ชีวิตที่ดีมีความสุขมาจากอะไร?

9197
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • Harvard Study of Adult Development หนึ่งในงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องความสุขของมนุษย์ที่ทำการศึกษามายาวนานกว่า 79 ปี (และยังคงทำต่อไป) จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 724 คน ได้ค้นพบว่าแท้ที่จริงแล้วการมีชีวิตที่ดีมีความสุข เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ของเรากับ ครอบครัว เพื่อน และสังคมรอบๆ ตัวเรา

ในวันหยุดพักผ่อนสบายๆ ระหว่างที่ผมเปิดดู TED talks ไปเรื่อยๆ ก็ไปเจอ TED Talks ที่ชอบมากอันหนึ่งที่เคยดูเมื่อนานมาแล้ว เห็นว่าน่าสนใจดีเลยอยากจะมาเล่าให้ฟังกันครับ เป็น TED Talks จากปี 2015 ของ โรเบิร์ต วาลดิงเจอร์ (Robert Waldinger) ปัจจุบันมีคนทั่วโลกดูไปแล้วมากถึง 26 ล้านครั้ง

หนึ่งในงานวิจัยที่ยาวนานที่สุดในโลก

ว่าด้วยเรื่องราวของโครงการวิจัยที่ชื่อว่า Harvard Study of Adult Development หนึ่งในงานวิจัยเรื่องความสุขของมนุษย์ที่ยาวนานมากที่สุดชิ้นหนึ่งของโลก จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลารวมกว่า 79 ปีแล้ว จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 724 คน และในปัจจุบันงานวิจัยชิ้นนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยมี โรเบิร์ต วาลดิงเจอร์ (Robert Waldinger) เป็นหัวหน้าทีมวิจัยรุ่นที่ 4 ของโครงการนี้

โดยเขาได้ไปติดตามศึกษาชีวิตของคนสองกลุ่มด้วยกัน

Advertisements

กลุ่มที่ 1. หนุ่มนักศึกษาจากฮาร์วาร์ด
ผู้เข้าร่วมการศึกษากลุ่มนี้ได้รับเลือกเมื่ออายุประมาณ 19 ปี เป็นกลุ่มเด็กหนุ่มจำนวน 268 คน จากชั้นเรียนฮาร์วาร์ดในปี 1939-1944

กลุ่มที่ 2. เด็กชายยากจนจากบอสตัน
กลุ่มนี้จะได้รับเลือกเมื่ออายุระหว่าง 11-16 ปี จำนวนทั้งหมด 456 คน เด็กกลุ่มนี้ด้อยโอกาส ยากจน ครอบครัวมีปัญหา และหลายคนอยู่ในห้องเช่าที่ไม่มีน้ำใช้

เมื่อเข้าร่วมโครงการเด็กทุกคนจะถูกสัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย สัมภาษณ์พ่อแม่ของเขา จนพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่มีชีวิตที่แตกต่างกัน มีอาชีพที่หลากหลายตั้งแต่ พนักงานโรงงาน ทนายความ ช่างปูน หมอ และมีหนึ่งในกลุ่มตัวอย่างเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ บางคนก็ติดสุราเรื้อรัง มีจำนวนหนึ่งที่เป็นโรคจิตเภท บางคนสามารถไต่บันไดของสังคม จากชั้นล่างสุดไปถึงชั้นสูงสุดของสังคม

ทุกๆ สองปี ทีมวิจัยจะส่งชุดคำถามไปเพื่อถามเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา เดินทางไปสัมภาษณ์พวกเขาที่บ้าน ขอบันทึกข้อมูลทางการแพทย์ เก็บตัวอย่างเลือด สแกนสมอง และพูดคุยกับลูกๆ ของพวกเขา


happy relationship
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com

บทเรียนชีวิตจากงานวิจัยอันยาวนาน

ข้อมูลที่ทีมวิจัยได้รับจากข้อมูลมหาศาลหลายหมื่นหน้า จากการติดตามศึกษาชีวิตของคนเหล่านี้ ไม่ได้เกี่ยวกับความร่ำรวย ชื่อเสียง หรือการทำงานหนัก

แต่ข้อมูลที่ได้นั้นชัดเจนและเรียบง่ายมาก คือ “ความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้เรา มีความสุขและแข็งแรงมากขึ้น”

โรเบิร์ต วาลดิงเจอร์ กล่าวว่ามี 3 ข้อคิดเรื่องความสัมพันธ์ที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้

ข้อคิดที่หนึ่ง: ความสัมพันธ์ทางสังคมมีผลต่อเรามาก
ความสัมพันธ์ทางสัมคม มีประโยชน์ต่อเรามาก และความเหงาโดดเดี่ยวจะฆ่าเรา คนที่มีความสัมพันธ์ที่ดี กับครอบครัว เพื่อน และสังคมของเขา จะเป็นคนที่มีความสุข สุขภาพดี และอายุยืน คนที่มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นน้อยกว่า กลายเป็นคนที่ไม่มีความสุข สุขภาพเสื่อมโทรมตั้งแต่ช่วงกลางของชีวิต

Advertisements

ข้อคิดที่สอง: คุณภาพของความสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญ
ไม่ใช่แค่จำนวนเพื่อนที่คุณมี ไม่ใช่แค่การมีความสัมพันธ์ที่จริงจัง แต่สิ่งสำคัญ คือ คุณภาพของความสัมพันธ์ของคนที่ใกล้ชิด ทีมวิจัยพบว่าการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ส่งผลเสียต่อสุขภาพ อย่างเช่น ชีวิตแต่งงานที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และร้างความรัก เป็นสิ่งที่ทำร้ายสุขภาพของเรา อาจจะมากกว่าการหย่าร้างด้วยซ้ำไป แต่การมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่อบอุ่นจะช่วยปกป้องเรา

ข้อคิดที่สาม: ความสัมพันธ์ที่ดีช่วยปกป้องสมองของเราได้
ความสัมพันธ์ที่ดีนอกจากจะทำให้สุขภาพของเราดีขึ้นแล้ว ยังช่วยปกป้องสมองของเราอีกด้วย คนอายุ 80 ปี ที่มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและมั่นคง รู้สึกว่าสามารถพึ่งพาอีกคนได้เมื่อต้องการ จะมีความจำที่เฉียบคม ส่วนคนที่มีความสัมพันธ์ที่เขาไม่รู้สึกว่าสามารถพึ่งพาอีกคนได้ กลับมีสภาวะความจำเสื่อมถอยเร็วกว่า

ความสัมพันธ์ที่ดีที่ว่านั้น ไม่จำเป็นจะต้องราบรื่นตลอดเวลา คู่รักวัย 80 บางคู่ อาจจะทะเลาะกันไม่หยุดไม่หย่อน แต่ตราบใดที่พวกเขารู้สึกว่าสามารถพึ่งพากันได้เมื่อทุกอย่างแย่ การทะเลาะกันไม่ได้มีผลต่อความจำของพวกเขาเลย


เรื่องเรียบง่ายที่เรามักหลงลืม

ความสัมพันธ์ที่ดี มีผลต่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของเราอย่างมาก นี่เป็นความรู้ที่มีมาเนิ่นนาน แล้วทำไมมันถึงทำได้ยากนักล่ะ? แถมหลายครั้งเราก็มักจะลืมเรื่องเหล่านี้กันอย่างง่ายดายเสียด้วย นั่นก็เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ชอบหาทางออกที่ง่ายและรวดเร็ว เรามักจะวิ่งหาอะไรก็ได้ที่คิดว่าจะช่วยให้เรามีชีวิตที่ดี และดีขึ้นต่อไป ซึ่งเป็นทางที่ง่ายกว่า

แตกต่างกับเรื่องความสัมพันธ์ที่ดูยุ่งยาก และซับซ้อนกว่ามาก แถมการต้องมานั่งเอาใจใส่ครอบครัว เพื่อนๆ และคนรอบข้างก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าดึงดูดให้หลายคนอยากทำเท่าไหร่นัก แล้วยังเป็นสิ่งที่ต้องทำตลอดชีวิต ไม่มีวันจบสิ้นอีกด้วย ทำให้บางคนเลือกที่จะไม่ใส่ใจซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายกว่า


ความเชื่อในวัยหนุ่มสาวของคนทุกยุค

ชายหลายคนในงานวิจัย ก็คิดเหมือนกับการสำรวจที่เราพบเห็นได้ในยุคปัจจุบันของคนกลุ่ม มิลเลนเนียล (Millennials) นั่นแหละครับ เมื่อครั้งที่พวกเขายังเป็นหนุ่ม เขาเชื่อจริงๆ ว่า ชื่อเสียง ความร่ำรวย และการประสบความสำเร็จสูงสุด คือสิ่งที่พวกเขาต้องได้มา เพื่อการมีชีวิตที่ดี แต่ครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอดการวิจัยที่ยาวนานที่ผ่านมานี้ ก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า คนที่ประสบความสำเร็จ มีความสุข สุขภาพดี คือคนที่ทุ่มเทเวลาให้กับ ครอบครัว เพื่อน และสังคมของเขา

ปรับปรุงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้ดีขึ้น

การปรับปรุงความสัมพันธ์ไม่มีอะไรยุ่งยาก และสามารถทำได้หลายรูปแบบ อาจจะเป็นอะไรง่ายๆ อย่างการจัดสรรเวลาให้กับพวกเขา ทำกิจกรรมใหม่ๆ ด้วยกัน เดินด้วยกัน หรือติดต่อกับคนในครอบครัวที่ไม่ได้คุยกันมาเป็นเวลานาน เรื่องเรียบง่ายเหล่านี้จะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ของคุณดีขึ้น และแน่นอนคุณก็จะรู้สึกดีขึ้นด้วย


มนุษย์เราไม่ได้ถูกสร้างมาให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ฉะนั้นอย่าลืมที่จะดูแลรักษาความสัมพันธ์ของคุณกับคนรอบข้างคุณให้ดีครับ

ชีวิตสั้นนัก จนไม่มีเวลา สำหรับการทะเลาะ การขอโทษ การอิจฉาริษยา และการต่อว่า มีเพียงเวลาเพื่อรัก และจะว่าไปแล้ว ก็แสนสั้นเช่นกันมาร์ก ทเวน (Mark Twain)

เว็บไซต์โครงการ https://www.adultdevelopmentstudy.org
ดู TEDtalks ของ โรเบิร์ต วาลดิงเจอร์ (Robert Waldinger) ได้ที่ลิงก์นี้เลยครับ https://bit.ly/1t7RIJB

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่