“ต่อว่าตัวเองเวลาทำอะไรผิดพลาด”
“รู้สึกว่าตัวเองต้องแบกรับความผิดพลาดไว้คนเดียว”
“ชอบวิจารณ์การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ของตัวเอง”
คุณกำลังโทษตัวเองแบบนี้อยู่หรือไม่? ถ้า “ใช่” ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติกับตัวเองใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่รักความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) เพราะมีแนวโน้มที่จะใจร้ายกับตัวเองมากกว่าคนอื่นๆ
ซึ่งการโทษตัวเอง (Self-Blame) ในที่นี้คือ การมองว่าทุกปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนมาจากตัวเราเอง ซึ่งก็ถือเป็นวิธีในการรับมือกับความท้าทายในชีวิตอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่ดีเท่าไหร่นัก เพราะการโทษตัวเองมีความเกี่ยวข้องกับการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำและยังมีความเกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้าด้วย
ไม่เพียงแค่นั้น บางคนนอกจากจะโทษตัวเองแล้ว บางครั้งก็ถึงขั้น “ลงโทษตัวเอง” ด้านกายภาพด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการงดน้ำงดขนม ทำร้ายร่างกายตัวเอง หรือการทุ่มเวลากับงานมากจนเกินความพอดี
แต่การลงโทษตัวเองแบบนี้มันช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นจริงไหม?
Katherine Morgan Schafler นักจิตบำบัดและผู้เขียนหนังสือ The Perfectionist’s Guide to Losing Control ได้บอกผ่านหนังสือไว้ว่า “การลงโทษนั้นไม่ได้ผล เพราะเมื่อเราลงโทษใครสักคนหนึ่ง เขาจะไม่ได้เรียนรู้วิธีเปลี่ยนแปลงนิสัยนั้นๆ แต่เขาจะเรียนรู้วิธีในการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้โดนลงโทษแทน สุดท้ายแล้วการลงโทษตัวเองจึงไม่ได้ช่วยให้เราเติบโตขึ้นได้จริงๆ
นอกจากนี้แล้ว บางคนยังคิดว่าการลงโทษนั้นคือ ความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ และคือสิ่งที่ทำให้เราดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะว่าการลงโทษนั้นเป็นการควบคุมและกีดกันพฤติกรรมเชิงลบ ซึ่งสามารถสร้างความเจ็บปวดให้กับตัวเราได้ แต่ “ความมีระเบียบวินัย” นั้นเป็นการส่งเสริมโครงสร้างที่ดีให้กับตัวเราเอง เพื่อเพิ่มพฤติกรรมเชิงบวก
ส่วนในเรื่องของความรับผิดชอบ ก็ต้องบอกว่า “ความรับผิดชอบ” คือการยอมรับความผิดพลาดของตัวเองและพยายามหาทางเพื่อแก้ไขปัญหานั้นต่อไป เช่น การขอโทษคนที่เราทำไม่ดีด้วยและให้คำสัญญาว่าจะปรับปรุงและพัฒนาตัวเองต่อไป แต่เมื่อมองมาที่การลงโทษแล้ว จะเห็นได้ว่าสิ่งนี้ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น เพราะเราจะทำได้แค่โทษตัวเอง ซึ่ง Schafler ก็ได้ให้ความเห็นไว้ว่า การลงโทษนั้นก็คือความขี้เกียจดีๆ นี่เอง
แล้วการลงโทษยังทำให้เราเสียขวัญกำลังใจและลดทอนความมั่นใจลงอีกด้วย ซึ่งมันจะตรงกันข้ามกับคำว่า “ฟื้นฟู” หรือ “Rehabilitation” ที่ช่วยสร้างความมั่นคงและสร้างความมั่นใจในตัวเอง เพราะการฟื้นฟูนั้นเน้นไปที่การพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม
The Broaden and Build Theory : ทฤษฎีจิตวิทยาว่าด้วยการมีอารมณ์เชิงบวก
ถ้าไม่ลงโทษตัวเองแล้วเราควรทำอย่างไรเมื่อทำอะไรผิดพลาด? Schafler กล่าวว่า การฝึกเห็นอกเห็นใจตัวเอง (Self-Compassion) ได้ผลดีกว่าการลงโทษตัวเอง โดยเธออ้างถึง The Broaden and Build Theory เป็นทฤษฎีจิตวิทยาเชิงบวกที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Barbara Fredrickson ในปี 1998
ซึ่งทฤษฎีนี้ได้อธิบายไว้ว่า ถ้าเรามีอารมณ์ที่ดี เราก็มีแนวโน้มที่จะเปิดใจและเปิดกว้างต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้น แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีอารมณ์หรือความคิดเชิงลบ มุมมองความคิดของเราก็จะแคบลงตามไปด้วย
หากใครอยากมีมุมมองต่อเรื่องต่างๆ ที่ดีขึ้นก็อย่าลืมที่จะฝึกเห็นอกเห็นใจตัวเอง เพราะงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าความเห็นอกเห็นใจนั้นมีความสัมพันธ์กับความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองที่มากขึ้น รับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น มีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลน้อยลง รวมถึงเพิ่มแรงจูงใจในการแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ มากขึ้นด้วย
สุดท้ายแล้วถ้าเราเรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจตัวเองเป็น เราก็จะสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดและเติบโตในแบบฉบับที่ดียิ่งขึ้นได้นั่นเอง
อ้างอิง
– This positive psychology theory will help you learn from your mistakes: ‘Punishment doesn’t work’ : Aditi Shrikant, CNBC – http://bit.ly/3RSp4bU
– How Self-Blame Can Harm You : Sabrina Sourjah, Wholesome Pathway – https://bit.ly/3jMXznz
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast