ขึ้นชื่อว่าเป็นคนต่าง Gen ต่างอายุกันแล้ว สภาพสังคมตามยุคสมัยที่เกิดมาย่อมมีส่วนหล่อหลอมให้ชุดความคิด ทัศนคติ หรือเป้าหมายในการใช้ชีวิตแตกต่างกันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘การทำงาน’ ก็จัดเป็นหนึ่งในความแตกต่างที่คนทุก Gen ต้องประสบพบเจอด้วย
แล้วคุณล่ะ เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า เป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องการในการทำงานคืออะไร?
หากถามคำถามนี้กับคนแต่ละ Gen แน่นอนว่าเราก็อาจได้ยินคำตอบที่ต่างกันออกไป เช่น ความมั่นคง พัฒนาการของตัวเอง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยโดย Udemy แพลตฟอร์มการฝึกอบรมสำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานแห่งสหรัฐอเมริกา เผยว่า 65% ของคน ‘Gen Z’ นั้น มีสิ่งที่ต้องการในการทำงานเป็น ‘ความเจริญก้าวหน้า’ ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะได้ประลองฝีมือกับคน Gen อื่นๆ อย่าง ‘Gen X’ ‘Gen Y’ หรือ ‘Millennials’ ด้วย
ความต้องการของคนแต่ละ Gen ในโลกแห่งการทำงาน
สำหรับคน ‘Gen Z’ การยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิมควบคู่ไปกับการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ให้เข้ากับยุค AI โดยเฉพาะทักษะที่เอื้อต่อการเติบโตด้านอาชีพการงานนั้น คือสิ่งสำคัญยิ่งในโลกแห่งการทำงาน จนอาจกล่าวได้ว่า พวกเขามีแรงจูงใจในการพัฒนาวิชาชีพค่อนข้างสูงเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับคน ‘Gen X’ หรือ ‘Gen Y’
ซึ่งจากข้อมูลของ Tivian แพลตฟอร์มมอบคำแนะนำและให้ความรู้แก่คนวัยทำงาน ระบุว่า เมื่อพูดถึงเรื่องงานแล้ว คนแต่ละ Gen ก็จะมีความคาดหวังหรือสิ่งที่ต้องการไม่เหมือนกัน ในขณะที่เหล่าคน Gen Z ให้ความสำคัญกับ ‘ความเจริญก้าวหน้า’ ทางด้านของบรรดา Baby Boomers จะต้องการและให้ความสำคัญกับ ‘ความปลอดภัย’ เป็นอย่างมาก พวกเขาสามารถอุทิศชีวิตได้ทั้งชีวิตเพื่อการทำงาน และมักเลือกที่จะทำงานให้กับนายจ้างเพียงคนเดียว ไม่ย้าย เปลี่ยนงานบ่อยๆ หรือทำการใดก็ตามที่อาจส่งผลให้ความมั่นคงสั่นคลอน จนกระทบกับความปลอดภัยในการใช้ชีวิตหรือความเป็นอยู่ในแต่ละวัน
ในทางตรงกันข้าม คน Gen X จะมุ่งเน้นไปที่ ‘การได้สร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิต’ เป็นสำคัญ แม้พวกเขาจะไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนหากต้องทำงานหนัก แต่ก็ยังมองว่า การออกไปใช้ชีวิต เช่น แต่งงาน สร้างครอบครัว ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้อยู่ดี ถ้าได้มีโอกาสทำงานเป็นทีม จริงอยู่ที่คน Gen X มักมีความถ่อมตัวสูง แต่พวกเขาก็ต้องให้ผู้อื่นเคารพตนเองเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับคน Gen Y หรือ Millennials นั้น ‘งานที่มีคุณค่าและองค์กรที่โอบรับความแตกต่าง’ คือสิ่งที่พวกเขามองหาอยู่เสมอ ดังนั้น จะดีมากถ้าหัวหน้าหรือองค์กรคอยให้คำติชมแก่เหล่า Millennials อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับประสิทธิภาพหรือผลลัพธ์การทำงานของพวกเขาเอง หาก Millennials ได้รับการประเมินเหล่านี้เสมอๆ พวกเขาก็ตระหนักได้ด้วยตัวเองว่า ตัวเองทำงานตรงนี้ต่อไปเพื่ออะไร
ความท้าทายในการทำงานกับคนแต่ละ Gen
ตราบใดที่ทำงานภายใต้การควบคุมดูแลขององค์กร กฎเกณฑ์และตำแหน่งชนชั้นย่อมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งเหล่า Baby Boomers ก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะพวกเขารักในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ชอบให้ผู้อื่นคอยกำหนดให้ว่าต้องทำอะไรบ้าง ในขณะที่คน Gen อื่นจะไม่ค่อยยึดติดกับกฎเกณฑ์หรือตำแหน่งในที่ทำงานเท่า Baby Boomers อีกทั้งยังต้องการอิสระในการทำงานมากกว่า หากบังคับให้ทำงานตามรูปแบบที่กำหนดไว้มากเกินไป ก็อาจทำให้พวกเขารู้สึกว่า อยากย้ายงานไปในที่ใหม่ๆ ได้
แน่นอนว่า ด้วยลักษณะการอุทิศชีวิตเพื่องานของ Baby Boomers ก็มีผลทำให้คนรุ่นต่อมาอย่าง Gen X เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิต เพื่อที่จะได้สร้างครอบครัวและมีชีวิตสังคมไปพร้อมๆ กัน ฉะนั้น หากหัวหน้ารุ่น Baby Boomers คาดหวังให้ทำงานล่วงเวลา ก็อาจเสี่ยงสร้างความไม่พอใจให้กับคน Gen X ได้ ซึ่งความคิดที่จะสร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิตหรือ Work-Life Balance นี้ ก็ได้ถูกส่งต่อมายังคนรุ่นหลัง ทำให้ทั้ง Gen Y หรือ Gen Z ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ควรให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คน Gen X อาจเคยชินกับการทำงานที่จะปรับปรุงหรือแก้ไขก็ต่อเมื่อได้รับคำแนะนำมาเท่านั้น ซึ่งในทางตรงกันข้าม ทั้งคน Gen Y และ Gen Z กลับมองว่า ตัวเองอยากได้รับคำติชมเกี่ยวกับผลการทำงานอยู่เสมอๆ เพื่อจะได้มั่นใจว่า สิ่งที่ตนทำลงไปนั้นมีคุณค่า
แม้ Gen Y กับ Gen Z จะมีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง แต่คน Gen Y มักให้ความสำคัญกับการทำงานที่มีคุณค่าและความหมายในองค์กรที่มีวัฒนธรรมเปิดกว้าง ในขณะที่คน Gen Z มักมองหาความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเป็นหลัก ต่อให้ได้รับคำติชมเกี่ยวกับผลงานในแง่ดีอยู่เสมอ หรือได้รับโอกาสให้ประลองฝีมือกับคน Gen อื่นบ้าง ทว่าหากไม่สามารถเติบโตจากงานนั้นๆ จนก้าวขึ้นสู่อีกระดับที่สูงกว่าได้ พวกเขาก็อาจรู้สึกว่า ไม่มีแรงจูงใจใดๆ เหลือให้พวกเขาอยากทำงานนั้นต่อเช่นกัน
ด้วยทัศนคติที่มีต่อการทำงานที่แตกต่างกันของคนแต่ละ Gen จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตราบใดที่ยังต้องทำงานร่วมกัน เราทุกคนล้วนหลีกเลี่ยงการประสบปัญหาความต่างระหว่าง Gen ในที่ทำงานไม่ได้เลย ฉะนั้น ในเมื่อความแตกต่างคือสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้ว และเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลงอีกฝ่าย การมี Empathy หรือพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติของอีกฝ่ายจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่จะลดความรุนแรงของปัญหาลงได้
เพราะไม่ว่าคน Gen ไหน ก็ล้วนมีข้อดีที่ต่างสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้ทั้งสิ้น ซึ่งหากทุกคนเข้าใจในข้อดีของความต่างนี้ ปัญหาความต่างระหว่าง Gen ในที่ทำงานก็จะไม่ใช่ปัญหาชวนปวดหัวอันดับหนึ่งในโลกแห่งการทำงานอีก
อ้างอิง
– Generation X, Y, Z: Generations in the workplace – https://bit.ly/3CJTXLS– What Gen Z really wants now — and what it means for HR recruiting and retention strategies – https://bit.ly/40RlOEf
#trend
#worklife
#society
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast