ช่วงนี้อากาศเริ่มหนาวแล้ว เชื่อว่าต้องมีหลายคนที่ตื่นเต้นกับอากาศเย็น เริ่มชงกาแฟร้อนดื่มในตอนเช้า หรือหยิบเสื้อกันหนาวตัวโปรดมาใส่ แต่มีใครที่กลับรู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยล้า โศกเศร้า หรือเซื่องซึมมากกว่าปกติบ้างมั้ย?
หากร่างกายและจิตใจเหี่ยวเฉาลงเพราะลมหนาว คุณอาจมีภาวะ “โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล” หรือ Seasonal Affective Disorder (SAD) มักเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านของฤดู โดยเฉพาะฤดูหนาว ที่อุณหภูมิอากาศจะลดลงมากกว่าปกติ และมีช่วงเวลากลางคืนที่ยาวนานกว่ากลางวัน ส่งผลให้มีอัตราการเกิดโรคนี้ถึง 5% ของจำนวนประชากรในสหรัฐฯ ต่อปี และมีโอกาสสูงถึง 10% ในประเทศอื่นๆ ขึ้นอยู่กับสภาพทางภูมิศาสตร์
อาการของโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลใน ‘ฤดูหนาว’
[ ] รู้สึกง่วง เมื่อยล้า และเฉื่อยชาตลอดวัน
[ ] ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นานๆ
[ ] รู้สึกผิด สิ้นหวัง หรือไร้ค่า
[ ] ปลีกตัวออกจากผู้คนและสังคม
[ ] กินอาหารมากกว่าปกติ รู้สึกอยากกินของหวานมากขึ้น
หากเราปล่อยอาการเหล่านี้ไว้เป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลให้ภาวะซึมเศร้าทางอารมณ์รุนแรงขึ้นจนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ได้ เช่น ภาวะหมดไฟ แต่อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลก็สามารถบรรเทาให้ดีขึ้นได้เช่นกัน
แม้ว่าโรคนี้จะไม่มีสาเหตุทางการแพทย์ที่แน่ชัด แต่คาดว่าปัจจัยหลักเกิดจากการที่ ‘แสงอาทิตย์’ มีผลต่อ ‘นาฬิกาชีวภาพ’ ที่ทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการทำงานของร่างกาย เพราะเมื่อเราได้รับแสงอาทิตย์น้อยลง ร่างกายก็จะผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินและเซโรโทนินลดลง ส่งผลให้พฤติกรรมการนอนและการควบคุมอารมณ์ของเราแย่ลงตามไปด้วย
นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว การใช้ ‘แสงไฟ’ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล โดยใช้ ‘โคมไฟบำบัด’ ในการหลอกนาฬิกาชีวภาพ เพื่อช่วยกระตุ้นให้ร่างกายกลับมาผลิตฮอร์โมนได้เป็นปกติ
โคมไฟบำบัดที่ถูกออกแบบมาสำหรับโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล จะมีความเข้มของแสงอยู่ที่ 10,000 ลักซ์ มีมุมตกกระทบเหนือดวงตาเพื่อลดแสงสะท้อน และกล่องของโคมไฟก็ควรมีคุณสมบัติในการกรองแสงยูวี เพื่อปกป้องสุขภาพของดวงตาด้วย
หากเปิดใช้อย่างน้อยวันละ 30 นาที แสงจำลองจากโคมไฟบำบัดจะสามารถชดเชยความอบอุ่นจากแสงธรรมชาติในฤดูหนาวได้ และสามารถใช้ไปพร้อมกับการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น เวลาทำงาน เวลาอ่านหนังสือ
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการใช้โคมไฟบำบัดยังไม่ได้ถูกรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และควรใช้ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น เพื่อการรักษาโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
ฤดูกาลเปลี่ยน แต่อย่าปล่อยให้ใจต้องเหี่ยวเฉาไปตามอากาศหนาว อย่าลืมพาตัวเองออกไปรับแสงแดดยามเช้า เพื่อให้นาฬิกาชีวิตได้เริ่มต้นวันใหม่อย่างสดใส และเติมพลังให้จิตใจแข็งแรงอยู่เสมอ
อ้างอิง
– The Best SAD Lamps for Seasonal Affective Disorder and How to Use Them : Debra Rose Wilson, Corey Whelan and Emma Ruben, healthline : https://bit.ly/3GfxXYP
– Seasonal affective disorder (SAD) : Mayo Clinic : https://mayocl.in/3WmsRiY
– Seasonal affective disorder treatment: Choosing a light box : Mayo Clinic : https://mayocl.in/3YNfM3M
– Seasonal Affective Disorder (SAD) : MHA : https://bit.ly/3Vomevq
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast