“ฟอ หอ กอ ดอ เอก อา สอ วอ…”
ถ้าหากใครที่กำลังอ่านและเข้าใจข้อความข้างต้นนี้ ต้องขอแสดงความยินดีเลยว่า “คุณไม่เด็กแล้วนะ”
สำหรับกลุ่มคนที่วนเวียนอยู่ในโลกของการทำงานมาได้มากกว่า 5 ปีขึ้นไป น่าจะพอคุ้นเคยกับการเข้าเรียน “พิมพ์ดีด” กับแป้นคีย์บอร์ดในเครื่องคอมพิวเตอร์กันเป็นอย่างดี ซึ่งการเรียนพิมพ์ดีดนั้นเป็นเหมือนประตูบานแรกที่ทำให้เราได้รู้จักกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ได้ใช้งานมัน รวมถึงเริ่มเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีนี้อีกด้วย
เรียกได้ว่าการเรียนทักษะพิมพ์ดีดนั้นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญ ที่ช่วยให้เราสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเลยทีเดียว
ซึ่งในปัจจุบันนั้น คนส่วนใหญ่ในสังคมมักมีภาพจำว่า ‘เด็กรุ่นใหม่’ เกือบทุกคนนั้น คือกลุ่มคนที่สามารถเรียนรู้ พัฒนาทักษะ รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ของโลกได้อย่างรวดเร็วมากกว่าคนรุ่นอื่นๆ
แต่เชื่อหรือไม่ว่าเหล่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะคนกลุ่ม Gen Z ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น Digital Native หรือ ‘ชาวดิจิทัล’ ที่คลุกคลีกับเทคโนโลยีอัจฉริยะมากมายหลายอุปกรณ์ตั้งแต่แรกเกิดนั้น กำลังตกที่นั่งลำบากอย่างไม่น่าเชื่อ กับการใช้ทักษะพื้นฐานอย่างการ ‘พิมพ์ดีด’ บนเครื่องคอมพิวเตอร์นั่นเอง
Gen Z กับความท้าทายในการพิมพ์คีย์บอร์ด
ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เจนเนอเรชัน Z หรือคนที่เกิดระหว่างปี 1997 ถึง 2012 ถือเป็นกลุ่มคนรุ่นแรกที่เติบโตมาพร้อมกับอุปกรณ์ดิจิทัล พวกเขามีความชำนาญในการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอย่างคล่องแคล่ว แต่กลับมีปัญหาเมื่อต้องพิมพ์งานบนคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญสำหรับการทำงานในออฟฟิศและการศึกษา
จากบทความใน Wall Street Journal พบว่า แม้เจน Z จะสามารถพิมพ์ข้อความบนสมาร์ทโฟนได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อต้องใช้คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ พวกเขามักจะพิมพ์ได้ช้าลงอย่างเห็นได้ชัด หลายคนต้องมองแป้นพิมพ์ขณะทำงาน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานและการเรียน
ตัวอย่างเช่น โจนาห์ ไมเออร์ อายุ 23 ปี เล่าว่าเขาต้องคอยมองแป้นพิมพ์และตรวจสอบข้อผิดพลาดบ่อยๆ ขณะเขียนรายงาน 20 หน้า แม้จะลองใช้แอปแปลงเสียงเป็นข้อความ แต่ก็ยังมีปัญหาด้านไวยากรณ์ สุดท้ายเขาต้องกลับมาพิมพ์ด้วยตัวเองอย่างช้าๆ
นักร้องชื่อดังอย่างบิลลี่ ไอลิช ก็ยอมรับว่าไม่เคยเรียนรู้การพิมพ์สัมผัสมาก่อน และรู้สึกเสียใจในภายหลัง โดยให้เหตุผลว่าพ่อแม่ไม่เคยสอน
ปัญหานี้สร้างความกังวลให้กับนักการศึกษาและองค์กรในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าเด็กรุ่นใหม่ใช้เวลาออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากการศึกษาของ Pew Research Center พบว่าเกือบ 50% ของวัยรุ่นรายงานว่าพวกเขาออนไลน์ “เกือบตลอดเวลา”
ทั้งนี้ จำนวนนักเรียนที่เรียนวิชาพิมพ์ดีดในโรงเรียนมัธยมปลายลดลงจาก 44% ในปี 2000 เหลือเพียง 2.5% ในปี 2019 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในการใช้เทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่
อย่างไรก็ตาม ยังมีความหวังในการแก้ไขปัญหานี้ บริษัทด้านการศึกษาอย่าง Teaching.com รายงานว่ามีโรงเรียนในหลายรัฐสนใจหลักสูตรการพิมพ์มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการทดสอบมาตรฐานเริ่มปรับเปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลัก
ทิม ดิคัน ผู้บริหารของ Teaching.com เชื่อว่าการฝึกทักษะการพิมพ์จะช่วยให้นักเรียนมีคะแนนสอบที่ดีขึ้น เนื่องจากพวกเขาจะสามารถโฟกัสกับเนื้อหามากกว่าการกังวลเรื่องวิธีการพิมพ์
ไม่ได้ไม่เก่ง แต่ทักษะพิมพ์ดีดของเด็กรุ่นใหม่กำลังย้ายไปอยู่ในอุปกรณ์ที่แตกต่าง
จากการสำรวจของ Pew Research Center พบว่านักการศึกษาจำนวนมากเชื่อว่านักเรียนจะเรียนรู้ทักษะการพิมพ์ได้เองจากการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเป็นประจำ ซึ่งอาจไม่เป็นความจริงเสมอไป ในความเป็นจริง นักเรียนจำนวนมากหันมาใช้แท็บเล็ตและอุปกรณ์พกพามากกว่าคีย์บอร์ดแบบดั้งเดิม
ยกตัวอย่างเช่น เพจ เดอชาเนย์ อายุ 18 ปี จากรัฐอิลลินอยส์ เขียนบันทึกความยาว 8 หน้าทั้งหมดบนไอแพดของเธอ โดยใช้คีย์บอร์ดบนหน้าจออย่างชำนาญ ข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2024 แสดงให้เห็นว่า 39% ของงานที่ส่งผ่านแพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์นั้น มาจากอุปกรณ์พกพา หรือ Mobile Device นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม มีข่าวดีสำหรับ Gen Z ที่ต้องการพัฒนาทักษะการพิมพ์ งานวิจัยก่อนหน้านี้พบว่าผู้ที่เรียนรู้การพิมพ์ด้วยตนเองโดยใช้นิ้วเฉลี่ย 6 นิ้ว สามารถพิมพ์ได้เร็วพอๆ กับมืออาชีพที่ใช้ 10 นิ้ว ดังนั้น Gen Z สามารถพัฒนาทักษะการพิมพ์ได้ด้วยการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ
แม้ว่าเจนเนอเรชัน Z จะเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี แต่การพัฒนาทักษะการพิมพ์บนคีย์บอร์ดยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งสำหรับการศึกษาและการทำงานในอนาคต
การตระหนักถึงความสำคัญของทักษะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้อย่างเป็นทางการหรือการฝึกฝนด้วยตนเอง จะช่วยให้ Gen Z สามารถปรับตัวและประสบความสำเร็จในโลกดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่เทคโนโลยียังคงพัฒนาต่อไป การสร้างสมดุลระหว่างทักษะการใช้อุปกรณ์พกพาและการพิมพ์บนคีย์บอร์ดแบบดั้งเดิมจะเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในยุคดิจิทัลนี้
อ้างอิง
– The Digital Natives of Gen-Z Have a Typing Problem : Bruce Crumley, INC – https://bit.ly/4gkRPtI
– Despite tech-savvy reputation, Gen Z falls behind in keyboard typing skills : Zo Ahmed, Techspot – https://bit.ly/3zcprZS
– Gen Z doesn’t know how to type on keyboards : Dwaipayan Roy, NewsByte – https://bit.ly/3zc7M4q
#trend
#GenZ
#คนรุ่นใหม่
#พัฒนาตัวเอง
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast