คุณคิดว่าหากปราศจากผู้บังคับบัญชาหรือ “หัวหน้า” แล้ว ทีมของคุณจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมี Productivity เพิ่มขึ้นหรือไม่?
นี่คือคำถามสำคัญที่เป็นหัวใจของแนวคิดที่มีชื่อว่า “Unbossing” ซึ่งเป็นวิธีการบริหารที่ได้รับความสนใจอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว แต่พักหลังมานี้ แนวคิดนี้เริ่มกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ The Great Tech Layoff ที่บริษัทเทคฯ เริ่มรื้อถอนโครงสร้างบริษัทด้วยการปลดพนักงานจำนวนมาก
ผนวกกับการที่หลายๆ บริษัทมีการปลดพนักงานเพื่อกำจัดลำดับชั้นในการบริหารที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อให้ทีมต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างอิสระมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ พนักงานยังให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและอิสระในการทำงานมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด หลังจากที่นายจ้างต้องยอมให้พนักงานทำงานจากระยะไกลมากขึ้น (Remote Working)
โดยผู้บริหารบริษัทชั้นนำอย่าง Vasant Narasimhan ซีอีโอของ Novartis บริษัทยาชั้นนำ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่บาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นได้เชิดชูแนวคิด Unbossing เป็นอย่างมากและเขาได้เริ่มสร้างวัฒนธรรมองค์กรโดยมีแนวกรอบแนวคิดนี้เป็นศูนย์กลางอีกด้วย
เขาเชื่อว่าแนวคิดนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่อง Productivity ในปัจจุบัน โดยทำให้พนักงานรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of ownership) และมีความผูกพันกับงานและองค์กรมากขึ้นในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริด ในขณะเดียวกันก็ช่วยผลักดันผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีขึ้นด้วย
แต่ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมองค์กรแบบ “Unbossed” และ “Bossed” คืออะไรกันแน่?
เชื่อว่าวัฒนธรรมแบบ Bossed นั้นเป็นแนวทางการทำงานแบบที่พวกเราหลายคนคุ้นเคย นั่นก็คือหัวหน้างานสั่ง ลูกน้องจึงค่อยตามคำสั่ง แต่แน่นอนว่ารูปแบบการบริหารมีหลากหลาย ตั้งแต่หัวหน้าสายเคร่งที่ต้องการจะควบคุมทุกรายละเอียดอย่างใกล้ชิด ไปจนถึงหัวหน้าสายชิลที่เน้นการให้อิสระกับลูกทีมของตัวเองโดยมีการติดตามผลเป็นระยะ อย่างไรก็ตามในวัฒนธรรมองค์กรแบบ Bossed แม้ลูกทีมจะมีอิสระมากเพียงใด ก็ต้องทำงานอยู่ภายใต้กรอบที่หัวหน้างานกำหนดอยู่ดี
Josh Bersin ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมระดับโลกและซีอีโอของ The Josh Bersin Company กล่าว ในทางตรงกันข้าม ผู้จัดการแบบ “Unbossed” จะให้อิสระและอำนาจแก่พนักงานมากขึ้นในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายโดยรวมของทีมและบริษัท ในที่สุดแล้ว ในวัฒนธรรมแบบ “Unbossed” หัวหน้างานหรือผู้จัดการจะทำหน้าที่เป็น “ผู้นำ” มากกว่าผู้สั่งงาน
แนวคิดแบบ Unbossed นี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีการปลดผู้จัดการระดับกลางเพิ่มขึ้นท่ามกลางการปลดพนักงานและการปรับโครงสร้างองค์กรในปัจจุบัน โดยในปี 2023 การปลดผู้จัดการระดับกลางคิดเป็น 30% ของการปลดพนักงานทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 20% โดยในปี 2018 นั้น บริษัทยักษ์ใหญ่มากมายอย่าง Live Data Technologies, Bayer, และ Citigroup ได้ประกาศความพยายามที่จะลดลำดับขั้นการบริหารที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ทีมงานทำงานได้อย่างอิสระมากขึ้น
“การมีลำดับชั้นการบริหารที่ไม่มีประสิทธิผลหลายชั้นอาจเป็นอุปสรรคต่อ Productivity โดยรวมขององค์กร โดยหนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือการสื่อสารไหลเวียนของข้อมูลที่ไม่มีประสิทธิภาพระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจและพนักงานที่ต้องทำงานอยู่แนวหน้า ซึ่งจำเป็นต้องรับมือกับลูกค้า แก้ไขปัญหา และปฏิบัติงานประจำวันขององค์กร” Jenny von Podewils ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Leapsome กล่าว
“องค์กรที่มีลำดับชั้นที่มีความกระชับกว่า จะสามารถนำไปสู่การตัดสินใจที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ความร่วมมือที่ดีขึ้นระหว่างผู้นำและพนักงาน และการสื่อสารที่ราบรื่นขึ้นทั่วทั้งบริษัท” Jenny von Podewils กล่าวเสริม
ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนเนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ หรือการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ทำให้บางตำแหน่งมีความจำเป็นน้อยลง การที่มีหลากหลายบริษัทเริ่มประยุกต์ใช้แนวคิดแบบ “Unbossing” นี้เองก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการให้พนักงานมีอำนาจควบคุมวิธีการทำงานของตัวเองมากขึ้น และยังสะท้อนถึงปัญหาเรื่องความไว้วางใจในที่ทำงานด้วย
บทบาท “หัวหน้า” จะหายไปในอนาคต?
ทั้งนี้ การที่หลายบริษัทเริ่มมีวัฒนธรรมแบบ Unbossing เองไม่ได้หมายความว่าตำแหน่งหรือบทบาทของ “หัวหน้า” นั้นจะหายไปอย่างสิ้นเชิง หากแต่เป็นการปรับโครงสร้างขององค์กรที่มีความ “แบนราบ” มากขึ้น
โดยหัวหน้างานอาจจะมีอำนาจในการควบคุมน้อยลงและมีผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวนมากขึ้น ในท้ายที่สุดแล้ว มันเกี่ยวกับการคิดทบทวนบทบาท “หัวหน้างาน” ใหม่และวิธีที่พวกเขาสามารถทำงานได้ดีขึ้นเพื่อช่วยให้พนักงานบรรลุเป้าหมายของบริษัท หาใช่เป้าหมายของหัวหน้างาน
“สำหรับพนักงานในองค์กรแบบ Unbossed นั้นจะทำให้พนักงานทั่วๆ ไปสามารถทำงานได้อย่างอิสระมากขึ้นในบางสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม อิสระที่มากขึ้นเองก็แปลว่าพนักงานเหล่านั้นเองก็จำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์และประสิทธิภาพงานของตนเองมากขึ้น โดยที่ไม่มีหัวหน้างานมารับหน้าให้อีกต่อไป” Joe Galvin หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ Vistage กล่าว
แล้ว AI มีบทบาทอย่างไร?
หากยกตัวอย่างบริษัทใหญ่ที่ส่งเสริมวัฒนธรรมแบบ Unbossed อย่างเปิดเผยก็คือ Novartis โดยความรับผิดชอบหลักของหัวหน้างานของพวกเขาก็คือการติดตามการเรียนรู้ การพัฒนา และการเติบโตของผู้ใต้บังคับบัญชาในบริษัท ซึ่ง Novartis พึ่งพาเครื่องมือ AI เพื่อช่วยให้พนักงานขับเคลื่อนความก้าวหน้าในอาชีพของตนเองได้อย่างแข็งขันมากขึ้น
โดยพวกเขาใช้เครื่องมือจับอย่าง “Talent Match” และ “Match Learn” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเสริมสร้างการเรียนรู้ที่มอบคำแนะนำการเรียนรู้เฉพาะบุคคลเพื่อช่วยให้พนักงานพร้อมในบางด้าน ทำให้พวกเขาสามารถตอบสนองต่อความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และเครื่องมือประเมินตนเองช่วยให้พนักงานค้นพบจุดแข็งและจุดที่ต้องปรับปรุงเพื่อช่วยให้พวกเขาวางแผนความก้าวหน้าในอาชีพได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย
ซึ่งเครื่องมือเทคโนโลยีเหล่านี้เรียกได้ว่า อาจเป็นการปลดเปลื้องภาระทางใจอันหนักอึ้งที่อยู่นอกเหนือ Job Description ของหัวหน้างานที่ต้องแวะเวียนมาให้คำแนะนำและดูแลสภาพจิตใจของลูกทีมเป็นครั้งคราว ซึ่งอาจทำให้เหล่าหัวหน้างานนั้นสามารถโฟกัสกับเป้าหมายขององค์กรและทีมได้ดีขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้
ข้อเสียของ Unbossed Culture
ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านไปสู่วัฒนธรรมแบบ Unbossed ต้องอาศัยความไว้วางใจระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นทำงานในยุคการทำงานระยะไกลที่มีความต้องการอิสระในการทำงานสูง
โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่วัฒนธรรม Unbossed มีความเสี่ยงบางประการ พนักงานสามารถอาจมีแนวโน้มที่จะเริ่มทำงานแบบ Quiet Quitting ได้มากขึ้นโดยทำงานให้สำเร็จเพียงแค่ขั้นต่ำ ไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น เนื่องจากถูกจับตาดูและอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลที่น้อยลง รวมถึงมีการตรวจสอบที่ไม่บ่อยนัก
อีกทั้งยังมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกมีเกี่ยวข้องเนื่องจากว่าคนทำงานเองก็ยังเป็น “มนุษย์” โดยการทำงานกับมนุษย์นั้น ทักษะการเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ที่บางทีก็จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำงานในยุคปัจจุบัน ซึ่ง ณ ตอนนี้ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปแค่ไหน ก็ยังไม่เห็นว่ามีเครื่องมือหรือ AI ตัวไหนที่สามารถมีความ Empathy ได้ใกล้เคียงมนุษย์จริงๆ เลย
“ผู้คนสามารถซ่อนตัวในสภาพแวดล้อมดิจิทัลนี้ได้ง่ายกว่าที่เคยเป็นมาก่อน” Galvin กล่าว
อย่างไรก็ตาม คนทำงานทั้งหลายเองก็ต้องรอติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า แนวทางการทำงานแบบ Unbossing นี้จะถูกจุดติดเป็นประกายจนนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายมากแค่ไหน แต่ในปัจจุบันนี้นั้น จนกว่าเราจะสามารถมีเครื่องมือติดตามการทำงานของพนักงานแต่ละคนได้อย่างชัดเจนจริงๆ ก็เรียกได้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่าแนวคิดแบบ Unbossing นี้จะได้รับการยอมรับจากบริษัททั่วโลกจริงๆ
อ้างอิง
– WTF is an unbossed culture? (and does it really drive productivity) : Hailey Mensik, Worklife.news – https://bit.ly/3V9s4Up
– We create an unbossed environment : Novartis – https://bit.ly/4aB8nJN
– ‘The 2024 Great Unbossing’ Trending Among Middle Manager Careers In The Workplace : Bryan Robinson, Ph.D., Forbes – https://bit.ly/3UUEw9d
#Unbossing
#Productivity
#การทำงาน
#Trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast