NEWSTrendsเวิร์กแค่ไหน? ลดภาษีเงินได้เหลือ 17% เพื่อดึงแรงงานเก่งๆ กลับไทย

เวิร์กแค่ไหน? ลดภาษีเงินได้เหลือ 17% เพื่อดึงแรงงานเก่งๆ กลับไทย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘Brain Drain’ หรือภาวะสมองไหลกันมาก่อน โดยภาวะสมองไหลนั้นคือการที่แรงงานเก่งๆ หรือมีทักษะสูงอพยพย้ายไปทำงานที่ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อาจเป็นผลมาจากการที่ประเทศอื่นมีโอกาสทางอาชีพที่ดีกว่าหรือสามารถมอบคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าการติดอยู่ในประเทศบ้านเกิดของตนเอง

ภาวะสมองไหลสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในระดับองค์กร อุตสาหกรรม และประเทศ หากพูดถึงในระดับประเทศ หลายประเทศก็กำลังประสบกับปัญหานี้อยู่

จากบทความ 5 Countries Facing the Biggest Brain Drain โดย Faheem Tahir ที่เผยแพร่ใน Insider Monkey พบว่าหลายประเทศกำลังเผชิญกับภาวะสมองไหลอย่างหนัก

1. ซามัว
ซามัวเป็นประเทศที่กำลังประสบกับปัญหาสมองไหลอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนครูในโรงเรียน อย่างไรก็ตาม กระทรวงการศึกษาได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้และกำลังดำเนินมาตรการแก้ไข เช่น ให้ครูสอนหลายวิชาและจัดโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับครู เพื่อให้สามารถสอนหลายวิชาได้อย่างมีประสิทธิภาพและรับมือกับการขาดแคลนครูในโรงเรียนได้ดียิ่งขึ้น

2. จาเมกา
ในจาเมกา คนหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาหลายคนเลือกที่จะย้ายไปอเมริกาเหนือและสหราชอาณาจักร ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เพราะการย้ายประเทศของคนที่มีทักษะทำให้บริการทางสังคมในจาเมกาลดลง อย่างเช่นความพร้อมและคุณภาพของการบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการสังคม ซึ่งเหตุการณ์นี้สร้างความไม่พึงพอใจในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก

3. ปาเลสไตน์
ในปาเลสไตน์ คนรุ่นใหม่จำนวนมากต้องการไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศและตั้งใจจะกลับบ้านในภายหลัง แต่หากประเทศขาดการพัฒนาเยาวชน ประกอบกับหากสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น พวกเขาก็อาจจะเลือกอยู่ต่างประเทศถาวร แม้ว่าจะรักครอบครัวและรักบ้านเกิดแค่ไหน แต่ความท้าทายที่เกิดขึ้นในประเทศก็ทำให้ใครหลายๆ คนไม่อยากอยู่ต่อ

4. ยูเครน
หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนในปี 2022 ประชากรส่วนใหญ่ของยูเครนจึงได้อพยพไปต่างประเทศ ส่งผลให้ยูเครนสูญเสียทุนมนุษย์ไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งการสูญเสียประชากรกำลังสำคัญไปจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของยูเครน

5. เอลซัลวาดอร์
ประชากรในเอลซัลวาดอร์กำลังเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยากลำบาก มีโอกาสในการทำงานที่ค่อนข้างจำกัด ดังนั้นประชาชนจำนวนมากจึงมุ่งออกนอกประเทศเพื่อสร้างชีวิตที่ดียิ่งขึ้น นอกจากเรื่องของเศรษฐกิจแล้ว ก็ยังมีเรื่องของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเอลซัลวาดอร์ยังมีระดับความรุนแรงและไม่ปลอดภัยที่ค่อนข้างสูงซึ่งเป็นผลมาจากความรุนแรงของแก๊งอาชญากรรมต่างๆ ประชากรบางส่วนจึงต้องหนีออกจากประเทศเพื่อความปลอดภัย

นอกจากประเทศข้างต้นนี้แล้ว ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ ‘เคย’ และ ‘กำลัง’ เผชิญกับภาวะสมองไหล และแน่นอนว่าประเทศไทยเองก็กำลังเป็นประเทศที่ ‘กำลัง’ เผชิญกับภาวะสมองไหลอยู่

Advertisements

ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยเผชิญกับภาวะสมองไหลมาระยะหนึ่งแล้ว หากย้อนกลับไปช่วงประมาณปี 2021 เราก็จะเห็นการเติบโตขึ้นของกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ ณ ตอนนั้นถือว่ากระแสในการย้ายถิ่นฐานมาแรงมาก โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่ เพราะมองว่าอยู่ไทยไปก็อาจไม่มีอนาคต จึงอยากออกไปแสวงหาโอกาสและชีวิตที่ดีกว่าในต่างแดน

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าแม้ประเทศไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางของแรงงานต่างชาติ แต่กลุ่มแรงงานไทยเองก็ไปศึกษาต่อ ทำงาน และตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ต่างประเทศเช่นกัน จากข้อมูลโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่าในปี 2022 มีคนไทยอาศัยอยู่ในต่างประเทศถึง 1,385,157 คน โดยตัวเลขนี้มาจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

ประเทศที่คนไทยอยู่เยอะที่สุดคือ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สวีเดน เยอรมนี สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ นอร์เวย์ และอิสราเอล ส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นแรงงาน แต่ ‘ส่วนใหญ่’ เป็นแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยบางคนไปเอง ติดต่อนายจ้างโดยตรง โดยไม่ได้แจ้งข้อมูลผ่านกระทรวงแรงงาน

ส่วนข้อมูลจำนวนแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศจากกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน หากอิงข้อมูลในเดือนกันยายน 2566 พบว่ามีแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 128,982 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในแถบเอเชีย

จริงๆ แล้วประเทศไทยเองก็ได้มีความพยายามในการดึงแรงงานเก่งๆ กลับไทยมาหลายปี และล่าสุด ครม. ก็ได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพให้กลับมาทำงานในประเทศ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยทั้งลูกจ้างและนายจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์ในเรื่องของภาษีดังนี้

[ ] ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง) : ลูกจ้างจะได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือไม่เกิน 17% โดยจะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์
[ ] ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (นายจ้าง) : บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายและทำการจ้างแรงงานจะสามารถหักค่าใช้จ่ายที่จ่ายเงินเดือนให้กับลูกจ้างที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดได้ 1.5 เท่า (ปกติหักได้ 1 เท่า)

โดยลูกจ้างที่จะเข้าร่วมมาตรการต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
[ ] วุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
[ ] ประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยมีเอกสารรับรองการทำงานจากนายจ้างในต่างประเทศหรือเอกสารอื่นใดที่ยืนยันประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศ
[ ] ต้องเดินทางกลับเข้าประเทศไทยในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
[ ] เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายที่กำหนด และได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องเริ่มทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานในช่วงเวลาวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
[ ] ต้องไม่เคยทำงานในประเทศไทยในปีภาษีที่มีการเริ่มใช้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้
[ ] กรณีที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ในปีภาษีใดเป็นครั้งแรก ต้องไม่ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธินั้นอย่างน้อย 2 ปี หรือถ้าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในช่วง 2 ปีก่อนหน้านั้น ต้องอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดไม่ถึง 180 วันในปีภาษีนั้นๆ
[ ] ในปีภาษีที่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ จะต้องอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 180 วันในปีภาษีที่ใช้สิทธินั้น เว้นแต่ปีภาษีแรกและปีภาษีสุดท้ายที่ใช้สิทธิจะอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่า 180 วันก็ได้

หลัง ครม. เคาะมาตรการดังกล่าว หลายคนก็ได้ออกมาให้ความเห็นว่า คนเก่งๆ ที่อยู่ต่างประเทศไม่ได้อยากกลับเข้ามาเพียงเพราะลดภาษีให้ เพราะหลายประเทศที่ไปอยู่ก็โดนหักภาษีจำนวนมากแต่โดยรวมแล้วยังเหลือเงินเยอะกว่าเงินเดือนในไทยที่หักภาษีน้อยลง ในขณะเดียวกัน คนในประเทศเองก็เริ่มตั้งคำถามว่า “แล้วคนเก่งๆ ในประเทศล่ะ?”

มาตรการนี้จะดึงคนเก่งกลับบ้านได้จริงหรือไม่ ทุกคนมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?


อ้างอิง
– Brain Drain: Definition, Causes, Effects, and Examples : Julie Young, Investopedia – https://bit.ly/3Yty1gX
– 5 Countries Facing the Biggest Brain Drain : Faheem Tahir, Insider Monkey – https://bit.ly/4ccul6w
– แรงงานไทยในต่างประเทศ: ทรัพยากรที่ทรงคุณค่า : สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล – https://bit.ly/4drzjxl
– มาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ : รัฐบาลไทย – https://bit.ly/3yCTc5E


#trend
#braindrain
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า