PSYCHOLOGYworklifeเช็กให้ดีก่อนสมัครงาน! 5 สิ่งที่ควรพิจารณา องค์กรไหนเหมาะกับเรา

เช็กให้ดีก่อนสมัครงาน! 5 สิ่งที่ควรพิจารณา องค์กรไหนเหมาะกับเรา

“อยากทำงานที่เดิมนานๆ ต้องทำอย่างไร?”

คำถามที่ไม่ว่าจะเป็นเด็กจบใหม่หรือคนที่เคยมีประสบการณ์มาก่อนต่างก็สงสัยและยังไม่สามารถตอบได้ เพราะการที่เราจะทำงานอยู่ในที่ที่หนึ่งเป็นระยะเวลานานๆ ได้มันเต็มไปด้วยปัจจัยอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน สวัสดิการ เพื่อนร่วมงาน และที่สำคัญที่สุดก็คือ “วัฒนธรรมองค์กร”

แล้วถ้าจะเลือกงานทั้งที เราต้องพิจารณาจากอะไรกันแน่?

บางคนอาจจะเลือกงานที่ใช่ บางคนอาจจะเลือกเงินเดือนที่พอใจ แต่พอเลือกไปก็ยังรู้สึกว่าไม่มีความสุขกับการทำงาน จนในท้ายที่สุดก็ต้องลาออกอยู่ดี ก็อาจเป็นไปได้ว่านั่นเป็นเพราะปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ

เพราะฉะนั้น คำตอบในการเลือกงานให้อยู่ได้นานๆ นั้นก็คือ การพิจารณาวัฒนธรรมองค์กรโดยรวมตั้งแต่แรกว่าบริษัทนั้นๆ ตรงกับความต้องการของเราหรือไม่

ทีนี้หลายคนก็อาจจะสงสัยเพิ่มขึ้นไปอีกว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือปัจจัยที่บ่งบอกได้ว่าองค์กรไหนเหมาะกับเรา?

ในบทความนี้จะพาทุกคนไปดูเคล็ดลับในการค้นหาองค์กรที่ใช่ รวมถึงวิธีการหลีกเลี่ยงองค์กรที่มีแนวโน้มและสัญญาณของการเป็นพิษ (Toxic) เพื่อที่จะได้เลือกองค์กรที่ใช่และดีต่อสุขภาพจิตของตัวเราตั้งแต่เนิ่นๆ

เลือกงานที่ใช่ทั้งที ต้องดูที่วัฒนธรรมองค์กร

ถ้าอยากอยู่ในองค์กรที่ใช่ ปัจจัยอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุดที่เราควรให้ความสำคัญก็คือ “วัฒนธรรมองค์กร”

จริงๆ แล้วเราควรดูวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละบริษัทให้ดีตั้งแต่ก่อนสมัครงาน ระหว่างสมัครงาน ไปจนถึงระหว่างสัมภาษณ์งาน แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่พลาดมากที่สุดคือ การดูวัฒนธรรมองค์กรหลังจากที่รับข้อเสนอและเข้าทำงานไปเรียบร้อยแล้ว

เพราะอะไรเราถึงต้องดูวัฒนธรรมองค์กรตั้งแต่เนิ่นๆ? เพราะวัฒนธรรมองค์กรคือ “บุคลิกภาพของแบรนด์” เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมการทำงาน ค่านิยม พันธกิจ และเป้าหมายของบริษัท ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่เราจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น

แล้วเราจะหาบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะกับเราได้อย่างไร?

ก่อนที่เราจะหาบริษัทที่เหมาะกับเราได้ อย่างแรกที่เราต้องทำคือต้องรู้ก่อนว่าสิ่งที่ต้องการแต่บริษัทเดิมไม่มีให้คืออะไร เช่น บริษัทเดิมอาจไม่ค่อยมีการทำงานข้ามฝ่าย แต่ส่วนตัวแล้วอยากลองทำงานของทีมอื่นๆ ดูด้วย ก็ควรหาบริษัทที่สนับสนุนให้มีการหมุนเวียนงาน หรือบริษัทเดิมอาจมีการแข่งขันมากเกินไป ก็อาจจะลองหาบริษัทที่เน้นให้ทุกคนทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน

แต่ก็อย่าคิดถึงแต่สิ่งที่ขาดหายไป ให้ลองประเมินดูด้วยว่าในที่ทำงานเดิมมีอะไรที่ชื่นชอบและยังต้องการให้มีในบริษัทใหม่ต่อไปบ้าง เพื่อจะได้มองหาบริษัทใหม่ที่ตรงความต้องการแบบรอบด้านจริงๆ

นอกจากนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนพอเปิดรายละเอียดงาน (Job description) ที่บริษัทต่างๆ ประกาศรับสมัครไว้ ก็คิดเพียงแค่ว่า “ฉันทำได้” หลังจากนั้นก็ไม่ได้สนใจอะไรเกี่ยวกับรายละเอียดงานอีก

แต่ในความเป็นจริงแล้วเราต้องพิจารณาส่วนนี้ให้ดีว่า “สิ่งนี้เหมาะกับเราหรือไม่” และสิ่งที่เราต้องพิจารณาดูให้ดีก่อนสมัครงาน รวมถึงระหว่างสัมภาษณ์งาน ไม่ได้มีแค่รายละเอียดงานเพียงเท่านั้น แต่เรายังต้องพิจารณาสิ่งอื่นๆ ร่วมด้วย

Advertisements

หลีกเลี่ยงวัฒนธรรมที่เป็นพิษ เพื่อสุขภาพจิตที่ดี

เรามาดูกันว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ควรพิจารณาในการสมัครงาน เพื่อจับสัญญาณการมีวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษของแต่ละบริษัทและหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองตกไปอยู่ในวงจรร้ายๆ เหล่านั้น

1. รายละเอียดงาน (Job description)

อย่างที่กล่าวไปว่า บางคนเมื่อเห็นรายละเอียดงานก็จะคิดแค่ว่าตัวเองทำได้หรือทำไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วรายละเอียดงานสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมองค์กรนั้นกลายๆ ทีนี้เรามาดูกันต่อดีกว่าว่าอะไรคือสัญญาณอันตรายที่เราควรสังเกตและจับตามองดูผ่านรายละเอียดงานที่บริษัทต่างๆ โพสต์รับสมัครไว้

[ ] หน้าที่ความรับผิดชอบมีความคลุมเครือ

“งานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายในแผนก”
“งานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”

ใครเคยเปิดเว็บไซต์หางานแล้วเจอหน้าที่ความรับผิดชอบแบบนี้บ้าง? เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เคยเจอประกาศรับสมัครงานแบบนี้ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเขียนหน้าที่ความรับผิดชอบห้อยท้ายไว้แบบนี้มันค่อนข้างคลุมเครือและไม่อาจรู้ได้ว่างานอื่นๆ ที่ว่าจะเป็นงานในลักษณะใด ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าเราอาจต้อง “สวมหมวกหลายใบ” หรือพูดง่ายๆ ก็คือทำงานหลายหน้าที่ในตำแหน่งเดียวนั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทด้วย ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะเป็นแบบนั้น

[ ] ภาษาที่ใช้แสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนและความเครียด

“สามารถทำงานภายใต้ความกดดันได้เป็นอย่างดี”
“จัดการกับความเครียดได้ดี”
“สามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่เร่งรีบได้”

คำพูดเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายอย่างหนึ่งได้ เพราะ “ความกดดัน” ในที่นี้อาจหมายถึงความกดดันที่ต้องตื่นมารับโทรศัพท์จากหัวหน้าหรือลูกค้าดึกๆ หรือการที่ต้องทำงานในเวลาจำกัด หากใครไม่ชอบงานที่มีความกดดันก็ควรเลี่ยงการรับสมัครงานในลักษณะนี้

[ ] เงินเดือนมีความคลุมเครือหรือกว้างจนเกินไป

“เงินเดือนตามตกลง”
“เงินเดือนตามโครงสร้างของบริษัท”

หากใครเจอโพสต์รับสมัครงานเช่นนี้ ก็ควรระวังไว้ก่อน เพราะบริษัทไม่ระบุเงินเดือนให้แน่ชัด ทำให้เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเราจะได้เงินเดือนเท่าไหร่กันแน่ หากโชคดีบริษัทนั้นอาจจะให้เท่าที่ขอหรือมากกว่านั้น แต่ถ้าโชคร้ายหน่อยก็อาจจะโดนกดเงินเดือนได้ ซึ่งมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง

และอีกอย่างหนึ่งที่ผู้หางานควรระวังคือการมีช่วงเงินเดือนที่กว้างมาก เช่น ตั้งแต่ 15,000 – 60,000 บาท ซึ่งถือว่าช่วงเรตต่ำสุดและสูงสุดค่อนข้างแตกต่างกันพอสมควร ส่วนเหตุผลที่ควรระวังก็เช่นเดียวกับการไม่ระบุเงินเดือน นั่นก็คือการโพสต์รับสมัครแบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทำให้ค่อนข้างมีความสุ่มเสี่ยงว่าอาจจะโดนกดเงินเดือนได้

2. ข่าวสารขององค์กร

เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นจนทำให้เราสะดวกในการหาข้อมูลแล้ว เราก็ควรใช้สิ่งนี้ให้เป็นประโยชน์ อยากให้คนที่กำลังหางานอยู่ลองเช็กเว็บไซต์ บล็อก โซเชียลมีเดียของบริษัท รวมถึงเว็บรีวิวบริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Pantip, Glassdoor และ WorkVenture และดูว่าบริษัทที่เราสนใจมีคนพูดถึงว่าอย่างไรบ้าง เพื่อเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากมุมมองภายนอก

การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าบริษัทนั้นเป็นอย่างไร และเหมาะกับเราหรือไม่

3. ผู้นำและการดำเนินธุรกิจ

หากเห็นบริษัทไหนแล้วถูกตาต้องใจเป็นพิเศษ อีกสิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรพลาดไปคือการทำความรู้จัก “ผู้นำองค์กร” วิธีการดูว่าใครเป็นผู้นำองค์กรก็ง่ายๆ เพียงแค่คลิกเข้าไปหน้าเว็บไซต์บริษัทแล้วเปิดอ่านที่หน้า “เกี่ยวกับเรา” และประวัติบุคลากรบนเว็บไซต์ของบริษัท

หลังจากนั้นให้นำชื่อของผู้นำไปค้นหาข่าวต่างๆ รวมถึงโซเชียลมีเดียของผู้บริหาร ที่สะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ในการทำงาน ชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวได้มากขึ้น เพื่อนำมาพิจารณาดูว่าสอดคล้องกับสิ่งที่เรายึดถือในการทำงานหรือไม่

และสิ่งที่ควรพิจารณานอกเหนือจาก “วิสัยทัศน์ของผู้นำ” แล้ว ก็ควรหาข้อมูลด้วยว่า

[ ] บริษัทนั้นมีวิธีการทำเงินอย่างไร
[ ] บริษัทนั้นเป็นบริษัทสตาร์ตอัปหรือเป็นบริษัทใหญ่ที่อยู่มานานแล้ว
[ ] บริษัทนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมไหน

คำตอบของคำถามเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้ได้ว่าบริษัทนั้นๆ มีความมั่นคงหรือไม่ และมีวิธีการทำงานเป็นไปในทิศทางใด เพราะแค่การทำงานในบริษัทสตาร์ตอัปกับบริษัทใหญ่ก็มีความแตกต่างกันแล้ว เช่น บริษัทใหญ่จะมีระบบระเบียบมากกว่า ส่วนบริษัทสตาร์ตอัปจะมีโอกาสได้ทำอะไรใหม่ๆ มากกว่า เป็นต้น

4. สไตล์การสื่อสารขององค์กร

สิ่งสำคัญที่ขาดไปไม่ได้เมื่อต้องค้นหาองค์กรที่ใช่คือการดูว่า “บริษัทนั้นๆ ปฏิบัติต่อเราด้วยความเคารพหรือไม่”

เราควรเริ่มจับสังเกตตั้งแต่ส่งใบสมัครไปเลย เพราะโดยทั่วไปแล้วเราจะได้คุยกับทีม HR ในช่วงนี้ ซึ่งสิ่งที่เราควรพิจารณามีดังนี้

[ ] ความตรงต่อเวลา: เมื่อส่งใบสมัครไปแล้ว เราต้องรอการตอบกลับนานแค่ไหน ถ้านานมากเกินไปก็อาจไม่ใช่สัญญาณที่ดี
[ ] ความเป็นมืออาชีพ: เมื่อได้พูดคุยกับทีม HR หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้วได้รับการปฏิบัติอย่างมืออาชีพหรือไม่ และรู้สึกโอเคกับวิธีการที่คนเหล่านั้นพูดหรือไม่ ถ้าใช่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

5. กระบวนการสัมภาษณ์งาน

อีกสิ่งหนึ่งที่เราสามารถสังเกตวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรได้นั่นก็คือ “กระบวนการสัมภาษณ์งาน” เพราะขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่เราใกล้ชิดกับการทำงานของอีกฝ่ายมากที่สุด ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสเห็นถึงสภาพแวดล้อมการทำงานและเพื่อนร่วมงาน (ในอนาคต) ได้

สิ่งที่เราควรทำคือการพิจารณาว่าบริษัทมีวิธีการจัดการกับกระบวนการสัมภาษณ์โดยรวมอย่างไรบ้าง เช่น การสังเกตดูว่าผู้สัมภาษณ์ได้ทำการบ้านเกี่ยวกับตัวเรามาดีพอหรือไม่ หรือแค่ถามคำถามไปเรื่อยๆ แบบไม่ได้ให้ความสนใจในตัวเรา

นอกจากนี้แล้วเรายังสามารถถามคำถามที่สงสัยเกี่ยวกับองค์กรได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นให้เตรียมคำถามไปให้ดี ตัวอย่างคำถามที่ควรถามเช่น

[ ] ถ้าลูกน้องในทีมทำงานผิดพลาด ในฐานะที่เป็นหัวหน้าคุณจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร
[ ] คุณชอบอะไรและไม่ชอบอะไรในการทำงานที่นี่
[ ] ที่นี่มีการฟีดแบ็กการทำงานกันอย่างไรบ้าง
[ ] Work-life balance สำหรับคุณคืออะไร
[ ] คุณคิดว่าคนแบบไหนที่เหมาะกับการทำงานที่นี่

จะเห็นได้ว่า นอกจากเลือกงานที่ใช่และเงินเดือนที่พอใจแล้ว การพิจารณาถึงวัฒนธรรมองค์กรโดยรวมก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน รวมถึงวิธีการในการจับตาดูก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ยาก ถ้าทำได้แต่ละขั้นตอนจะให้ข้อมูลที่มีค่ากับเรามากๆ ตั้งแต่กระบวนการทำงาน วิสัยทัศน์ของผู้นำ ไปจนถึงวัฒนธรรมองค์กร

ถ้าเรารู้สึกว่าช่วงก่อนสมัครงานและระหว่างสัมภาษณ์งานเจอสัญญาณว่าบริษัทนั้นๆ ไม่เหมาะกับเราตั้งแต่ต้น เราก็จะไหวตัวทันและค้นหางานที่ใช่ต่อไปได้

แปลและเรียบเรียง
– 5 Fast Ways to Figure Out if a Company’s Right for You (or if You Should Back Away Slowly) : Melissa Suzuno, The Muse – https://bit.ly/3jkca9d
– The Complete Guide to Researching a Company : Indeed – https://bit.ly/3PVY6zd
– 15 Company Culture Questions To Ask During an Interview : Indeed – https://bit.ly/3Gln5sv
– 3 Overlooked Ways To Find The Right Company For You : Adunola Adeshola, Forbes – https://bit.ly/3I41WnP

#worklife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า