ไม่นานมานี้บนแพลตฟอร์มที่เติบโตอย่างรวดเร็วและครองใจวัยรุ่นยุคใหม่ไปอย่าง TikTok ได้เกิดกระแสการทำคลิป “แกล้ง” ที่น่าสะพรึงขึ้นมาช่วงหนึ่ง นั่นคือเทรนด์ที่เหล่าชายทั้งผู้ใหญ่และวัยรุ่นต่างทำคลิปแกล้ง ‘ฆาตกรรม’ แฟนสาวของตนเองด้วยวิธีต่างๆ เช่น เอาหมอนกดทับหน้าระหว่างแฟนสาวนอนอยู่บนโซฟา เป็นต้น
เทรนด์นี้ได้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและมีเหล่าผู้ชายจำนวนมากทำคลิปทำนองเดียวกันออกมามากมายจนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และผู้ที่ออกมาวิจารณ์จะเป็นฝ่ายใดไปไม่ได้นอกจากผู้หญิงที่โดนให้เล่นบทเหยื่อในเทรนด์นี้นั่นเอง
ทว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเทรนด์น่ากลัวเช่นนี้ออกมาเป็นกระแสบนโลกออนไลน์ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2021 ก็มีกระแสทำนองเดียวกัน นั่นคือกระแส “Imagine If We” (สมมติว่าพวกเรา…) ที่ผู้ชายจะออกมาแชร์ ‘จินตนาการ’ ที่มีต่อแฟนสาว ติดที่จินตนาการนั้นดันเป็นฉากฆาตกรรมระหว่างเดตมากกว่าจะเป็นจินตนาการสุดโรแมนติก
ตัวอย่างเช่น ข้อความบนวิดีโอ TikTok ของผู้ใช้งาน @matt_chuuuu ระบุว่า “สมมติว่าเราไปตกปลาด้วยกัน แล้วฉันก็ทิ้งเธอไว้กลางมหาสมุทร ยัดเธอไว้ในถุงขยะและโยนเธอลงไปในน้ำโดยบังเอิญ (หัวเราะ)” และเรื่องราวอีกมากมายจากผู้ใช้งานเพศชายหลายคน
เช่นเดียวกัน แม้คลิปวิดีโอจะถูกลบออกไปเพราะมีคนรายงานว่าละเมิดกฎชุมชน แต่ก็มีผู้หญิงจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์เทรนด์ดังกล่าว โดยหนึ่งในนั้นคือเบกาห์ เดย์ (Bekah Day) อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังผู้มีคนติดตามกว่าครึ่งล้านออกมาแสดงความเห็นว่า “เทรนด์นี้ไม่ตลก พวกนายไม่ตลกเลย ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่มุกตลก พวกนายมันป่วย”
นอกจากนี้ผู้ใช้งานไม่ระบุตัวตนได้ออกมาแสดงความเห็นที่แทนใจผู้หญิงทั้งหลายว่า “พวกเราก็จินตนาการเหมือนกัน ทุกครั้งที่ออกจากบ้านหรือเจอกับผู้ชาย พวกเราก็จินตนาการแล้ว แต่นอกจากมันจะไม่ใช่แค่จินตนาการ มันยังเป็นความกลัวที่มีสถิติรองรับอีกด้วย”
ทางโฆษก TikTok เองก็ออกมารับมือกับปัญหานี้อย่างเป็นทางการ แต่เทรนด์ฆ่าแฟนสาวที่กลับมาอีกครั้งในปี 2023 ก็แสดงให้เห็นว่าความรุนแรงต่อเพศหญิงยังคงไม่จางลงไปง่ายๆ
ท่ามกลางการถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็มีคอมเมนต์จำนวนไม่น้อยที่ออกมาโต้แย้งกลับว่าเรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นเพียง ‘จินตนาการที่ถูกแต่งขึ้น’ ไม่ใช่เรื่องจริงอย่างที่ฝ่ายหญิงกลัวกันไปเองแล้วออกมาตีโพยตีพาย ทว่าการที่ ‘ผู้หญิง’ ที่ตกเป็นเป้าในเทรนด์ครั้งนี้รู้สึกกลัวจนต้องออกมาพูดเป็นเพียงการเล่นใหญ่เท่านั้นหรือแท้จริงแล้วมันมีอะไรมากกว่านั้น
ผู้หญิงกลัวมากไปเอง หรือความกลัวนี้มีที่มาที่ไปจริงๆ ?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าความกลัวนี้มี ‘สถิติ’ มาให้ความชอบธรรม โดยรายงานจาก UN Women ร่วมกับ UNODC เปิดเผยว่าในปี 2021 มีผู้หญิงถึง 45,000 ทั่วโลกที่ถูกฆาตกรรมโดย ‘คนใกล้ชิด’ และสมาชิกในครอบครัว ซึ่งในรายงานยังให้คำจำกัดความไว้ว่า ‘คนใกล้ชิด’ ดังกล่าวนั้น หมายถึงพาร์ตเนอร์ แฟนปัจจุบัน แฟนเก่า คนที่เคยถูกปฏิเสธ สามีปัจจุบัน สามีเก่า
หรือสามารถกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าเฉลี่ยทุกๆ 1 ชั่วโมงจะมีผู้หญิงตายด้วยน้ำมือของคนที่เธอเชื่อใจ โดยในตัวเลขกว่าครึ่งแสนนี้ ภูมิภาคเอเชียมีส่วนแบ่งไปถึง 17,800 คดี เรียกว่าเป็นอันดับหนึ่งจากภูมิภาคทั้งหมด
นอกจากนี้รายงานยังเผยให้เห็นว่า ท่ามกลางอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด ผู้หญิงมีโอกาสถูกฆาตกรรมภายในบ้านถึง 56% เทียบกับผู้ชายที่มีโอกาส 11% เรียกได้ว่าโอกาสที่ผู้หญิงจะตกอยู่ในอันตรายแม้จะอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยที่สุดอย่างบ้านแล้วยังมีถึงครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว
แม้ว่าเทรนด์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่สถิติในไทยเองก็เผยให้เห็นตัวเลขที่น่าตกใจไม่แพ้กัน โดย ThaiPBS รายงานว่า จากผลการสำรวจพบผู้หญิงกว่า 75% เคยประสบความรุนแรงในครอบครัวมากกว่า 1 ครั้ง และ 87.4% ของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อไม่เคยขอความช่วยเหลือหรือปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ตัวเลขและสถิติเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดีที่แสดงให้เห็นว่าเทรนด์ที่สำหรับบางคนอาจจะเป็นเพียงมุกตลกขำๆ หรือเป็นเพียง ‘จินตนาการ’ นั้น แท้จริงแล้วกลับเป็นเรื่องจริงที่น่าหวั่นใจและน่าเกรงกลัวสำหรับผู้หญิงอีกจำนวนมาก ดังนั้นการไหลตามกระแสเทรนด์โดยไม่ไตร่ตรองอาจมีส่วนส่งเสริมให้ความรุนแรงเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนที่คุณรักก็เป็นได้
อาชญากรรมเจาะจงเพศสภาพนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
สาเหตุของอาชญากรรมทางเพศมีหลายประการ เช่น การเหมารวมบทบาททางเพศ การเลือกปฏิบัติกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง รวมไปถึงบรรทัดฐานสังคมที่ส่งเสริมหรือเมินเฉยต่อความรุนแรง เช่น การโทษเหยื่อ (Victim blaming) เป็นต้น
อย่างไรก็ตามต้นตอของปัญหานี้ซับซ้อนกว่าที่คิด และความซับซ้อนนี้ก็แตกแขนงออกไปตามความแตกต่างทางวัฒนธรรม สภาพสังคม และความพร้อมของหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ
โดยนักวิจัยหัวข้อ “Femicide, its causes and recent trends; What do we know?” ได้ให้ความเห็นไว้ว่า สาเหตุของอาชญากรรมทางเพศไม่ได้มีหนึ่งเดียว แต่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการทับซ้อนกัน โดยปัจจัยเสี่ยงนั้นแบ่งได้เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากระดับบุคคล ระหว่างบุคคล ชุมชน ไปจนถึงระดับสังคม
ถึงแม้ว่าสาเหตุจะซับซ้อนและต้องใช้เวลาอย่างมากกว่าจะปรับสภาพสังคมให้เป็นมิตรกับทุกเพศทุกวัยได้อย่างเท่าเทียม แต่ก้าวแรกที่สำคัญก่อนจะก้าวไปถึงเป้าหมายนั้นคือการยอมรับและตระหนักรู้ถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นเสียก่อน และร่วมกับผู้อื่นในสังคมเพื่อให้ทางออกให้กับปัญหาเรื้อรังนี้ในสักวันหนึ่ง
ที่มา
– Men are sharing sick fantasies of murdering women on TikTok : Hannah Sparks, New York Post – https://bit.ly/46q0yVK
– Five essential facts to know about femicide : UN Women – https://bit.ly/3F1ZYl4
– Survey shows 75% of Thai women experience domestic violence more than once : Thai PBS World – https://bit.ly/3F1iiLh
– Gender-related killings of women and girls (femicide/feminicide) : UN Women, UNODC – https://bit.ly/3PDATSn
– Femicide, its causes and recent trends; What do we know? : European Parliament – https://bit.ly/3PDXO06
#gender
#femicide
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast