็ง ปวดมวนท้อง เหงื่อออก หรือหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติจนไม่สบายตัว
[ ] มีสัญญาณของ ‘Perfectionism’ โดยตั้งมาตรฐานของงานไว้สูงเกินความจำเป็น เพื่อหนีจากความผิดพลาด หรือคำวิจารณ์ของผู้อื่น
หากสถานการณ์ธรรมดาในที่ทำงาน เช่น การประชุมกับหัวหน้า ผู้บริหาร หรือลูกค้า การนำเสนอโปรเจกต์ต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน หรือการติดต่อสื่อสารกับผู้คนทำให้เรามีอาการแบบนี้ เป็นไปได้สูงว่าเราอาจจะกำลังประสบกับ ‘โรควิตกกังวลในที่ทำงาน’ อยู่ก็ได้
วิธีรับมือกับโรควิตกกังวลในที่ทำงาน ที่นักประสาทวิทยาศาสตร์แนะนำ
โรควิตกกังวลเกิดขึ้นจากปัจจัยที่หลากหลาย ในบางกรณีเกิดจากปัจจัยภายใน เช่น อารมณ์ที่ไม่คงที่ หรือขาดความสามารถในการจัดการกับความเครียด ในขณะที่บางกรณีเกิดจากปัจจัยภายนอก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากปัจจัยอะไร สิ่งที่โดนผลกระทบไปอย่างเต็มๆ ก็คือ ‘สมอง’ ที่ควบคุมอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ไปจนถึงพฤติกรรมของเรา
โดยโรควิตกกังวลในที่ทำงานอาจส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังลดทอนประสิทธิภาพการทำงานของเราด้วย เช่น ทำให้เราจดจ่อกับงานได้ยากขึ้น ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าและท่วมท้นมากเกินไปทั้งทางกายและใจ
นอกจากนี้ความเครียด ความวิตกกังวลยังทำให้เราไม่กล้าเผชิญกับคำวิจารณ์หรือการรับฟีดแบ็กจากคนอื่น ทำให้เราเริ่มมีนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง และปลีกตัวจากสังคมเพื่อเลี่ยงการตัดสิน คำวิจารณ์ หรือฟีดแบ็กจากคนอื่น ซึ่งทำให้เรารู้สึกไม่พอใจและไม่มีความสุขกับการทำงานได้ ยิ่งไปกว่านั้น ความวิตกกังวล และความเครียดยังส่งผลกับสุขภาพการนอนของเรา ทำให้นอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่เต็มที่ได้ด้วย
โดยการป้องกันนั้นก็มีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับต้นเหตุของแต่ละกรณี เช่น การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน การสร้างขอบเขตเพื่อไม่ให้ภาระงานหนักเกินไป หรือการปรับมุมมองเรื่องงานใหม่ แต่ในกรณีที่เรามีอาการของโรควิตกกังวลในที่ทำงานแล้ว และกำลังเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบากขึ้นมาจะรับมืออย่างไรดี?
เวนดี้ ซูซูกิ (Wendy Suzuki) นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยากล่าวไว้ในรายการ The Way We Work ของ TED ว่าเมื่อเรามีอาการทางกายของโรควิตกกังวล เช่น ใจสั่น เหงื่อออก หรือปวดมวนท้องขึ้นมา ให้ใช้เครื่องมือขจัดอาการวิตกกังวลในที่ทำงานที่ได้ผลจริง ดังนี้
[ ] Breath Work : การหายใจเข้าและออกลึกๆ โดยใช้หลัก Parasympathetic Nervous System กล่าวคือการหายใจเข้าช้าๆ เป็นเวลา 4 วินาที แล้วกลั้นหายใจไว้ 4 วินาที แล้วค่อยๆ ปล่อยลมหายใจออกมาช้าๆ 4 วินาที แล้วกลั้นหายใจไว้ 4 วินาทีวนไปเรื่อยๆ
การฝึกหายใจด้วยวิธี Breath Work จะช่วยให้เราคุมอาการวิตกกังวลที่สื่อผ่านร่างกายได้ดีขึ้น เนื่องจากช่วยให้หัวใจที่เต้นเร็วเกินไปจนคุมไม่อยู่ค่อยๆ เต้นช้าลง และทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายมากขึ้นด้วย
[ ] ลุกขึ้นขยับร่างกายบ้าง เพราะการเดินหรือขยับร่างกายไม่หนักมากช่วยส่งผลเชิงบวกให้กับอารมณ์และจิตใจของเรา นอกจากนี้ซูซูกิยังบอกอีกด้วยว่าการขยับแข้งขา หรือขยับร่างกายเพียงเล็กน้อยทำให้ร่างกายหลั่งสารเคมีทางสมองที่กระตุ้นอารมณ์และรางวัล ได้แก่ โดพามีน เซโรโทนิน นอร์อะดรีนาลีน และเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งช่วยเพิ่มสภาวะอารมณ์เชิงบวกและลดสภาวะอารมณ์เชิงลบให้กับเราด้วย
การแก้ไขที่ปัจจัยภายนอกอย่าง ภาระงาน เพื่อนร่วมงาน ความกดดันจากหัวหน้าหรือลูกค้า ฯลฯ อาจจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร แต่ถ้าเรามีอาการทางกายจากโรควิตกกังวลขึ้นมาในสถานการณ์คับขัน เช่น ตอนเข้าประชุม หรือนำเสนอโปรเจกต์ การที่เราไม่สามารถรับมือกับช่วงเวลาเหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที อาจทำให้ความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นอย่างรุนแรงเลยก็ได้
ดังนั้น ถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ความวิตกกังวลจากเรื่องงานเริ่มรุนแรงขึ้นมา การรับมือด้วยเทคนิค Breath Work หรือหาเวลายืดเหยียดกล้ามเนื้อ รวมทั้งให้เวลาตัวเองได้พักผ่อนจากงานเครียด และความกดดันจากสภาพแวดล้อมในที่ทำงานบ้าง
ไม่แน่ว่าถ้าสามารถขจัดตัวการอย่าง ‘โรควิตกกังวลในที่ทำงาน’ ไปได้ ทั้งอาชีพการงานและคุณภาพชีวิตส่วนตัวของเราก็อาจจะพัฒนา และมีความสุขอย่างแท้จริงก็ได้
อ้างอิง
– What is workplace anxiety? Know signs and symptoms; ways to deal with it : Parmita Uniyal, Hindustan Times – https://bit.ly/4aEUcU4
– How to calm your anxiety, from a neuroscientist : Wendy Suzuki, TED – https://bit.ly/3yDT8SV
#anxiety
#worklife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast