‘ถูกแต่อันตราย ถูกแต่ไม่ได้มาตรฐาน’ เป็นหนึ่งในคำอธิบายสินค้าจีนที่กำลังรุกคืบเข้ามาในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดประเทศไทยอย่างกว้างขวาง เช่น ‘Mixue’ แบรนด์น้ำดื่มและไอศกรีมราคาถูกเริ่มต้นเพียง 15 บาท ที่ขยายสาขาอย่างรวดเร็วและกระจายครอบคลุมหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
การเติบโตของแบรนด์จีนในตลาดไทยสร้างความกังวลว่า เงินที่ไหลเวียนมหาศาลจากการประกอบการของ ‘นายทุนจีน’ จะสร้างความปั่นป่วนให้กับห่วงโซ่ธุรกิจของประเทศไทย คำถามมากมายอย่าง “ประเทศไทยได้อะไรในสมการนี้” หรือ “รัฐเอาแต่หนุนนักลงทุนจากธุรกิจจีน จนทอดทิ้ง SMEs ไทยอยู่หรือเปล่า?” เป็นต้น
ทว่าความสงสัยและคำวิจารณ์เหล่านี้เป็นข้อกังวลที่แท้จริง หรือจะเป็นเพียงวาทกรรมของกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น? วันนี้ Mission To The Moon จึงจะพาทุกคนถอยหลังหนึ่งก้าวเพื่อกลับไปมองภาพกว้างของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นไปพร้อมกัน
เปิดศึกเศรษฐกิจ ตลาดสหรัฐฯ VS ตลาดจีน
เมื่อ 12 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไบเดนแห่งสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยในยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ กำหนดให้ประเทศจีน โดยเฉพาะกรุงปักกิ่งถือเป็นศัตรูคู่แข่งขันระดับโลก พร้อมกันกับเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของประเทศรัสเซียที่นับว่าเป็น “ตัวอันตราย”
อย่างที่ทราบกันดีว่าข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีนจนนำไปสู่สงครามการค้าหรือ ‘Trade War’ นั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2561 และเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงการคว่ำบาตรประเทศรัสเซียจากสงครามยูเครนปะทุขึ้นมาพร้อมกันก็เป็นเหตุให้ทั้งสองประเทศต้องยกระดับการแข่งขันให้เข้มข้นขึ้น
ฝั่งสหรัฐอเมริกาออกนโยบาย “Friendshoring” ที่หมายถึงการย้ายฐานผลิตจากประเทศที่มีแนวคิดทางการเมืองฝั่งตรงข้ามกลับมาประเทศพันธมิตร เพื่อป้องกันการหยุดชะงักจากสงคราม โดยออกมาล้อนโยบายช่วงโลกาภิวัตน์อย่าง ‘Offshoring’ ที่กระจายการผลิตไปยังประเทศที่ต้นทุนต่ำและ ‘Reshoring’ ที่ย้ายฐานการผลิตกลับมาบางส่วน
ขณะที่ประเทศจีนก็ออกนโยบาย “China+1” ที่ยกระดับจากการเป็นผู้ผลิตและส่งออกเพียงอย่างเดียว กลายมาเป็นผู้ลงทุนด้านการผลิตในประเทศต้นทุนต่ำอื่นๆ เป็นการกระจายห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อลดความเสี่ยงจากความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา โดยประเทศเป้าหมายคือกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือก็คือสมาคม “อาเซียน” (ASEAN) ที่ไทยเป็นสมาชิกนั่นเอง
ช่วงปี 2567 นี้เองผลของนโยบายแต่ละฝั่งก็เริ่มเป็นที่ประจักษ์ชัดในประเทศไทยและกลุ่มประเทศในอาเซียนอื่นๆ ตัวอย่างที่ใกล้ชิดกันที่สุดก็คงเป็นทิวทัศน์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลของไทยที่รายล้อมไปด้วยธุรกิจสัญชาติจีน นักท่องเที่ยวจีน และข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศจีนเสียส่วนใหญ่ ไม่แน่ว่าบรรยากาศเหล่านี้อาจเป็นคำใบ้บางอย่างถึงการแข่งขันตลอดหลายปีนี้
สงครามเย็นครั้งใหม่? หรือสหรัฐฯ จะจ่ายแพ้?
บรรยากาศการแข่งขันที่ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาพยายามรุกตลาดของประเทศที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองใกล้เคียงกับตนเองมากขึ้น นำไปสู่การตั้งข้อสงสัยว่าความขัดแย้งที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้นทุกทีนี้จะเป็นต้นเหตุของ “สงครามเย็น” เช่นเดียวกับปี 2490 หรือไม่?
จากรายงานของสำนักข่าว CNBC ผู้แทนประเทศสิงคโปร์ในองค์การสหประชาชาติ Bilahari Kausikan ได้ให้ความเห็นว่า “สงครามเย็นครั้งใหม่” เป็นการกล่าวเกินจริงและสถานการณ์การแข่งขันของสหรัฐฯ-จีนนั้นคล้ายคลึงกับความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตสมัยก่อนเพียง ‘ผิวเผิน’ เท่านั้น
เหตุผลคือเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากับประเทศจีนมีลักษณะพึ่งพาอาศัยกันด้วยความซับซ้อนกว่าที่เห็น เพราะประเทศจีนเป็นกำลังผลิตสำคัญอันดับหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานทั้งโลก การทำลายคู่แข่งให้สิ้นซากจึงแทบไม่ต่างอะไรกับการทำลายตนเองเลยแม้แต่น้อย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นั้นก็สร้างความกังวลต่อ ‘ภาวะพึ่งพา’ ดังกล่าวว่าสหรัฐฯ จะเสียเปรียบในการแข่งขันมากเกินไปหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อการประชุมใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 20 ครั้งที่ 3 หรือ “Third Plenum” ยืนยันอย่างมั่นใจว่าจีนจะสามารถทำยอดการเติบโตของ GDP ได้ถึง 5% ตามเป้าหมายปี 2024 อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ จากการประชุมเดียวกันยังมีแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรภาษาอังกฤษออกมาเปิดเผยนโยบายถัดไปว่า จะเดินหน้ากระตุ้นความเชื่อมั่นต่อประเทศจีนด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อปิดข้อจำกัดที่สหรัฐฯ อาจนำมาใช้โจมตีได้
กลยุทธ์ของจีนดีกับไทย จริงหรือ?
แน่นอนว่าประเทศต่างๆ ย่อมได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าของทั้งสองประเทศอย่างแน่นอน ดูจากบรรยากาศการแข่งขันแล้ว ไม่แน่ว่าการเลือกตักตวงผลประโยชน์ที่ได้จากนโยบายทางการค้าของจีนอาจเป็นโอกาสให้เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นคืนจากภาวะชะงักงันที่เป็นอยู่ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าการเข้ามาของธุรกิจจีนจำนวนมากกลายเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานและกระบวนการผลิตของประเทศไทยรวนเรด้วยกลยุทธ์ขายตัดราคาเพื่อแย่งลูกค้าจากธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน จนผู้ค้ารายย่อยล้มตายก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นคืนก่อนก็เป็นได้
ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนก็เกิดกระแสความกังวลต่อ “คุณภาพ” และ “มาตรฐานการผลิต” ของธุรกิจจากประเทศจีนเช่นเดียวกัน โดยไม่นานมานี้มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียบัญชีหนึ่งเผยแพร่รูปภาพกล่องพัสดุที่คาดว่าจะบรรจุวัตถุดิบสำหรับทำ “ไอศกรีมนม” ของร้านแบรนด์จีนแห่งหนึ่ง ทว่ากลับทำมาจากครีมเทียมที่เป็นอันตรายกับสุขภาพมากกว่า
ผู้บริโภคในสหรัฐฯ เองก็มีการจับตามองมาตรฐานการผลิต “น้ำมัน” ที่โรงงานจีนผลิตเองเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีการแถลงออกมาแล้วว่ากระบวนการต่างๆ ถูกต้องตามมาตรฐานทว่ายังคงมีความเคลือบแคลงอยู่ในความคุ้นเคยของผู้บริโภคเช่นกัน
แม้สถานการณ์จะดูตึงเครียดทั้งสงครามการค้าและสงครามความคิด เนื่องจากก็มีความคิดเห็นจากผู้บริโภคและผู้ค้ารายย่อยอีกฝั่งว่ากลยุทธ์ตัดราคาของแบรนด์จีนนั้นสามารถทำได้ในตลาดเสรี ทั้งยังเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ในราคาถูกลงท่ามกลางความฝืดเคืองของเศรษฐกิจ
ด้านมาตรฐานและวัตถุดิบที่อันตรายมากขึ้นแลกกับราคาที่ลดลงก็เกิดขึ้นในทุกธุรกิจ หรือแม้แต่ธุรกิจที่มีราคาอยู่ในระดับกลางถึงแพงเองบางเจ้าก็ใช้วัตถุดิบเดียวกันกับแบรนด์เหล่านี้ นำไปสู่การประชันความคิดและความเห็น จนมีผู้ออกมาให้ความรู้สอดแทรกความคิดเห็นกันมากมาย
ไม่ว่าจะนโยบายใดย่อมมีทั้งผลดีและผลเสีย เช่นนั้นแล้วการจับตามองกระบวนการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดและช่วยกันระดมสมองออกความคิดเห็นเพื่อส่งสารความต้องการของผู้บริโภคและประชาชนไปถึงผู้ผลิต นักธุรกิจและผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจต่อไปจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่ทุกคนสามารถทำได้
ที่มา
– China calls for bolstering tech ‘breakthroughs’ and achieving the full-year growth target: Evelyn Cheng, CNBC – https://cnb.cx/3Lx8ITM
– U.S.-China tensions are not a ‘new Cold War,’ veteran Singapore diplomat Bilahari Kausikan says: Lim Hui Jie, CNBC – https://cnb.cx/4f9JFDG
#trend
#tradewar
#missiontothemoon
#missiontothemonnpodcast