“Reskill 4.0” เมื่อทักษะเดิมไม่เพียงพออีกต่อไป เราจะเรียนรู้ทักษะใหม่อย่างไรในยุคนี้

2179
reskill 4.0 picture

หลายครั้งเวลาเปิดโทรทัศน์ เรามักได้ยินประโยคที่ว่า “เราต้องรีบปรับตัวให้เข้ากับยุค 4.0” อยู่บ่อยๆ แต่เคยสงสัยไหมว่าสิ่งนี้คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร แล้วทำไมเราต้องปรับตัวด้วย

รู้จักยุค 4.0

อุตสาหกรรม 4.0 มาจากการปฏิวัติอุสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการนำเครือข่าย IoT (Internet of Things) มาพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตให้เกิดความรวดเร็ว เสริมประสิทธิภาพ และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น

ความสำคัญของยุค 4.0 นี้อยู่ที่การใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มายกระดับศักยภาพการทำงานของมนุษย์ในการพัฒนากระบวนการผลิตและโซ่อุปทาน เช่น การใช้คลังข้อมูลขนาดใหญ่และระบบวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูง (Big Data and Advanced Analytics) เพื่อสร้างสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น

แม้การพัฒนาดังกล่าวจะตามมาด้วยข้อดีมากมาย แต่ความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมก็สร้างปัญหาให้เราเช่นกัน เพราะวงการเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็วนี้ทำให้เราเกิดช่องว่างทางความรู้ หลายบริษัทที่พนักงานยังไม่มีความรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงนี้ หรือพนักงานยังไม่รู้ว่าจะพัฒนาตนเองอย่างไร ก็ทำให้เกิดปัญหาคนตามเทคโนโลยีไม่ทัน

เพื่อจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว องค์กรจึงต้องส่งเสริมให้พนักงาน “เรียนรู้ทักษะใหม่” หรือ “Reskill” เพราะความรู้เดิมที่เคยมีนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป

การรีสกิลคือ การ “เปลี่ยน” ความรู้ในสายงานโดยตรง เช่น เราเคยทำงานสายภาษา แต่บริษัทที่เราไปสมัครเป็นงานด้านไอที เราจึงต้องไป Reskill ให้มีทักษะในสายไอที เป็นต้น

แต่การรีสกิลไม่ใช่เรื่องง่าย และความเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้ให้เวลาเราในการทบทวนหรือคิดนานเสียด้วย แล้วเราจะมีวิธีอะไรที่จะช่วยให้การรีสกิลนี้ประสบความสำเร็จในยุค 4.0? บทความเรื่อง “Three Steps To Meet Upskilling And Reskilling Demands Of Industry 4.0” จากเว็บไซต์ forbes.com ได้แนะนำไว้ดังนี้

ยอมรับว่าการรีสกิลเป็นเรื่องท้าทายมากกว่าการฝึกทั่วไป

ก่อนจะเข้าสู่การรีสกิล หัวหน้าของทีมต้องยอมรับก่อนว่า การอบรมหรือการฝึกทักษะไม่ใช่ยาวิเศษ ที่สามารถทำให้พนักงานที่ไม่เคยมีความรู้ในด้านนั้นมาก่อนสามารถกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ในชั่วข้ามคืน

และในตอนนี้ การรีสกิลก็กำลังท้าทายเรามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการเพิ่มทักษะใหม่นี้ไม่ใช่แค่การที่พนักงานใช้แอปพลิเคชันเวอร์ชันล่าสุดเป็น แต่ต้องรู้ลึก รู้จริง และทำงานได้ในสายงานใหม่ๆ ด้วย ซึ่งการจะฝึกฝนให้พนักงานที่เคยเชี่ยวชาญแต่ในสายงานเดิมให้มีทักษะมากขึ้น บริษัทต้องใช้หลักการที่ Alvin Toffler นักเขียนด้านการปฏิวัติดิจิทัลและการปฏิวัติการสื่อสารชื่อดัง ได้ให้คำแนะนำไว้คือ “Learn, Unlearn and Relearn”

Advertisements

แล้วทำไมเราต้องถึงต้อง “Learn, Unlearn and Relearn”?

เพราะเรากำลังอยู่ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไวจนตามแทบไม่ทัน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้บริโภค เทคโนโลยี การแข่งขันในหลายธุรกิจ รวมไปถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่ หากเรายังอยู่แต่ในคอมฟอร์ตโซน เราจะตามความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ทันและจะประสบความสำเร็จได้ยาก

Toffler เน้นย้ำสิ่งที่จะช่วยรักษาความสามารถในการทำงานของเรานั่นก็คือ “การหมั่นเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง หรือ Lifelong Learning” ทำให้เราสามารถแปลหัวใจหลักนี้ได้ว่า “Learn-เราเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติม, Unlearn-ละทิ้งสิ่งที่เคยเรียนรู้/เข้าใจมาก่อน เพราะอาจเป็นข้อมูลเก่าที่ผิดพลาดหรือตกยุคไปแล้ว และ Relearn-เรียนรู้สิ่งเดิมๆ ด้วยมุมมองใหม่ ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจสิ่งนั้นได้กว้างขึ้นและสามารถต่อยอดเพิ่มได้”

สร้างความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ (Learning Agility) ให้แข็งแกร่ง

“Learning Agility” คืออะไร โดยรวมมันคือ การใช้ทักษะผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต แล้วนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปรับปรุงแก้ไข เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน

แต่การจะสร้าง Learning Agility ให้สำเร็จได้นั้น ต้องมาจากความเต็มใจของผู้เรียนด้วย เพราะนั่นคือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้พวกเขาสามารถเรียนรู้สิ่งที่ต้องทำจนเกิดความสำเร็จได้ ดังนั้น บริษัทจะต้องรู้ความต้องการของพนักงานที่แตกต่างกันออกไป

โดยบริษัทจะต้องให้เวลาผู้เรียน “หาเหตุผลที่ตนสนใจจะเรียนรู้ให้เจอ” จากนั้น “มองหาช่องว่างระหว่างทักษะที่มีอยู่และทักษะที่ต้องไปให้ถึง” และสุดท้ายคือ “วิธีที่จะไปถึงจุดมุ่งหมายนั้น” ขั้นตอนทั้งหมดนี้ฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่ความจริงแล้ว กลับทำได้ยาก เพราะไม่ใช่ทุกคนจะรู้ว่า ตนอยากเรียนอะไร ดังนั้นเราจึงต้องมีโค้ชหรือคนแนะนำ เพื่อให้เราสามารถไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ง่ายขึ้น

ในส่วนของภาคบริษัทที่ต้องการสร้าง Learning Agility ให้พนักงานได้สำเร็จนั้น บทบาทของบริษัทคือ การสร้าง “ความตระหนักรู้ในตัวเอง (Self-awareness)” ให้พนักงานทุกคน รวมถึงจัดหาโค้ชหรือทรัพยากรอื่นๆ ที่ช่วยให้พนักงานสามารถเข้าถึงความต้องการที่จะเรียนรู้ได้มากขึ้น

Advertisements

แต่หากยังไม่มีโค้ช เราอาจต้องสร้างความตระหนักรู้ตัวเองผ่านการลิสต์จุดแข็งและจุดอ่อน รวมถึงให้เพื่อนร่วมงานรอบตัวเราเป็นผู้ช่วยประเมิน จากนั้นจับคู่คำตอบที่ได้จากทั้งภายนอกและภายใน เพื่อหาสิ่งที่เรายังต้องเรียนรู้เพิ่มเติมไปก่อน

ใช้กฎเรียนรู้แบบ 70-20-10

การจะรักษาประสิทธิภาพในการทำงานให้เท่าทันยุค 4.0 โดยไม่โดนดีดออกไปก่อนนั้น
องค์กรต้องสร้างการเรียนรู้หลากหลายระดับ เพื่อให้พนักงานอยากเลือกเรียนรู้งานที่แตกต่างจากงานเดิม

โดยบริษัทจะต้องลงทุนกับพนักงานผ่านกฎ 70-20-10 โดย 70% คือ การเรียนรู้จากประสบการณ์ (Learning by Experience), เรียนรู้ทางสังคม (Social Learning) 20% และอีก 10% คือการเรียนรู้จากการฝึกอบรม (Training)

เริ่มจากการเรียนรู้จากประสบการณ์ซึ่งเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดก่อน บริษัทจะต้องปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้แบบ Learning Agility โดยให้ความสำคัญไปที่เป้าหมายด้านประสบการณ์ และมุมมองในการทำงาน ซึ่งเป็นการให้พนักงานเรียนรู้จากงานที่ตนทำ เรียนรู้ข้อผิดพลาด และทำจนเกิดความชำนาญ

ทั้งนี้การให้พนักงานเรียนรู้ด้วยตัวของพวกเขาเองนั้นไม่เพียงพอที่จะประสบความสำเร็จได้ เพราะพวกเขายังขาดผู้ที่จะเสริมจุดแข็ง ปกปิดจุดอ่อนในตัวพวกเขา นั่นก็อีก 20% ต่อมานั่นเอง

การเรียนรู้ทางสังคมจะใช้โค้ชหรือผู้ให้คำแนะนำเป็นตัวเร่งสร้าง Learning Agility ในตัวพนักงาน ซึ่งทางบริษัทจะต้องหาโค้ชที่สามารถแนะนำพนักงานได้มีประสิทธิภาพ โดยโค้ชอาจไม่ใช่แค่หัวหน้างานที่คอยให้ฟีดแบ็กแก่พนักงานโดยตรง แม้แต่เพื่อนร่วมงานเองหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับสายงานนั้นๆ ก็สามารถเป็นโค้ชได้ เพราะ 20% นี้เป็นการเรียนรู้จากคนรอบข้างนั่นเอง

สุดท้ายคือ การฝึกอบรม 10% บริษัทจะต้องจัดหาคอร์สอบรม การเรียนรู้แบบออนไลน์หรือเวิร์กช็อปที่ช่วยพัฒนาทักษะ ความรู้และความสามารถให้พนักงาน ซึ่งนี่จะช่วยพัฒนาให้พนักงานทุกระดับเกิดการเรียนรู้ Learning Agility ได้แข็งแกร่งมากขึ้น

หลายๆ บริษัทชั้นนำเองก็นำอัตราส่วนโมเดลการพัฒนานี้ไปใช้กับพนักงานของตน เช่น Eric Schmidt อดีต CEO ของ Google ต้องการให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ เขาจึงให้พนักงานแบ่งเวลา 70% ให้กับงานหลัก อีก 20% คืองานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และอีก 10%ของเวลาคือ โปรเจกต์อื่นๆ

จะเห็นได้ว่า การรีสกิลอาจไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้ที่เป็นพนักงานแต่เพียงผู้เดียว แต่รวมไปถึงระดับบริษัทที่ต้องใส่ใจต่อความเปลี่ยนแปลง และคอยปรับปรุงวัฒนธรรมบริษัทให้ก้าวหน้าเท่าทันยุค 4.0 ซึ่งหากใครยังเมินเฉยต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ อาจจะเอ้าต์ (Out) โดยไม่รู้ตัว!

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
– เมื่อการ Reskill ไม่ง่ายอย่างที่คิด! เข้าใจ 5 ความท้าทายขององค์กร ถ้าอยากพัฒนาพนักงานให้สำเร็จ
– 8 ทักษะใหม่ที่ควรรู้ หากอยากทำงานให้รอดในโลกอนาคต


อ้างอิง:
https://bit.ly/3qAhLIs
https://bit.ly/3FwInQZ
https://bit.ly/32vwtsl
https://bit.ly/3pyc3Yu
https://bit.ly/32LSkeO

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#reskill

 

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่