เมื่อพูดถึง ‘วันวาเลนไทน์’ นอกจากคนส่วนใหญ่จะนึกถึงหัวใจสีแดง ดอกกุหลาบ หรือช็อกโกแลตแล้ว ‘คู่รัก’ ก็คงจะเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ขาดไปไม่ได้ จนอาจทำให้ใครหลายคนคิดอยากมีคนรักเดินข้างๆ ต้อนรับวันแห่งความรัก
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สำหรับคนโสดบางคนที่ยังไม่พบคนที่ใช่นั้น วันวาเลนไทน์ก็อาจกลายเป็นอีกหนึ่งวันที่ท้าทาย ที่สามารถก่อให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว หรือด้อยค่าในตัวเองเมื่ออยู่ท่ามกลางการเฉลิมฉลองของบรรดาคู่รักได้
ยิ่งไปกว่านั้น กับคนที่เคยอกหัก สูญเสียความสัมพันธ์ หรือพบเจอประสบการณ์แย่ๆ เกี่ยวกับความรักในอดีตมา วันแห่งความรักก็อาจเป็นเครื่องเตือนใจที่มีแต่จะทำให้รู้สึกเศร้า เหงา หรือเสียใจมากขึ้นได้ ซึ่งทั้งอาการเศร้า เหงา โดดเดี่ยว หรือแปลกแยกนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Valentine’s Day Blues’ นั่นเอง
โดยจากการให้สัมภาษณ์ของ ‘เมสัน ฟาร์มานี (Mason Farmani)’ ไลฟ์โค้ชผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพจิต ‘HOPE Integrative Psychiatry’ ต่อนิตยสาร Sustain Health พบว่า สาเหตุของอาการ Valentine’s Day Blues เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยที่ต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล
สาเหตุของอาการเศร้าในวันวาเลนไทน์
นอกจาก Valentine’s Day Blues จะเกิดขึ้นได้จากปัญหาความสัมพันธ์ เช่น อกหัก ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว การไม่มีคนที่รักอยู่ข้างกายก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกขาดแคลน เช่น ขาดความผูกพัน และขาดการเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ ในสังคมได้ เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เข้าพวก แนวโน้มที่จะนำไปสู่การปลีกวิเวกหรือแยกตัวก็จะเพิ่มขึ้นตามมมา ก่อเกิดเป็นความโดดเดี่ยวและความเหงา จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตในรูปแบบของความเศร้าในวันวาเลนไทน์
ยิ่งเห็นคนอื่นที่อยู่ในความสัมพันธ์ดีๆ โดยเฉพาะจากสื่อโซเชียลมีเดีย การเปรียบเทียบตัวเองที่อาจเกิดขึ้นได้จากความอิจฉานั้น ก็อาจนำไปสู่การด้อยค่า หรือตั้งคำถามต่อคุณค่าในตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น ทำไมความสัมพันธ์กับคู่ของตัวเองถึงไม่ราบรื่นเหมือนคนอื่น ทำไมตัวเองถึงไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ให้คงอยู่ต่อไปได้ ไปจนถึงตัวเองตัวเองอาจไม่ดีพอที่คนอื่นจะหันมามอบความรัก เป็นต้น
อีกทั้ง แรงกดดันที่อยากจะสร้างวันแห่งความรักให้กลายเป็นวันที่โรแมนติกและสมบูรณ์แบบ ประกอบกับความคาดหวังที่มากเกินไป เช่น คาดหวังว่าจะได้เลื่อนขั้นสถานะกับคนที่กำลังพูดคุยดูใจกันอยู่ก่อนวันวาเลนไทน์ แต่ทุกอย่างกลับไม่เป็นไปตามที่หวังนั้น ก็อาจนำไปสู่ความเครียดและหดหู่ใจ จนกลายเป็นอาการเศร้าในวันวาเลนไทน์หรือ Valentine’s Day Blues นั่นเอง
รับมืออย่างไร เมื่อมีอาการ Valentine’s Day Blues
แม้การรับมือกับความเศร้าในวันวาเลนไทน์จะแลดูเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับคนโสดหรือคนที่เพิ่งผิดหวังจากความสัมพันธ์มา แต่ฟาร์มานีแนะนำว่า วิธีที่จะช่วยให้เรารับมือกับอาการเศร้าในวันวาเลนไทน์นั้นอาจทำได้ดังต่อไปนี้
1. รับรู้และยอมรับอารมณ์และความรู้สึกด้านลบของตนเอง
ไม่ว่าจะเป็นความเศร้าหรือความเหงาที่กำลังเผชิญอยู่ โดยไม่เก็บซ่อนหรือปิดกั้นด้วยการบอกว่าไม่เป็นไรหรือไม่รู้สึกอะไร เพราะการเก็บกลั้นความรู้สึกไว้มีแต่จะเพิ่มความเจ็บปวด ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตมากขึ้น ดังนั้น การยอมรับความรู้สึกเหล่านั้นจะถือเป็นการเมตตาตัวเองรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการเยียวยาอาการเศร้าในวันวาเลนไทน์อย่างมีประสิทธิภาพ
2. หลีกเลี่ยงการเสพสื่อหรือพูดคุยในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง
เพราะความเศร้าจะหายไปไม่ได้เลยหากยังหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นความรู้สึกไม่ได้ ดังนั้น การหยุดเสพสื่อ หยุดดูเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวันวาเลนไทน์ชั่วคราว หรือจำกัดเวลาในการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย พร้อมกับหันไปดูแลตัวเองให้ผ่อนคลายหรือทำงานอดิเรกที่ชอบ ก็จะสามารถช่วยเบี่ยงเบนความสนใจและบรรเทาความรุนแรงของความเศร้าได้
3. ขอความช่วยเหลือบ้าง ถ้ารับมือกับความเศร้าด้วยตัวเองไม่ไหว
เช่น ติดต่อเพื่อน สมาชิกในครอบครัว หรือคนที่ไว้ใจ เพื่อพูดคุย เล่า หรือระบายความรู้สึกที่กำลังเผชิญอยู่ให้ฟัง ก็สามารถช่วยจุดประกายมุมมองใหม่ๆ และทำให้รู้สึกผ่อนคลายสบายใจขึ้นได้เช่นกัน
แม้วันวาเลนไทน์จะทำให้ใครหลายคนเป็นสุข แต่ก็อาจทำให้ใครบางคนเป็นทุกข์ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทุกคนควรระลึกไว้เสมอว่า วันวาเลนไทน์ไม่จำเป็นต้องเป็นวันแห่งความรักในเชิงชู้สาวเท่านั้น เพราะเราสามารถกำหนดความหมายและเฉลิมฉลองความรักทุกรูปแบบในวันนี้ได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นความรักที่มีต่อเพื่อน ครอบครัว สัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่ความรักที่มีต่อตัวเอง
อ้างอิง
– What Causes the Valentine’s Day Blues? : David Saunders, Sustain Health – https://bit.ly/4hQInxX
#trend
#psychology
#relationships
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast