We are a team, not a family ทีมที่ดีคือ การทำงานแบบทีม

2670
ผมคิดว่ามันเป็นหนึ่งในความเชื่อพื้นฐานของการสร้างและบริหารองค์กรเลยครับ ถ้าเราตั้งคำถามว่าบริษัทของเราทำงานอย่างไร? คำตอบที่เรามักได้ยินคือ
 
“เราทำงานแบบเป็น “ครอบครัว พี่น้อง” กับ “เราทำงานกันเป็นทีม เป็นมืออาชีพ”
 
จริงๆ ยังมีคำตอบแบบอื่นอีกมากนะครับ เช่น เราทำงานแบบเพื่อนกัน, เราทำงานกันแบบนักวิ่ง, เราทำงานกันแบบสิงโตออกล่าเหยื่อ และอื่นๆ อีกมากมาย
 
ผมขอเขียนถึงสองคำตอบที่ผมได้ยินเยอะที่สุดคือ คำตอบว่า “ครอบครัว” กับ “ทีม” ละกันครับ
 
การทำงานแบบครอบครัวนั้นมีข้อดีหลายอย่างเช่น การถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน, ความพยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ฯลฯ
 
แต่ก็มีข้อไม่ดีเยอะเหมือนกัน เช่น ความไม่ชัดเจน ความเกรงใจกัน และความที่เป็น “ครอบครัว” ถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ เราคงไม่ตัดญาติขาดมิตรกัน ถ้าเราคิดว่าคนนี้เป็นพี่น้อง ทำงานไม่ดียังไงก็คงหาทางพยายามลากกันไปเรื่อยๆ
 
ข้อเน้นแบบขีดเส้นใต้สองเส้นเลยนะครับว่า “กิจการครอบครัว” กับ “การบริหารงานแบบครอบครัว” เป็นคนละเรื่องกันนะครับ บริษัทครอบครัวก็บริหารงานทีมแบบมืออาชีพได้ ในขณะเดียวกันธุรกิจที่ผู้ก่อตั้งไม่ได้เป็นญาติกันแต่บริหารแบบครอบครัวก็เป็นไปได้เหมือนกัน
 
ในขณะที่ทีมกีฬามืออาชีพ (Professional sports team) นั้นโค้ชหรือผู้จัดการทีมมีหน้าที่เลือกผู้เล่นที่ดีที่สุดของทีมในตอนนั้นเพื่อลงเล่นในแต่ละตำแหน่ง
 
คำว่าดีที่สุดในตอนนั้นหมายถึงทุกมิตินะครับ ไม่ว่าจะเป็นความฟิต ความสามารถส่วนบุคคล หรือทัศนคติ
 
เพราะบางทีคนที่เก่งมากๆ อาจจะฉายแววไม่ออก ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับตัวเองก็จะกลายเป็นคนไม่เก่ง หรือเก่งได้ไม่เท่าค่าตัวไปก็มีเยอะครับ
 
หรือพวกที่เก่งแต่เกเร ไม่เล่นให้เข้ากับระบบของทีม ไร้วินัย ฯลฯ คนพวกนี้ก็ต้องถูกนั่งสำรอง หรือบางทีไม่มีชื่อติดเลยด้วยซ้ำ
 
ผมว่าเอาที่เราคุ้นเคยที่สุด ก็มีทีมฟุตบอลนี่แหละเห็นภาพชัดมาก
 
สมัย ท่านเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คุมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดตอนนั้น “ดาวดัง” หลายคนก็ไม่ได้ลงเล่นด้วยเหตุผที่กล่าวมาก็มีครับ
 
ผมเองไม่ได้เป็นคนดูบอล แต่เนื่องจากเพื่อนสนิทของผมเป็นแฟนพันธ์ุแท้ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็เลยพอจะได้ยินเรื่องราวต่างๆ มาบ้าง
 
อย่างกรณีของการซื้อสุดยอดซุปเปอร์สตาร์อย่าง ฮวน เซบาสเตียน เวรอน โคตรมิดฟิลด์ ทีมชาติอาเจนติน่า
 
ฤดูกาล 2000-2001 เวรอนย้ายมาร่วมทีมแมนยูจาก ลาซิโอด้วยค่าตัว 28.1 ล้านปอนด์ ซึ่งถือว่าเยอะมากๆ และแพงสุดในวงการพรีเมียร์ยุคนั้นเลย แต่ฟอร์มของเจ้าตัวกลับไม่ดี อาจจะเป็นเพราะว่าเกมของพรีเมียร์ ลีกนั้นรวดเร็วกว่าสมัยเขาเตะในอิตาลี
 
ในที่สุดลากกันต่อไปไม่ไหว ปี 2003 เวรอนก็ย้ายไปอยู่เชลซีด้วยค่าตัว 15 ล้านปอนด์ แม้แต่ที่สุดของกัปตันทีมคนนึงของแมนยูอย่าง รอย คีน เมื่อถึงวันหนึ่งที่ไม่เหมาะกับทีม โดยฟางเส้นสุดท้ายมาจากความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมทีมในปี 2005 จนเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย เรียกว่าเละตุ้มเป๊ะพอสมควร โดยอาจจะกล่าวได้ว่า ต้นเหตุส่วนใหญ่มาจากการปฏิบัติตัวของคีนกับเพื่อนร่วมทีม อย่าง เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ ริโอ เฟอร์ดินานด์ หรือ ดาร์เรน เฟล็ตเชอร์
 
ในที่สุดก็ลากกันไปต่อไม่ได้ ต้องแยกทางกันอยู่ดีครับ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ตัดสินใจยกเลิกสัญญากับรอย คีน กลางฤดูกาล ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดวิสัยมากๆ โดยเฉพาะกับตำแหน่งที่เกือบจะเหมือน “แตะต้องไม่ได้” อย่างรอย คีน
 
ข้อเสียของการเล่นก็มีครับ การโดนจับตาอยู่ตลอดเวลาบางครั้งก็สร้างความเครียดได้ และเมื่อทุกอย่างวัดจาก Performance นั่นหมายถึงถ้าเราทำได้ไม่ดี ความเสี่ยงในหน้าที่การงานก็จะตามมาทันที
 
ถ้าถามว่าการบริหารแบบไหนระหว่าง “ครอบครัว” และ “ทีมกีฬาอาชีพ” แบบไหนที่มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน ในเชิงขององค์กรทั้งในแง่ของการบริหารงานปกติและการสร้างนวัตกรรม
 
ส่วนตัวผมคิดว่าการบริหารแบบ “ทีม” นั้นน่าจะดีกว่าเยอะครับ โดยเฉพาะกับโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากขนาดนี้
 
เพราะถ้าเราบริหารแบบ “ครอบครัว” หลายครั้งด้วยความเกรงใจ ความผูกพัน คนที่ทำงานไม่ดี เราก็พยายามลากๆ กันไป ซึ่งแน่นอนว่าไม่ดีกับส่วนรวมแน่ๆ
 
ยิ่งถ้าเรานึกภาพทีมกีฬามืออาชีพ เราจะยิ่งเห็นภาพชัดเจนครับ
 
การบริหารทีมฟุตบอล ต้องเอาคนที่ดีที่สุด ณ ตอนนั้น ลงในทุกตำแหน่ง และที่สำคัญคือ ต่อให้เล่นบอลสวยงามยังไง ถ้ายิงประตูไม่ได้ ยังไงก็ไม่มีทางชนะ เพราะเกมมีกติกาวัดผลกันด้วยประตู
 
ในหนังสือเรื่อง No Rules Rules ของ Reed Hasting เขียนไว้ว่า การทำงานแบบทีมกีฬามืออาชีพ นั้นหมายถึง
 
– เพราะต้องการผลงานที่ดีเยี่ยม ทุกทีม ทุกตำแหน่งจะต้องใส่คนที่ดีที่สุดสำหรับเรา ณ เวลานั้นๆให้ได้
 
– ฝึกซ้อมเพื่อเอาชนะ เพราะสกอร์คือ ชัยชนะ
 
– พร้อมรับ Feedback แบบตรงไปตรงมาเพื่อพัฒนาเกมส์ตัวเองเสมอ ทั้งจากโค้ชและเพื่อนร่วมทีม
 
– เข้าใจว่าความพยายามอย่างเดียวไม่พอ แม้ว่าจะพยายามขนาดไหน แต่ถ้า Performance ไม่ได้ ยังไงก็ต้องถูกเปลี่ยนออก เพราะการจะชนะในเกมส์ เล่นสวยอย่างเดียวไม่พอ ต้องยิงประตูให้ได้ด้วย
 
– ในทีมกีฬาที่ดี ผู้เล่นต้องเล่นได้ยอดเยี่ยมในทุกตำแหน่ง เมื่อผู้เล่นเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ความเชื่อใจกันและกันก็จะตามมา ซึ่งเป็นพื้นฐานของสุดยอดทีม
 
การสร้างทีมที่ดีนั้นเป็นการทำอย่างต่อเนื่อง แบบค่อยเป็นค่อยไป ทำวันนี้จะเอาผลพรุ่งนี้เลยคงยากครับ
 
ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องถามตัวเองมากๆเลยคือ ถ้าเราเป็นหัวหน้าต้องถามว่า
วันนี้เราทำหน้าที่ผู้จัดการทีมดีรึยัง?
 
ถ้าเราเป็นลูกทีม ต้องถามว่า วันนี้เราเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุด ณ จุดที่อยู่และสถานที่อยู่แล้วหรือยัง?
 
เหมือนอย่างที่ Henry Ford เคยกล่าวไว้ว่า
 
“If everyone is moving forward together, then success takes care of itself.”
 
“ถ้าทุกคนเดินหน้าไปด้วยกัน ความสำเร็จก็จะมาถึงเอง”
 
Advertisements