หากใครเกิดระหว่างปี 1993-1998 (หรือในบางแหล่งอาจนับตั้งแต่ปี 1990-2000) ก็ต้องบอกว่าคุณอาจเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เรียกว่า “ซิลเลนเนียล” (Zillennials) คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นในช่วงที่โลกการทำงานเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต้องเผชิญกับสองวัฒนธรรมที่มีแนวคิดและค่านิยมแตกต่างกันสุดขั้ว ระหว่างมิลเลนเนียล (Millennials) ที่ให้ความสำคัญกับความสำเร็จในอาชีพ และเจนซี (Gen Z) ที่เน้นการมีชีวิตสมดุล
เคยรู้สึกแบบนี้ไหม? อยากทุ่มเทให้งานเต็มที่ แต่ก็กลัวจะพลาดช่วงเวลาดีๆ ของชีวิต อยากเป็นพนักงานดีเด่น แต่ก็ไม่อยากเครียดจนป่วย นี่คือความท้าทายที่ซิลเลนเนียลต้องเจอเมื่ออยู่กึ่งกลางระหว่างสองแนวคิดนี้
มาทำความเข้าใจความท้าทายของคนเกิดช่วงรอยต่อและข้อดีที่ซ่อนอยู่กัน!
ความสับสนระหว่างสองวัฒนธรรมการทำงาน
ซิลเลนเนียลเติบโตขึ้นมาพร้อมกับวัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ในด้านหนึ่ง คนกลุ่มนี้ได้รับอิทธิพลจากรุ่นพี่มิลเลนเนียล ซึ่งเชื่อในความสำเร็จที่มาจากการทำงานหนัก ความก้าวหน้า และความมุ่งมั่นเพื่อสร้างฐานะที่มั่นคงและความภาคภูมิใจในอาชีพการงาน ในอีกด้านหนึ่ง เจนซีที่เป็นรุ่นน้อง กลับมีแนวคิดว่า “งานก็แค่งาน” คนรุ่นนี้เห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตแบบสมดุล และไม่ยึดติดกับความสำเร็จทางอาชีพเป็นหลัก
“ไม่มีใครเคยพูดถึงเลยว่าการอยู่ระหว่างสองรุ่นนั้นมันยากขนาดไหน” ซามานธา ฮาร์ต วัย 28 ปี กล่าวในคลิปวิดีโอที่มียอดวิวกว่า 800,000 ครั้ง สะท้อนความรู้สึกของคนรุ่นนี้ที่ต้องพยายามปรับตัวและหาคำตอบว่า ควรจะทำงานอย่างไรให้เหมาะสมที่สุดในยุคที่โลกการทำงานกำลังเปลี่ยนแปลง
ซามานธา ฮาร์ต เล่าว่าเธอรู้สึกถูกดึงไปหลายทาง แม้ผลงานของเธอในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายสื่อสารจะออกมาดี แต่เธอก็ยังกังวลว่าทำได้ไม่ดีพอ แต่ในขณะเดียวกัน ตัวเธอเองก็รู้สึกผิดหวังกับระบบด้วย
ซิลเลนเนียลหลายคนก็รู้สึกเหมือนกันว่าตัวเองกำลังติดอยู่ระหว่างทางเลือกว่าจะเลิกงานตรงเวลาห้าโมงเย็นแล้วรู้สึกว่าตัวเองทำได้น้อยกว่าคนอื่น หรือจะทำงานล่วงเวลาทั้งที่ใจไม่อยากทำ
ความท้าทายของซิลเลนเนียล
นอกจากต้องปรับตัวกับวัฒนธรรมการทำงานที่ต่างกัน ซิลเลนเนียลหลายคนยังต้องเจอความท้าทายในการทำงานกับคนต่างรุ่น จิชนุ จายัน แนร์ วัย 29 ปี เล่าประสบการณ์จากร้านขายของชำที่เขาทำงานว่า “ผมต้องดูแลทีมที่เป็นเจนซี ขณะที่หัวหน้าผมเป็นมิลเลนเนียล การทำให้ทั้งสองกลุ่มที่มีมุมมองและความคาดหวังต่างกันทำงานร่วมกันได้ มันเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อยเลย”
อีกหนึ่งความท้าทายที่ซิลเลนเนียลเผชิญคือปัญหาทางการเงินและเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น หนี้บัตรเครดิต และความฝันในการมีบ้านเป็นของตัวเองที่ดูเหมือนจะไกลเกินเอื้อม สถานการณ์ทางการเงินเหล่านี้สร้างความกดดันให้กับชีวิตอย่างมาก
ข้อดีที่ซ่อนอยู่ของการเป็นซิลเลนเนียล
แม้การอยู่ระหว่างสองวัฒนธรรมการทำงานจะสร้างความสับสน แต่มีข้อดีที่น่าสนใจ อิลานา ซิฟโควิช ซีอีโอบริษัทที่ปรึกษา Werq มองว่าสิ่งที่ดูเหมือนความท้าทายของซิลเลนเนียล อาจกลับกลายเป็นจุดแข็ง เพราะคนกลุ่มนี้เข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ทุกรุ่น ทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้อง
“คนกลุ่มนี้เหมือนนินจาในออฟฟิศ ที่สามารถเชื่อมความเข้าใจระหว่างคนต่างรุ่นที่ปกติอาจจะเข้ากันได้ยาก” อิลานา ซิฟโควิช กล่าว
แม้การเป็นซิลเลนเนียลจะเหมือนติดอยู่ระหว่างสองยุคและสองแนวคิด แต่ความเข้าใจในทั้งสองฝั่งทำให้คนกลุ่มนี้มีมุมมองที่ไม่เหมือนใคร สามารถเข้าใจทั้งคุณค่าของการทำงานหนักและความสำคัญของการมีชีวิตที่สมดุล อาจกล่าวได้ว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่คนที่ติดอยู่ระหว่างสองยุค แต่เป็นสะพานที่เชื่อมโลกเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน และนี่อาจเป็นสิ่งที่โลกการทำงานยุคใหม่ต้องการมากที่สุด
อ้างอิง
The struggle of being a workplace ‘zillennial,’ not knowing where you fit in : Lindsay Dodgson, Business Insider – https://bit.ly/4f2mZ7N
#worklife
#zillennial
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast