เราทุกคนมีส่วนร่วมในอนาคตของโลกใบนี้

4605
เรากำลังส่งมอบโลกที่ดีให้กับลูกหลานของเราอยู่หรือเปล่า | รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • หากมองในภาพรวมโลก จะสามารถสรุปได้ว่าโลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่การเติบโตทั้งหมดมีผลกระทบที่ตามมาด้วย เช่น สองประเด็นหลักคือ เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียม
  • วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำให้เราสามารถพัฒนาโลกในขณะที่ทำเงินได้ด้วย แต่ก็ทำให้มนุษย์มีความเสี่ยงต่ออัตราการว่างงานสูงขึ้นทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและยังไม่พัฒนา
  • สองสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงขณะที่กำลังพัฒนาคือ ความคิดที่ว่าเราต้องหยุดสร้างนวัตกรรม และความคิดที่ว่ากฎระเบียบที่มีอยู่ทุกวันนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้

ในทุกวันนี้เราทุกคนตื่นตัวมากกับสิ่งที่เราคาดการณ์กันว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่หากจะถามผมว่า ถ้ามีใครสักคนนึงที่ผมอยากฟังความเห็นในเรื่องของอนาคตระดับมหภาคมากที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้น อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เพราะเขาน่าจะเป็นคนที่มอบมุมมองที่เราทุกคนต้องฟัง คิดตาม และตั้งคำถามกับตัวเองได้ดีที่สุดคนหนึ่งบนโลกใบนี้เลย

ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตไม่นานมานี้ เราจะพบว่าเทคโนโลยีมีส่วนในการพัฒนาสังคม ประเทศ และโลกของเราอย่างมาก โดยส่วนใหญ่การพัฒนาเหล่านั้นก็เป็นเรื่องที่ดี เราเห็นการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการค้า ตัวเลขของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น และตัวเลขของคนยากจนที่ลดลง ซึ่งหมายความว่าสภาวะความเป็นอยู่ของคนโดยส่วนใหญ่บนโลกใบนี้นั้นดีขึ้น

รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของอายุขัยเฉลี่ย การลดลงของอัตราการตายของเด็ก อัตราการรู้หนังสือที่สูงขึ้น ถ้ามองในภาพของโลกโดยรวม เราพอจะสรุปได้ว่าโลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

Advertisements

“แต่”

การเติบโตทั้งหมดนี้มีผลกระทบตามมาด้วยเช่นกัน ซึ่งเขาอยากจะพูดในสองประเด็นหลัก

1. เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง บวกกับเหตุการณ์อื่นๆ เช่น การขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ การเพิ่มขึ้นของประชากร เหตุเหล่านี้เป็นภัยคุกคามสูงสุดของมนุษยชาติที่เรากำลังเจออยู่ในวันนี้ เราเห็นภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยขึ้นและรุนแรงมากขึ้น

2. การเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียม 

วันนี้ 8 เศรษฐีของคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลกมีทรัพย์สินรวมกันเท่ากับคน 50% ที่ยากจนที่สุดของโลกประมาณ 3,800 ล้านคนรวมกัน และในวันที่ข่าวสารสามารถเดินทางถึงกันได้ทั่วโลกแล้ว จึงไม่แปลกที่มีคนจำนวนมากรู้สึกถูกแบ่งแยก โกรธ และเป็นที่มาของความไม่มั่นคง ความขัดแย้ง และทำให้คนจำนวนมากไม่เชื่อถือสถาบัน รัฐบาล หรือ แม้แต่ผู้คนจำนวนมากก็ไม่เชื่อถือสหประชาชาติเช่นกัน

ซึ่งนั้นหมายความว่าโลกาภิวัตน์และการพัฒนาของเทคโนโลยีนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่เราต้องคอยตื่นตัวและคอยระวังผลกระทบที่จะตามมาอยู่เสมอ

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ อันโตนิโอเชื่อว่าเรามีทางออกทั้งเรื่องของสภาพอากาศ และเรื่องของความไม่เท่าเทียมกัน

อย่างเช่น ข้อตกลงปารีสเพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Paris agreement in climate change) เป็นต้น หรือหลายประเทศแผนการพัฒนาประเทศที่เรียกว่า โลกาภิวัตน์ที่เป็นธรรม (fair globalization) หรือการเติบโตอย่างครอบคลุม (inclusive development) และเป็นแผนการแบบที่ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง (left no one behind)

แต่ปัญหาอยู่ที่การลงมือทำจริงต่างหาก 

ดังนั้น เราจะต้องโฟกัสพลังงานมาที่การรวบรวมความสามารถทั้งจาก ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลาดการเงิน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อจะทำสิ่งต่างๆที่จำเป็น เพื่อคน “ทุกคน” 


ข่าวดีก็คือวิทยาศาสตร์เป็นเพื่อนที่อยู่ข้างเรา 

ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี สีเขียว (green technology) ซึ่งจะเข้ามาช่วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโดยตรงนั้นเป็นธุรกิจที่ดีที่มีอนาคต

นั่นหมายความว่า ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะทำให้พวกเราสามารถพัฒนาโลกในขณะที่หาเงินได้ด้วย

หลักคิดนี้สามารถใช้ได้กับ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างเช่น AI ไบโอ เทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยี ฯลฯ เช่นกัน

Advertisements

เลขาธิการสหประชาชาติเชื่อว่า การปฏิวัตอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะเป็นคำตอบของปัญหาต่างๆที่เราเจออยู่ทุกวันนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศหรือเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันในสังคม หรือภาวะคุกคามต่างๆที่มนุษยชาติจะต้องเจอ

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะมีผลอย่างมหาศาลต่อวิถีชีวิตของเรา ลองมองดูตลาดแรงงานซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการดำรงอยู่ของมนุษย์ อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้คนขับรถยนต์ทุกประเภทตั้งแต่รถยนต์สาธารณะ รถขนส่ง รวมไปถึงคนบังคับเครื่องจักรต่างๆอาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป (เวย์โม่-waymo เพิ่งทดสอบรถยนต์ไร้คนขับแบบสมบูรณ์แบบ บนถนนสาธารณะ โดยไม่มีมนุษย์นั่งอยู่ที่ตำแหน่งคนขับ ในเมืองฟีนิกซ์ รัฐอาริโซน่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ดังนั้นเรื่อง รถขับเอง โดยส่วนตัวผมเชื่อว่ามาถึงเร็วกว่าที่คิดแน่นอนครับ)

ดังนั้นถ้ามองในมุมนี้เรามีความเสี่ยงต่ออัตราการว่างงานที่จะสูงขึ้นอย่างมหาศาลทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่ยังไม่พัฒนา

แต่คำตอบสำหรับเรื่องนี้แน่นอนมันไม่ใช่การหยุดพัฒนาเทคโนโลยี แต่คำตอบคือการปรับตัว และคาดการณ์ต่อเทรนด์ต่างๆเหล่านี้ เพื่อที่เราจะได้ตอบสนองเมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้มาถึงโดยไม่สายเกินไปเหมือนหลายครั้งที่เราทำมาในอดีต

นั่นหมายถึงการยกเครื่อง หรือปฏิวัติแนวคิดเรื่องการศึกษาและการพัฒนาคน ซึ่งการศึกษาที่เราพูดถึงที่จะรองรับอนาคต มันแตกต่างจากการศึกษาที่เราคุ้นเคยกันในวันนี้มาก มันไม่ใช่การศึกษาเพื่อที่จะรู้ว่าจะทำอะไรอย่างไร (not how to learn to do things) แต่เป็นการศึกษาเพื่อเพื่อให้รู้ว่าจะศึกษาอย่างไร (learn how to learn) เพราะว่าสิ่งที่เราทำวันนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกทำพรุ่งนี้แล้วก็ได้ ดังนั้นวิธีคิดเรื่องระบบการศึกษาของเราต้องถูกปฏิวัติ

เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน ต้องมานั่งทำงานร่วมกัน เอาเรื่องที่เราเคยหลีกเลี่ยงที่จะคุยกันขึ้นมาคุยกันและหาทางออก เพราะนี่เป็นวิธีเดียวที่เราจะสามารถเตรียมการเพื่อรับมือกับอนาคต และไม่ทำผิดพลาดเหมือนในอดีต ไม่สร้างผลกระทบขึ้นมาอีกเหมือนที่เราเคยทำผิดพลาดมาแล้วในอดีต

เลขาธิการสหประชาชาติบอกว่าตอนนี้ทุกภาคส่วนต้องเริ่มที่จะวิเคราะห์ สังเคราะห์ และแจกแจงแล้วว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นั้นจะมีผลอย่างไรต่อสังคมในอนาคตของเรา

แต่มีสองเรื่องใหญ่ที่เราต้องหลีกเลี่ยง ขณะที่เรากำลังเดินหน้าไป

1. ความคิดโง่ๆ

(ท่านเลขาใช้คำนี้จริงๆ) ที่บอกว่าเรามาหยุดสร้างนวัตกรรมกันเถอะ ที่มันเป็นความคิดที่โง่เพราะว่ามันเป็นไปไม่ได้ และมันยังทำให้เราเสียโอกาสในการตักตวงด้านบวกของนวัตกรรมอีกด้วย 

2. ความคิดที่ว่ากฎระเบียบหรือข้อกฎหมายที่เรามีอยู่ในวันนี้จะสามารถแก้ปัญหาได้

เพราะความจริงก็คือกฏระเบียบต่างๆเหล่านั้น ส่วนใหญ่บริหารจัดการโดยภาครัฐ ใช้เวลานาน ยุ่งเหยิง มองจากด้านเดียว และแน่นอนที่สุดว่ากฎระเบียบเหล่านั้นไม่สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆได้

หมายความว่าวิธีเดียวที่จะสร้างกฎข้อบังคับของโลกอนาคตได้ คือการเอาผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกคนมาพูดคุยกันเพื่อกำหนด “กรอบ” ที่เปิดกว้างสำหรับการพัฒนา เพื่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการคงไว้ซี่งการปกป้องสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของสังคม ด้วยเช่นกัน

รัฐบาลไม่สามารถทำคนเดียวได้ แม้แต่องค์กรอย่างสหประชาชาติก็ไม่สามารถทำเองได้ เรื่องนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

เพราะด้วยการรวมพลังของทุกภาคส่วน เราทุกคนจะสามารถใช้พลังของนวัตกรรมเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าสำหรับเรา “ทุกคน” ได้

ผมเชื่อเหมือนท่านเลขาธิการสหประชาชาตินะครับว่า อนาคตต่อจากนี้ไป มันอยู่ที่เราแล้วว่าพวกเราทุกคนอยากให้มันเป็นอย่างไร เพราะถ้ามันเกิดเรื่องแย่ๆขึ้น บางทีเราต้องหันกลับมามองตัวเองว่า “เป็นเพราะเราเองที่ไม่ได้ทำอะไรรึเปล่า”

การปั้น “พรุ่งนี้” ขึ้นมา จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพวกเราใน “วันนี้” ครับ 

เหมือนอย่างที่ บ๊อบ ดีแลน เคยกล่าวไว้ครับว่า
“A hero is someone who understands the responsibility that comes with his freedom”

ฮีโร่คือคนที่เข้าใจในความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับอิสรภาพของเขา<span class="su-quote-cite">บ๊อบ ดีแลน</span>

ความท้าทายและโอกาสที่โลกกำลังเผชิญ: อันโตนิโอ กูเตอร์เรส, เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ที่งาน เว็บ ซัมมิต 2017
The challenges and opportunity facing the world : António Guterres, the Secretary-General of the United Nations at web summit 2017

Advertisements