การเข้าซื้อกิจการใหม่ของ Elon Musk ในช่วงที่ผ่านมาทำให้พนักงาน Twitter หวั่นกลัว เพราะวัฒนธรรมเดิมๆ ของ Twitter ที่เคยมีอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ไม่ว่าใครก็ต้องเคยเห็นข่าว Elon Musk เตรียมเข้าซื้อ Twitter ในราคา 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.6 ล้านล้านบาท) ก่อนที่จะมีการยุติการเข้าซื้อในเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้ Twitter ฟ้อง Elon Musk และเหตุการณ์ทางกฎหมายก็ยื้อมาเป็นเวลาหลายเดือน จนเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Elon Musk ได้ยืนยันว่าจะเข้าซื้อกิจการในราคาเดิม (ปัจจุบันเข้าซื้อเรียบร้อยแล้ว) ทำให้พนักงาน Twitter ต่างเกิดความกังวลว่าเมื่อ Elon Musk เข้ามาแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องของวัฒนธรรมการทำงาน
ภาวะผู้นำแบบเผด็จการที่สวนทางกับความยืดหยุ่น
จากการเข้ามาของผู้นำองค์กรคนใหม่ พนักงานของ Twitter ต่างกังวลว่าวัฒนธรรมการทำงานแบบยืดหยุ่น (Flexible) และการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกคน (Inclusive) ของ Twitter จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากรูปแบบความเป็นผู้นำของ Elon Musk ที่ชอบเปลี่ยนใจอย่างรวดเร็ว
โดย Sophie Wade ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมในที่ทำงานและผู้เขียน Empathy Works ได้กล่าวไว้ว่า Elon Musk มีรูปแบบภาวะผู้นำที่เผด็จการและท้าทาย ซึ่งสวนทางกับวัฒนธรรมแบบเดิมของ Twitter ที่ค่อนข้างมีความเปิดกว้างและความยืดหยุ่นทางความคิด
แม้หลายคนจะมองว่า Elon Musk เป็นผู้บริหารด้านเทคโนโลยีที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนได้ แต่ Elon Musk มองตัวเองว่าเป็น Nano-manager หรือพูดง่ายๆ คือ หัวหน้าที่สนใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และชอบเข้าไปสังเกต ควบคุมการทำงานของพนักงานแบบใกล้ชิดมากๆ มากกว่าหัวหน้าทั่วไปที่เป็น Micro-manager ที่มีความละเอียดในการทำงานอยู่แล้วเสียอีก ส่งผลให้พนักงานของ Tesla รู้สึกว่าสิ่งนี้ทำให้คนในองค์กรหมดไฟเข้าขั้นรุนแรง
ผู้นำเปลี่ยนวัฒนธรรมเปลี่ยน?
เนื่องจาก Elon Musk ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำแบบเผด็จการซึ่งสวนทางกับวัฒนธรรมของ Twitter ที่มีอยู่ก่อนหน้า จนทำให้มีหลายคนรวมถึง Sophie Wade ออกมาคาดการณ์ถึงสิ่งที่มีโอกาสจะเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
1. สมดุลระหว่างงานกับชีวิตที่อาจหายไป
Jack Dorsey อดีตซีอีโอของ Twitter เคยกล่าวไว้ว่า การทำงานทั้งวันทั้งคืนและไม่เคยลาพักร้อนเลยเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้ว อีกทั้งยังกล่าวอีกว่าการทำงาน 20 ชั่วโมงต่อวันแบบ Elon Musk เป็นเรื่องไร้สาระ
นอกจากนี้ยังมีนักพัฒนาผู้ไม่ประสงค์ออกนามของ Twitter ออกมาบอกผ่าน Fortune ว่า Twitter เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่ดีที่สุด ตัวอย่างเช่น การไม่ส่งอีเมลที่เกี่ยวข้องกับงานตั้งแต่ 20.00 น. ไปจนถึงก่อน 9.00 น. เป็นต้น
และหนึ่งในสิ่งที่พนักงาน Twitter กลัวมากที่สุดคือ การที่ Elon Musk เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้กลายเป็นแบบ Tesla หรือที่หลายคนเรียกว่า “Tesla Life” ตัวอย่างการทำงานของ Tesla ที่อธิบายให้เห็นภาพได้ง่ายๆ คือ การสนับสนุนให้พนักงานให้ความสำคัญกับบริษัทก่อนสิ่งอื่นๆ การสร้างวัฒนธรรมการทำงานล่วงเวลา การทำให้การหมดไฟเป็นเรื่องธรรมดา และการสร้างวัฒนธรรมแห่งความกลัว เพราะ Elon Musk เคยระเบิดลงใส่พนักงานที่ไม่อยู่ในออฟฟิศหลัง 21.00 น. มาก่อน
2. นโยบายการทำงานจากที่บ้านอาจจะไม่มีอีกต่อไป
Twitter ขึ้นชื่อว่ามีนโยบายการทำงานแบบเปิดกว้าง และค่อนข้างยืดหยุ่นพอสมควร ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ Parag Agrawal อดีตซีอีโอของ Twitter เคยออกมาทวีตข้อความสนับสนุนการทำงานจากที่บ้านอย่างเต็มรูปแบบ
แต่เมื่อมองกลับมาที่ Elon Musk ที่ไม่เคยสนับสนุนการทำงานทางไกลมาก่อน อีกทั้งยังออกคำสั่งให้พนักงาน Tesla กลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศตั้งแต่เดือนมิถุนายนผ่านอีเมล โดยมีใจความว่า “พนักงาน Tesla ทุกคนจะต้องทำงานที่ออฟฟิศอย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้าใครไม่เข้าออฟฟิศจะถือว่าลาออก”
ในเรื่องร้ายยังมีเรื่องดีซ่อนอยู่
แม้ว่าคำสั่งของ Elon Musk ที่มีต่อ Tesla จะสวนทางกับวัฒนธรรมเดิมของ Twitter เป็นอย่างมาก แต่ Elon Musk ถือว่าเป็นบุคคลที่มี Entrepreneurship Mindset หรือแนวคิดแบบผู้ประกอบการสูง มีวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจของตนเอง และสามารถเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับเป้าหมายของตนเองได้อย่างเข้มแข็งจนกลายเป็นหนึ่งในผู้ประสบความสำเร็จอันดับต้นๆ ของโลก และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คนได้
อย่างการเข้าซื้อ Twitter ในช่วงที่ผ่านมา เขาก็ได้ออกมาบอกเหตุผลในการเข้าซื้อว่า เขาไม่ได้ซื้อเพื่อจะหาเงินให้กับตัวเองมากขึ้น แต่ซื้อเพื่อพยายามช่วยมนุษยชาติ และเชื่อว่า Twitter มีศักยภาพมากพอในการสร้างเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มรูปแบบ เพราะเขาเชื่อว่าเสรีภาพในการแสดงออกคือส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย
การที่ Elon Musk ขับเคลื่อนตัวเองและทีมด้วย “วิสัยทัศน์” ไม่ใช่ “เงิน” ทำให้เขามีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่นๆ และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พนักงาน Tesla บางคนยังอยู่กับ Elon Musk แม้ว่าอาจจะมีวัฒนธรรมแย่ๆ ไปบ้าง
สุดท้ายแล้วคงไม่มีใครรู้ได้ว่าจริงๆ แล้วอนาคตวัฒนธรรมการทำงานของ Twitter จะเป็นอย่างไรต่อไป จะถูกบังคับควบคุมมากขึ้น จะยืดหยุ่นขึ้น หรือจะสามารถสร้างสมดุลระหว่างทั้งสองฝั่งได้อย่างลงตัว ก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไป
แปลและเรียบเรียง
– Twitter staff enjoy a flexible work culture. Self-described nano-manager Elon Musk will change that : Sawdah Bhaimiya, Business Insider – https://bit.ly/3gUhpLH
– Elon Musk tells advertisers that Twitter cannot become ‘a free-for-all hellscape’ : Amanda Silberling, TechCrunch – https://tcrn.ch/3UcqlKB
#trend
#ElonMusk
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast