ทุกวันนี้ใครหลายคนอาจรู้สึกว่าเรากำลังอยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาด AI เห็นได้จากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และการที่บริษัทต่างๆ พากันแข่งขันออกผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี AI ตัวใหม่ล่าสุดของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม งานสำรวจล่าสุดที่เพิ่งออกมาไม่นานก็ได้เผยให้เห็นข้อมูลใหม่ที่น่าตกใจว่า กลุ่มธุรกิจและผู้ผลิตอาจจะประเมินความนิยมของ AI ในกลุ่มผู้ใช้งานสูงเกินไป และมีคนเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ใช้ประโยชน์ หรือใช้ AI ทำงานเป็นประจำ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจกับ AI ขนาดนั้น
ทั้งที่โลกหมุนเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถขาด หรือตัดออกจากชีวิตไปได้อีกแล้ว แต่เมื่อเทียบกับการแข่งขันในตลาดแล้ว ทำไมคนใช้ AI จริงกลับมีน้อยมากกว่าที่คิด?
มีคนเพียง 2% เท่านั้นที่ใช้ AI ทำงานเป็นประจำ
แม้เราจะคิดว่าการแข่งขันในโลกธุรกิจ AI นั้นช่างดุเดือดฟาดฟันกันเหลือเกิน แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันว่าสิ่งที่เราคิดนั้นอาจจะเกิดจาก ‘โฆษณาเกินจริง’ ของบริษัทเหล่านั้น แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาสำนักข่าว BBC ก็ได้รายงานข้อมูลที่น่าตกใจจากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและสถาบันรอยเตอร์
โดยนักวิจัยได้สำรวจและถามคำถามกลุ่มเป้าหมาย 12,000 คนจาก 6 ประเทศได้แก่ อาร์เจนตินา เดนมาร์ก ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหรัฐฯ และอังกฤษ ผลการสำรวจพบว่ามีเพียง 2% ของกลุ่มสำรวจเท่านั้นที่ใช้ ChatGPT เป็นประจำ
นอกจากนี้ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกมากมาย ได้แก่ กลุ่มสำรวจที่มีอายุตั้งแต่ 18-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่น่าจะใช้ AI ในการทำงานมากที่สุดกลับไม่เคยใช้ ChatGPT ของ OpenAI หรือ Microsoft Copilot ในการทำงานเลย และมีคนที่ไม่เคยได้ยินชื่อของ ChatGPT มาก่อนสูงถึง 20-30% อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นจากการสำรวจของแพลตฟอร์ม YouGov ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับ AI เช่น ใช้ AI บ่อยแค่ไหน รู้จัก AI ของบริษัทไหนบ้าง แล้วเชื่อมั่นในความปลอดภัยของ AI มากแค่ไหน ผลการสำรวจและคำตอบจากกลุ่มผู้ใช้งานใน 6 ประเทศยังทำให้พบว่าคนทั่วไปไม่ได้มีความสนใจ หรือให้ความสำคัญกับ AI มากขนาดนั้น
ดร.ริชาร์ด เฟลตเชอร์ ซึ่งเป็นผู้วิจัยหลักในการสำรวจชิ้นนี้กล่าวว่า ความจริงแล้วเราต้องแบ่ง AI ออกเป็น 2 ประเภท คือ AI ทั่วไปกับ Generative AI ซึ่งมีความสามารถในการตอบสนองได้เหมือนกับมนุษย์ เช่น ChatGPT หรือแชตบอตต่างๆ ที่สามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะด้วยข้อความ รูปภาพ วิดีโอ หรือเสียง ซึ่งการสำรวจนี้เน้นไปที่ความเห็นของสาธารณะที่มีต่อ Generative AI เป็นหลัก
โดย AI ทั่วไป ที่ช่วยย่นระยะเวลาการทำงาน และอำนวยความสะดวกให้การทำงานง่ายขึ้น เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล หรือการประมูลผลตัวเลขจำนวนมากนั้นได้รับการตอบรับเชิงบวกจากผู้คนมากกว่า Generative AI โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานสายผลิต เช่น การเขียน งานกราฟิก หรืองานสร้างสรรค์ และการทำงานของ AI สร้างความไม่สบายใจอย่างมากให้กับนักสร้างสรรค์สายผลิตยุคใหม่บางส่วนเช่นกัน
แม้แต่คนรุ่นใหม่ก็มีพฤติกรรมที่สวนทางกับเทรนด์ของ AI
ดร.เฟลตเชอร์ กล่าวกับสำนักข่าว BBC ว่าที่ผลเป็นอย่างนี้ก็เพราะกระแสความนิยมในผลิตภัณฑ์ AI ไม่ตรงกับผลประโยชน์ส่วนรวม (Public Interests) หรือความต้องการที่แท้จริงของผู้คนในสังคมนั่นเอง เนื่องจากเมื่อพูดถึง AI ก็จะมีประเด็นความคิดเห็นที่หลากหลายทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เช่น
คนที่มอง AI ในแง่ดีก็จะเชื่อว่า AI อาจเป็นประตูสู่โลกใหม่ และช่วยพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ได้ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ หรือทางเลือกใหม่ทางการแพทย์ ส่วนคนที่มอง AI ในแง่ลบ และกังวลต่อภัยคุกคาม และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความมั่นคงของอาชีพการงาน ไปจนถึงความปลอดภัยในข้อมูลส่วนบุคคล และความมั่นคงของสังคมด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจกลุ่มเป้าหมายใน 6 ประเทศพบว่า 58% ของคนวัย 18-24 ปีเคยใช้ ChatGPT อย่างน้อยหนึ่งครั้ง ในขณะที่อัตราส่วนของกลุ่มเป้าหมายอายุประมาณ 55 ปีที่เคยใช้ ChatGPT มีเพียง 16% เท่านั้น ซึ่งไม่น่าแปลกใจเท่าไรที่คนหนุ่มสาวจะเปิดรับและมีความคิดเห็นเชิงบวกกับ Generative AI มากกว่ากลุ่มคนทำงานในช่วงอายุอื่น
ยิ่งไปกว่านั้น ความคาดหวังต่อ AI ยังขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์อีกด้วย โดยในกลุ่มคนที่อายุน้อยดูเหมือนจะคาดหวังให้ AI เปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเองได้อย่างแท้จริง ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งคาดหวังว่า AI จะเปลี่ยนการเมือง การสื่อสารมวลชน วิทยาศาสตร์ และการดูแลสุขภาพ
แต่เมื่อต้องนำ Generative AI ไปใช้ในงานประเภทข่าวสาร การสื่อสารมวลชน หรืองานสร้างสรรค์อื่นๆ พบว่าพวกเขาจะระมัดระวังมากขึ้น และกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความมั่นคงในการทำงานด้วยเช่นกัน
เชื่อว่าประเด็นข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในเครื่องมือ AI จะยังคงหาข้อสรุปไมได้ในเร็ววันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม AI ได้กลายเป็นประตูสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในอนาคตด้วยเช่นกัน
ดังนั้น คำถามที่ว่า AI จะให้คุณหรือให้โทษกับหน้าที่การงาน หรือชีวิตของเรานั้นขึ้นอยู่กับว่าเราใช้งานมันอย่างไร เพื่อจุดประสงค์อะไร และคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมมาพอแล้วหรือยัง
อ้างอิง
– AI products like ChatGPT much hyped but not much used, study says : Tom Singleton, BBC – https://bbc.in/3wXbI84
– MOST PEOPLE COULDN’T GIVE A CRAP ABOUT USING AI, SURVEY FINDS : NOOR AL-SIBAI, Futurism – https://bit.ly/3V4zwz5
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast