คุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือไม่ว่า สำหรับคุณแล้ว บุคคลที่เป็น ‘เพศชาย’ จะต้องมีบทบาทหน้าที่อย่างไรเป็นสำคัญ?
ในบริบททางสังคมจากหลายๆ ประเทศทั่วโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาททางเพศ (Gender Expectations) ของ ‘ผู้ชาย’ มักอาศัยสถาบันทางสังคม เช่น ครอบครัว การศึกษา ศาสนา ไปจนถึงสื่อประเภทต่างๆ ในการกำหนดว่า ‘ผู้ชาย’ จะต้องมีคุณสมบัติ หรือมีการแสดงออกทางอารมณ์อย่างไรจึงจะเรียกว่า สมเป็นชาย ฉะนั้น ไม่แปลกเลย หากใครหลายๆ คนจะได้รับชุดความคิดที่ถูกส่งมานักต่อนักว่า ผู้ชายจะต้องเข้มแข็ง น่าพึ่งพาในสายตาผู้อื่น สามารถสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว และไม่อ่อนแอ
อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ‘American Psychologist’ โดยนักจิตวิทยา ‘มิเชล ดิ เบียงกา (Michael Di Bianca)’ และศาสตราจารย์ ‘เจมส์ อาร์. มาฮาลิก (James R. Mahalik)’ จาก ‘Boston College’ เผยว่า ความคาดหวังจากสังคมว่า ผู้ชายควรเป็นอย่างไรตามแนวคิดหรืออัตลักษณ์ ‘ความเป็นชายแบบดั้งเดิม (Traditional Masculinity)’ นั้น อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์อันตรายอย่างการกดขี่เพศอื่น ไปจนถึงปัญหาสุขภาพตามมาได้ โดยเฉพาะการเสี่ยงเป็นโรคร้ายแรงอย่างโรคหัวใจและหลอดเลือด
สิ่งที่สังคมคาดหวังจากเพศชายเสมอมา
สิ่งที่สังคมมักคาดหวังจากเพศชาย ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เพศชายควรจะเป็น แต่หมายถึงสิ่งที่พวกเขาไม่ควรเป็น นั่นคือ ‘ลักษณะของเพศหญิง’ ด้วยเหตุนี้ เราจึงอาจได้ยินคำดูถูกหรือหยอกล้อเพศชายที่พาดพิงถึงเพศหญิงอยู่บ่อยครั้ง เช่น ร้องไห้เหมือนเด็กผู้หญิง แรงน้อยเหมือนผู้หญิง เป็นต้น
ด้วยชุดความคิดของ ‘ความเป็นชายแบบดั้งเดิม’ ที่มักเชื่อมโยง ‘ความเป็นหญิง’ เข้ากับความอ่อนแอ เปราะบาง หรือด้อยกว่า เพศชายจึงมักถูกสอนให้เว้นระยะห่างจากสิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความเป็นหญิง เช่น ไม่ใช้สิ่งของสีชมพู ซึ่งสังคมมองว่าเป็นสีของเพศหญิง ไปจนถึงการระงับอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงเอาไว้ เพียงเพราะการแสดงออกทางอารมณ์มักเป็นสิ่งที่เพศหญิงทำกัน อาทิ แสดงท่าทีเข้มแข็งทั้งๆ ที่ความจริงแล้วอยากร้องไห้
แนวคิดสอนชายเหล่านี้มีผลทำให้ผู้ชายบางคนเกิดอคติ อยากต่อต้านเพศหญิง จนสุดท้ายนำมาซึ่งการกดขี่ผู้หญิงไปโดยปริยาย พวกเขาอาจคิดว่าตนเองต้องประสบความสำเร็จให้ได้ โดยวัดจากการเงิน สถานะ หรือการแสวงหาอำนาจเป็นสำคัญ เมื่อเกิดความต้องการแสวงหาอำนาจอย่างไม่หยุดยั้งอันเกิดจากความกดดันทางสังคมที่ว่า ‘ชายเป็นใหญ่’ ผู้ชายจึงอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงออกมา เกิดเป็นคำนิยามในภาษาอังกฤษที่ว่า ‘Toxic Masculinity’ หรือที่คนไทยยุคใหม่บนสื่อโซเชียลมีเดียมักเรียกกันว่า ‘ชายแท้’ นั่นเอง
‘ปัญหาสุขภาพ’ ผลกระทบที่เพศชายได้จากความคาดหวังของสังคม
ผลกระทบที่สังคมคาดหวังจากผู้ชายไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการแสดงพฤติกรรมที่เป็นพิษต่อเพศอื่น จนกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์เท่านั้น แต่เพราะการแสดงออกทางอารมณ์ของเพศชายนั้นมีจำกัด อีกทั้งความคิดที่ว่า ผู้ชายต้องอดทน ทำงานหนัก และจัดการทุกปัญหาได้โดยไม่ขอความช่วยเหลือใคร จึงทำให้ผู้ชายหลายๆ คนเกิดปัญหาสุขภาพทางร่างกายและจิตใจตามมา
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยชิคาโก (The University of Chicago) โดยแพทย์อายุรศาสตร์และกุมารแพทย์ ‘ดร. นาธาเนียล กลาสเซอร์ (Dr. Nathaniel Glasser)’ เปิดเผยว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดยังคงเป็นสาเหตุแรกๆ ของการเสียชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งประชากรหนุ่มสาวจำนวนมากมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ถึง 75% เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันและความคาดหวังจากสังคมที่กำหนดว่าเพศชายต้องแข็งแกร่งและไม่ขอความช่วยเหลือใครนั้น ทำให้ผู้ชายส่วนมากมีแนวโน้มที่ปฏิเสธคำแนะนำ การใช้ยา หรือการบำบัดรักษาสุขภาพทั้งกายและจิตจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แล้วหันไปสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือใช้สารเสพติดแทนเมื่อเผชิญกับปัญหาชีวิต ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวก็คือปัจจัยที่ยิ่งทำให้โรคหัวใจและหลอดเลือดลุกลามในภายหลัง
ดร. กลาสเซอร์กล่าวเพิ่มว่า “เรื่องนี้ทำให้ผมเห็นเลยว่า แนวคิดความเป็นชายส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมด้านสุขภาพอย่างไร และผมรู้สึกเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้าในสังคมเปลี่ยนมาสร้างความเห็นอกเห็นใจให้กันมากขึ้นเท่าไร มันก็จะยิ่งดีต่อสุขภาพคนมากขึ้นเท่านั้น”
เมื่อผู้คนตระหนักได้ว่าแนวคิดความเป็นชายอาจเป็นพิษกับทุกที่
ตามที่ทำงาน แน่นอนว่าการพบเจอกับบุคคลที่แสดงพฤติกรรมชายเป็นพิษอาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บางครั้งพฤติกรรมเหล่านั้นอาจแสดงออกมาในรูปแบบของคำพูดคำจา การวิพากษณ์วิจารณ์รูปลักษณ์ของเพื่อนร่วมงานเพศหญิง หรือแม้แต่กลุ่ม LGBTQ+ จนพวกเขารู้สึกอับอาย ไปจนถึงการไม่ให้เครดิตแม้ผลงานจะออกมาดี เพียงเพราะอีกฝ่ายเป็นเพศตรงข้าม
สถานการณ์เหล่านี้บางครั้งก็ถูกเรียกว่า ‘วัฒนธรรมแข่งขันความเป็นชาย (Masculinity Contest Culture)’ ที่ส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ย่ำแย่ อีกทั้งยังเป็นตัวบ่อนทำลายความเท่าเทียม และความแตกต่างระหว่างบุคคลทุกเพศทุกวัย ที่ไม่เพียงแต่ทำร้ายคนรอบข้าง แต่ยังทำลายวัฒนธรรมขององค์กร โดยที่ผู้กระทำอาจไม่รู้ตัว
แม้ผลกระทบจากแนวคิดความเป็นชายจะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร ‘Journal of Humanities and Applied Social Sciences’ ระบุว่า ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา หลายภูมิภาคทั่วโลก เช่น ประเทศแถบยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชียตะวันออก หรือแอฟริกา ล้วนมองเห็นภัยจากแนวคิดข้างต้น และเริ่มให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงบทบาททางเพศ จนทำให้บทบาททางเพศแบบเดิมค่อยๆ ลดลง
ซึ่งไม่ว่าใครก็สามารถส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดี และสร้างความเท่าเทียมทางเพศขึ้นได้ ด้วยการเปิดใจยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล ผู้ชายทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้มแข็ง หรือถืออำนาจไว้ในมือตลอดเวลาถึงจะเรียกว่าสมเป็นชาย อ่อนแอหรืออ่อนไหวบ้างย่อมเป็นเรื่องปกติของมนุษย์
‘ความเป็นชาย’ ที่ปลูกฝังให้ผู้ชายมาเนิ่นนานหลายสมัยตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่นี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบด้านลบต่อคนรอบข้างเท่านั้น แต่แม้แต่ตัวผู้ชายหลายๆ คนเอง ก็กลับกลายเป็นเหยื่อจากแนวคิดนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลงอาาจไม่ได้มีแค่พฤติกรรมของปัจเจกบุคคล แต่สังคมเองก็ควรให้ร่วมมือแก้ไขตั้งแต่ชุดความคิดที่เป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมดด้วย เพราะสิ่งที่อันตรายแต่แรกอาจไม่ใช่คน แต่เป็นแนวคิดที่เป็นพิษ จึงทำให้คนอันตราย
อ้างอิง
– ‘The way to a man’s heart disease’: Can social expectations of masculinity be bad for cardiovascular health? – https://bit.ly/4f9Et2e
– The Impact of Gender Expectations on Boys and Young Men – https://bit.ly/4fws4Fp
– How Toxic Masculinity Is Ruining Your Workplace Culture – https://bit.ly/3CiyGJ8
#Trend
#Psychology
#Society
#Missiontothemoon
#Missiontothemoonpodcast