PSYCHOLOGYworklife“ไปทำงานที่เรารักกันเถอะ” Job Crafting วิธีคราฟต์งานที่เกลียดเปลี่ยนเป็นงานที่รัก

“ไปทำงานที่เรารักกันเถอะ” Job Crafting วิธีคราฟต์งานที่เกลียดเปลี่ยนเป็นงานที่รัก

“ไปทำงานที่เรารักกันเถอะ”

ประโยคสั้นๆ ประโยคนี้ ถ้าฟังเผินๆ ก็ดูเหมือนคำพูดทั่วไปของคนที่รักและทุ่มเทในหน้าที่การงานของตน แต่สำหรับกลุ่มคนทำงานหลายกลุ่ม ประโยคที่กล่าวว่า “ไปทำงานที่เรารักกันเถอะ” มันคือประโยคที่แฝงไปด้วยความประชดประชัน เป็นเหมือนกับตลกร้ายที่เราใช้หลอกจิตใต้สำนึกของตัวเองว่า เรากำลังมีความสุขกับงานของเราอยู่ ไม่ได้ทนทรมานอยู่เลยแม้แต่น้อย ซึ่งพอฝืนตัวเองไปเรื่อยๆ ในลักษณะนี้เป็นเวลานาน ก็ย่อมหนีไม่พ้นหนึ่งในหลุมพรางที่เลวร้ายที่สุดของเหล่าคนทำงานที่เรียกว่า Burnout

ซึ่งปัญหาภาวะหมดไฟ หรือ Burnout ก็ใช่ว่าจะแก้ไขได้ง่ายๆ เพราะการที่คนคนหนึ่งจะสามารถหายจากอาการภาวะหมดไฟได้ ไม่ได้มีแค่ปัจจัยเดียว แต่มันคือปัจจัยหลากหลายแง่มุมในชีวิตที่แต่ละคนต้องเผชิญและรับมือจนนำไปสู่เทรนด์ Quiet Quitting ที่คนรุ่นใหม่บอกว่าพวกเขาไม่สามารถหาเหตุผลที่ทำให้พวกเขาต้องพยายามทำงานหนักอีกต่อไปแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า Quiet Quitting นั้นจะดูเย้ายวนแค่ไหนก็ตาม มันก็อาจจะไม่ใช่คำตอบหรือวิธีการแก้ปัญหาของอาการ Burnout ที่เหมาะสมสำหรับทุกคนเสมอไป เนื่องจากว่ามันคือการเอาพลังลบเข้าสู้กับพลังลบ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเกิดว่าเราลองใช้พลังบวกในการรับมือปัญหา เพื่อเป็นการจุดไฟในตัวให้ติดอีกครั้ง จนทำให้เราสามารถกลับมาเอนจอยและภูมิใจกับตัวเองเวลาทำงานได้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยวิธีที่มีชื่อว่า “Job Crafting”

Job Crafting คราฟต์งานที่เกลียดและเปลี่ยนมันเป็นงานที่รัก

Job Crafting คือแนวคิดในการทำงาน ที่บอกว่าเราทุกคนนั้นสามารถ “รักงานที่ทำ” ได้ในรูปแบบของตัวเองด้วยวิธีการค่อยๆ ปรับงานที่เราทำอยู่ ให้มีความเหมาะสมและตรงกับจุดแข็ง ความสนใจ และคุณค่าที่เรายึดถือให้มากขึ้น คล้ายๆ กับการคราฟต์ความหมายในงานของเราเสียใหม่ เพื่อให้เราสามารถค้นหาความสุขในการทำงานของเรากลับมาอีกครั้ง

โดยคอนเซปต์ของ Job Crafting ถูกศึกษาอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกในปี 2001 โดย Amy Wrzesniewski ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรที่ Yale School of Management และ Jane Dutton ผู้ร่วมก่อตั้ง Center for Positive Organization ซึ่งพวกเขาบอกว่าแก่นของ Job Crafting นี้ตั้งอยู่บนเสาหลัก 3 อย่าง ที่ทุกคนสามารถเริ่มนำไปประยุกต์กับการทำงานของตนเองได้ นั่นก็คือ

1. Task Crafting (ปรับที่ตัวงาน)

เป็นวิธีการปรับเปลี่ยนลักษณะในการทำงานในเชิงปฏิบัติ โดยใช้ทักษะและความรู้ที่เรามีอยู่แล้ว เช่น การปรับวิธีการทำงานเล็กๆ ย่อยๆ ในแต่ละวัน (Day to day task) ของเรา โดยอาจจะเป็นการปรับชนิดของการทำงาน, ขอบเขตของงาน, ลำดับงาน, หรือจำนวนงาน ให้มีความเหมาะสมกับตัวเรามากยิ่งขึ้น เช่นถ้าเรารู้ตัวว่าเราเป็นคนที่หัวจะแล่นในช่วงหลังเที่ยง เราก็ลองจัดลำดับงานที่ไม่ต้องใช้ความคิดเยอะมากนักเอาไว้ในตอนเช้า แล้วเหลืองานที่ต้องใช้สมองเยอะเอาไปไว้ช่วงหลังเที่ยงแทน กล่าวคือเป็นการปรับงานเข้าหาเรา มากกว่าปรับตัวเราเข้าหางาน

Advertisements

2. Relational Crafting (ปรับการมีปฏิสัมพันธ์ในงาน)

ลองปรับกรอบของความสัมพันธ์ผู้คนที่เราต้องจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วยในการทำงาน เช่น เพื่อนร่วมงาน, ลูกน้อง, หรือหัวหน้างาน ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากการทำงานก็ได้ เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่เห็นภาพคนเหล่านี้เป็น “งาน” ไปเสียหมด แต่กลับเป็นเหมือนกับ “เพื่อน” แทน ซึ่งก็จะทำให้เรานั้นสามารถหาความสุขในที่ทำงานได้มากขึ้น โดยเราอาจจะลองใช้เวลากับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น หรือไปทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ ในแผนกอื่นก็เป็นความคิดที่ดี แถมอาจทำให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ต่อบริษัทอีกด้วย

3. Cognitive Crafting (ปรับเป้าหมายของการทำงาน)

เป็นการปรับมุมมองหรือเป้าประสงค์จากภายในใจของเราเอง เป็นการปรับวิธีคิด, วิธีการตีความคุณค่าของการทำงาน ที่มีผลกระทบต่อตัวเรา โดยสมมติว่าถ้าหากเราเป็นช่างตัดผม แทนที่เราจะสนใจแค่ว่าตัดผมตามทรงที่ลูกค้าต้องการเพียงอย่างเดียว ให้เราคิดว่านอกเหนือจากการตัดผมเพียงอย่างเดียวนั้น เรากำลังสร้างความสุขและความมั่นใจ ให้กับลูกค้าด้วยทรงผมใหม่นั่นเอง ซึ่งด้วยการปรับเป้าหมายหรือคุณค่าในงานของเรา เราก็อาจจะรู้สึกถึงความสุขใหม่ๆ ในการทำงานของเรานั่นเอง

Job Crafting กับการตอบโจทย์ความต้องการของชีวิต

โดย Michael Wiederman ผู้ประสบการณ์ 19 ปี ในการเป็นศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาคลินิกได้ให้มุมมองของเขาต่อ Job Crafting ใน Psychology Today เอาไว้ว่า Job Crafting นั้นสามารถคือหลักการทำงานที่ทำให้คนเรารู้สึกมีคุณค่าในชีวิต แถมยังตอบโจทย์แห่ง “ความพึงพอใจ” หลักทั้ง 4 ของมนุษย์ได้อีกด้วย ซึ่งก็คือ

Advertisements

1. Contribution

คือโดยปกติของมนุษย์นั้นมีความต้องการรู้สึกว่า ชีวิตของพวกเขามีความหมายหรือจุดประสงค์บางอย่างที่มีคุณค่า ซึ่งการปรับมุมมองของตัวเราเกี่ยวกับงานของนั้น อาจเพิ่มความหมายบางอย่างให้กับชีวิตได้

2. Control

โดยปกติแล้ว มนุษย์นั้นต้องการรู้สึกว่าตัวเองนั้นมีความสามารถในการ “ควบคุม” ปัจจัยบางอย่างในชีวิตได้ ซึ่ง Job Crafting นั้น คือการสอนให้เรารู้สึกควบคุมและปรับงานของเราให้เหมาะสมกับความเป็นเรานั่นเอง

3. Capability

โดยปกติแล้ว เราทุกคนก็อยากรู้สึกว่าเราเป็นคนที่ “เก่ง” และมี “คุณค่า” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เรารู้สึกว่าเราชอบหรือมีความสำคัญในชีวิตเรา ซึ่ง Job Crafting สอนให้เราปรับการทำงานให้เหมาะสมกับจุดเด่นในตัวเราที่ส่งผลให้เราสามารถทำงานได้ดี และพอเราทำงานบางอย่างได้ดีนั้น เราก็จะรู้สึกถึงคุณค่าในตัวของเราขึ้นมานั่นเอง

4. Community

แน่นอนว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองบ้างไม่มากก็น้อย โดยไม่ใช่ว่าทุกคนต้องชอบเรา แต่ลึกๆ แล้วเราก็อยากจะมีกลุ่มคนที่ชอบและเคารพเรา รวมถึงเรา โดย Job Crafting นั้นก็สอนให้เรารู้จักสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้ที่ทำงานและสร้างสังคมที่ดีกับเพื่อนร่วมงานของเรานั่นเอง

ในท้ายที่สุดแล้ว Job Crafting นั้นดูเหมือนจะเป็นคอนเซปต์ที่สวนทางกับเทรนด์และกระแสปัจจุบันอย่าง Quiet Quitting โดยสิ้นเชิง เพราะมันเป็นการบอกให้ทุกคนที่กำลังประสบกับปัญหาอาการ Burnout นั้นพยายามมากขึ้นอีกนิดเพื่อค้นหาความสุขในการทำงานของตัวเอง

แน่นอนว่าวิธีการนี้อาจต้องใช้แรงกายและแรงใจมากกว่า Quiet Quitting แต่ไม่ว่าอย่างไรเราก็หลีกเลี่ยงการทำงานไม่ได้อยู่ดี แล้วทำไมเราถึงจะไม่ลองพยายามหาความสุขในสิ่งกินเวลา 8 ชั่วโมงในทุกๆ วันของเราบ้างล่ะ โดยแทนที่เราจะทำงานแบบขอไปทีไปวันๆ Job Crafting นั้นอาจจะทำให้ประโยคแห่งความประชดประชันอย่าง “ไปทำงานที่เรารักกันเถอะ” ให้กลายเป็นความจริงขึ้นมาก็ได้

ที่มา:
– Are You Quiet Quitting? Try ‘Job Crafting’ Instead : Michael Wiederman, Psychology Today – https://bit.ly/3NmIi7l
– What is Job Crafting? (Incl. 5 Examples and Exercises) : Catherine Moore, Positive Psychology – https://bit.ly/3flDYbK
– Job Crafting: What HR Professionals Need to Know : Neelie Verlinden, AIHR – https://bit.ly/3zuIUBM


#worklife
#psychology
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

 

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า