เมื่อวันพุธที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ทางด้าน Wisesight ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอันดับหนึ่งในประเทศไทยและมีประสบการณ์ในด้านโซเชียลมีเดียมามากกว่า 15 ปี ได้มีการรายงานสถิติและวิเคราะห์เทรนด์การทำงานและเทรนด์โซเชียลในช่วงครึ่งปีแรกของ 2565 ซึ่งก็ได้พบกับข้อเท็จจริงและสถิติที่มีความน่าสนใจมากมาย
โดยสำหรับเทรนด์โซเชียลครึ่งปีแรกของปี 2565 นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ด้วยกันนั่นก็คือ
1. Spectrum of Attitude
จากการรวบรวมสถิติครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียได้แสดงให้ทุกคนได้เห็นว่า เป็นแพลตฟอร์มสาธารณะที่เต็มไปด้วยความคิดเห็นจากคนหลากหลายประเภทมาหลอมรวมกัน โดยมีทั้งความคิดเห็นที่ตรงกันและต่างกันเข้าปะทะกันมากมาย จนทำให้เกิดการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเผ็ดร้อน หรือที่เรียกว่า “ดราม่า” นั่นเอง
โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีดราม่าเกิดขึ้นทั้งสิ้น 760,000 ข้อความ และได้รับเอ็นเกจเมนต์รวม 187,000,000 เอ็นเกจเมนต์ โดย 8 เรื่องหลักที่ทำให้เกิดดราม่า ได้แก่
1. สิทธิส่วนบุคคล (Privacy)
2. ความเชื่อ (Belief)
3. ปัญหาสังคม (Social Issue)
4. คุณค่าชีวิต (Life Value)
5. เพศ (Gender)
6. เชื้อชาติ (Racism)
7. สิทธิมนุษยชน (Human Rights)
8. ความแตกต่างทางความคิดระหว่างหนุ่มสาวและผู้สูงอายุ (Generation Gap)
โดยทาง Wisesight ได้มีการแนะนำแบรนด์ต่างๆ ว่าถ้าหากต้องการหลีกเลี่ยงดราม่าเหล่านี้ ก็คือ มีหลักการที่ถูกต้อง มีความถ่อมตน เปิดใจรับฟังผู้บริโภค และไม่เอาตนเองเป็นที่ตั้งนั่นเอง
2. The norm is shifting
ข้อสังเกตจากผู้บริโภคในยุคนี้ก็คือ พวกเขากำลังเรียกร้องมาตรฐานใหม่ๆ จากแบรนด์มากขึ้น รวมถึงต้องการให้แบรนด์แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากช่วง Pride Month ที่ผ่านมา โดยผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจกับแบรนด์ที่ส่งเสริมเรื่อง LGBTQ+ อย่างยั่งยืนมากกว่าแบรนด์ที่เปลี่ยนโลโก้เป็นสีรุ้ง หรือจัดแคมเปญเดินขบวนเพียงอย่างเดียว (Rainbow Washing) ทำให้สิ่งที่สำคัญเลยคือ แบรนด์ต่างๆ ต้องแสดงความจริงใจอย่างสม่ำเสมอ และไม่ทำตามกระแส จึงจะสามารถมัดใจผู้บริโภคได้
3. Short, Fast, and Repeat
ด้วยความนิยมของแพลตฟอร์ม TikTok ทำให้กระแสวิดีโอขนาดสั้นกลับมาได้รับความนิยมแพร่หลายอีกครั้ง ซึ่งตัว TikTok เอง ก็เป็นแหล่งกำเนิดเทรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเต้น เพลง รวมถึง อาหารการกิน และการรีวิวมากมาย โดยมีข้อสังเกตก็คือช่วงเวลาที่คนให้ความสนใจเทรนด์นั้นลดลง ซึ่งถ้าดูวงจรชีวิตของกระแสไวรัลในปีก่อนๆ สามารถอยู่ในความสนใจของผู้คนได้เกือบหนึ่งสัปดาห์ แต่ในปัจจุบันเพียงแค่สองวันไวรัลเหล่านั้นก็หายไปแล้ว
ทางด้าน คุณพุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท รองผู้อำนวยการฝ่ายการบริการวิเคราะห์ข้อมูลของ Wisesight ได้กล่าวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่เกิดขึ้นเลย คาแรคเตอร์ของคนบนโลกโซเชียลก็ยังคงคล้ายคลึงกับปีก่อน ทำให้เรายังไม่เห็นอะไรใหม่ ผมขอเรียกยุคนี้ว่าเป็นยุค ‘Fast & Furious Consumer’ เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นไว และจบไวมาก แบรนด์จึงควรตั้งสติ และถามตัวเองอยู่เสมอว่าเทรนด์นี้เราควรเข้าไปข้องเกี่ยวด้วยหรือไม่ หรือเทรนด์นี้ส่งผลเสียหรือดีต่อภาพลักษณ์แบรนด์มากกว่ากัน เพราะการทำอะไรตามกระแสก็ไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป”
ส่วนด้านเทรนด์การทำงาน เสียงของคนบนโลกโซเชียลมากกว่า 64% คิดว่าการทำงานที่บ้านเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากสามารถจัดสรรเวลาการทำงานได้และทำให้เนื้องานที่ออกมามีประสิทธิภาพดีกว่า นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และมีเวลาที่เหลือทำกิจกรรมอื่นๆ กับคนในครอบครัวได้ แต่ในขณะเดียวกัน เสียงบนโซเชียลอีก 26% มองว่าการทำงานที่บ้านทำให้เสียสุขภาพกายและใจ เกิดความเครียดได้ง่าย พื้นที่แวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน รวมถึง เหงาและอยากเจอผู้คน
ดังนั้น หากกลุ่มคนบนโลกโซเชียลจะออกมาทำงานที่ออฟฟิศ ออฟฟิศแห่งนั้นจะต้องเป็น ‘ออฟฟิศที่อยู่แล้วสบายใจ’ มีการจัดการงานอย่างเป็นระบบ มีความเป็นมืออาชีพ มีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม เพื่อนร่วมงานเปิดใจรับฟังความคิดเห็นอย่างเข้าใจ ตัวงานมีคุณค่าและสนุกที่ได้ทำ
และด้วยเทรนด์การทำงานที่เปลี่ยนไปนี้ Wisesight ยังได้ทำการเปิดบ้านออฟฟิศใหม่ “BASE33” ที่มีความกว้าง 1,234 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าเป็นการต้อนรับเทรนด์การทำงานแบบใหม่หลังยุคโควิด ที่ได้ประยุกต์แนวคิดของ Hybrid Workplace และการทำงานแบบยืดหยุ่น ไม่ต้องนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลา 8 ชั่วโมง โดยพนักงานกว่า 200 คนนั้น สามารถยืน นั่ง และเดินไปทำงานตามจุดต่างๆ อย่างอิสระนั่นเอง
ที่มา: Wisesight
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#socialmediatrend
#wisesight