“กลับตัวก็ไม่ได้ ทำต่อไปก็ยิ่งฝืน” คำนี้คงจะอธิบายสถานการณ์กับดับความเสียดายที่หลายๆ คนต้องเคยพบเจอกันสักครั้งในชีวิตได้อย่างแน่นอน เพราะในโลกของการทำธุรกิจและการลงทุน รวมถึงในชีวิตประจำวันของเราทุกคน มีกับดักทางความคิดอย่างหนึ่งที่แอบซ่อนตัวอยู่ มันมักจะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดและนำไปสู่การขาดทุนที่มากขึ้นเรื่อยๆ กับดักนี้มีชื่อเรียกว่า “Sunk Cost Fallacy” หรือที่เราอาจเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “กับดักต้นทุนจม” หรือ “กับดักความเสียดาย”
แล้วกับดักนี้คืออะไรกันแน่? “กับดักต้นทุนจม” หรือ “กับดักความเสียดาย” คือแนวโน้มที่เรามักจะดำเนินการต่อไปกับสิ่งที่เราได้ลงทุนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา หรือความพยายาม แม้ว่าเราจะรู้ว่าผลลัพธ์ที่จะได้อาจไม่คุ้มค่าก็ตาม เรียกง่ายๆ ว่า เป็นความเชื่อผิดๆ ที่ว่า “ฉันลงทุนไปเยอะแล้ว ต้องทำต่อให้จบ!” ทั้งที่จริงๆ แล้ว สิ่งที่ควรคิดคือ “ถ้าทำต่อไป จะคุ้มค่าไหม?”
ลองนึกภาพตามว่า คุณเคยพบกับสถานการณ์แบบนี้หรือไม่ ถ้าใช่ นั่นแปลว่าคุณกำลังถูกกับดักความเสียดายเข้ามาเอาชนะความคิดของคุณ และทำให้คุณยิ่งขาดทุนแบบซ้ำซ้อนเข้าไปอีก
[ ] คุณซื้อตั๋วหนังราคาแพง แต่พอดูไปได้ครึ่งเรื่องกลับรู้สึกว่าไม่สนุกเลย แต่ก็ยังฝืนดูต่อจนจบ เพราะเสียดายเงินค่าตั๋ว สุดท้ายคุณเลยเสียเวลาที่จะได้ไปกินร้านอาหารอร่อยก่อนที่มันจะถึงเวลาปิด
[ ] คุณลงทุนในธุรกิจที่กำลังขาดทุน แต่ก็ยังเทเงินเข้าไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่า “ลงทุนไปตั้งเยอะแล้ว ต้องสู้ต่อ!” จนสุดท้าย คุณก็ขาดทุนอย่างมหาศาล
[ ] คุณเรียนคอร์สออนไลน์ที่แพงมาก แต่พอเรียนไปสักพัก รู้สึกว่าไม่ได้ประโยชน์เท่าที่คิด แต่ก็ยังฝืนเรียนต่อ เพราะจ่ายเงินไปแล้ว สุดท้ายคุณก็เสียเวลาแถมยังได้ชุดความรู้ที่ใช้งานไม่ได้จริง
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของกับดักความเสียดายที่เราอาจเจอในชีวิตประจำวัน แล้วทำไมเราถึงติดกับดักนี้ล่ะ? และจะทำอย่างไรให้หลุดพ้นจากกับดักนี้ได้
จิตวิทยาที่ว่าด้วยเรื่อง “ความเสียดาย”
จริงๆ แล้วทางจิตวิทยานั้นมีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้เราติดกับดักนี้ อย่างแรกคือ ความกลัวการสูญเสีย (Loss Aversion) เพราะเรามักจะรู้สึกแย่กับการสูญเสียมากกว่าความรู้สึกดีเมื่อได้กำไร ลองคิดดูว่าการสูญเสียเงิน 1,000 บาทนั้น เราจะรู้สึกแย่กว่าการได้เงิน 1,000 บาทอย่างแน่นอน นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เราพยายามหลีกเลี่ยงการยอมรับความสูญเสีย แม้ว่าการทำแบบนั้นอาจนำไปสู่การสูญเสียที่มากกว่าในอนาคตก็ตาม
ต่อมาคือ การมองโลกในแง่ดีเกินไป (Unrealistic Optimism) เรามักจะคิดว่า “เดี๋ยวมันก็ต้องดีขึ้น” หรือ “อีกนิดเดียวก็สำเร็จแล้ว” ทั้งที่ความเป็นจริงอาจไม่ใช่แบบนั้น การมองโลกในแง่ดีเกินไปนี้ทำให้เราประเมินโอกาสความสำเร็จสูงเกินจริง และมองข้ามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
เหตุผลที่สามคือ รู้สึกรับผิดชอบส่วนตัว (Personal Responsibility) เมื่อเราเป็นคนตัดสินใจเองตั้งแต่แรก เราจะรู้สึกว่าต้องทำให้สำเร็จ ไม่อย่างนั้นจะเหมือนยอมรับว่าตัวเองตัดสินใจผิด ความรู้สึกนี้ทำให้เรายึดติดกับการตัดสินใจในอดีต แม้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม
อย่างที่สี่คือ เราไม่อยากดูเหมือนคนที่สิ้นเปลือง (Desire Not to Appear Wasteful) เรากลัวว่าคนอื่นจะมองว่าเราใช้เงินหรือเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ความกลัวนี้ทำให้เราพยายามทำต่อไป แม้ว่าจะไม่คุ้มค่าแล้วก็ตาม เพื่อให้ดูเหมือนว่าการลงทุนของเรามีเหตุผล
และเหตุผลสุดท้ายคือ การให้คุณค่ากับสิ่งที่ลงทุนไปแล้ว (Valuing Past Investments) เพราะคนเรามักจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราได้ลงทุนไปแล้วมากเกินไป ทำให้เราไม่สามารถมองภาพรวมและประเมินสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างเป็นกลาง ผลสุดท้ายเราก็จะติดกับดักนี้และสูญเสียมากยิ่งขึ้นไปอีก
ผลเสียของการติดกับดักความเสียดาย ที่ไม่ได้ทำให้แค่ “เสียเงิน”
แม้ว่าผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุดของกับดักความเสียดายนี้คือการสูญเสียเงิน แต่จริงๆ แล้วมันกลับมีผลกระทบกับตัวเรามากกว่าที่คิด
[ ] เราอาจตัดสินใจผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะยึดติดกับการลงทุนในอดีต แทนที่จะพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันและโอกาสในอนาคต
[ ] เมื่อเราดึงดันทำสิ่งที่ไม่คุ้มค่าต่อไป เราก็จะเสียทั้งเงิน เวลา และความพยายามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็น
[ ] การยึดติดกับโครงการหรือการลงทุนที่ไม่มีอนาคต ทำให้เราอาจพลาดโอกาสอื่นๆ ที่อาจจะดีกว่าและคุ้มค่ากว่า
[ ] การพยายามทำสิ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จต่อไป อาจนำไปสู่ความเครียดและความกดดันทั้งต่อตัวเองและทีมงาน
[ ] ในกรณีของธุรกิจ การยึดติดกับโครงการที่ล้มเหลวอาจส่งผลต่อชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือขององค์กรในระยะยาว
ตัวอย่างคือ ในทางธุรกิจ ถ้าบริษัทยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ล้าสมัย เพราะได้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาไปมากแล้ว แม้จะรู้ว่าตลาดไม่ต้องการแล้วก็ตาม สุดท้าย บริษัทก็จะได้ผลิตภัณฑ์ที่ขายไม่ได้ เสียเวลาของทีมวิจัยและพัฒนาที่จะได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับบริษัทมากกว่านี้ หรือเจ้าของร้านอาหารยังคงเปิดร้านที่ขาดทุนต่อไป เพราะได้ลงทุนตกแต่งร้านไปมากแล้ว แทนที่จะตัดสินใจปิดร้านและหาโอกาสใหม่ สุดท้ายแล้วร้านก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้ และยังขาดทุนในจำนวนที่มากเกินที่จะรับไหวได้
ในแง่ของการลงทุน เรามักจะเห็นนักลงทุนที่ยังคงถือหุ้นที่ราคาตกต่ำลงเรื่อยๆ เพราะไม่อยากขายขาดทุน แทนที่จะตัดขาดทุนและนำเงินไปลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสเติบโตมากกว่า ทำให้ขาดทุนไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็มา Cut loss ที่ราคาต่ำมากๆ หรือในนักเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงถือครองที่ดินที่ไม่มีศักยภาพ เพราะซื้อมาแพงและไม่อยากขายขาดทุน สุดท้ายที่ดินนั้นก็ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
หรือถ้าจะให้ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวขึ้นอีกนิด การกินอาหารจนหมดทั้งที่อิ่มแล้ว เพราะเสียดายเงินที่จ่ายไป สุดท้ายเราอาจจะต้องเสียเงินให้กับมื้อนั้นถึงหลักหมื่น เพื่อรักษาโรคที่เกิดขึ้นจากการฝืนกินอาหารจนแน่นท้อง
แล้วเราจะหลุดจากกับดักนี้ได้อย่างไร?
การหลุดออกจากกับดักของความเสียดายนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะตราบใดที่เรายังมี “สติ” ความรู้สึกตัวที่ไว ฝึกสังเกตความคิดและการตัดสินใจของตัวเอง เมื่อต้องตัดสินใจอะไร ก็ลองถามตัวเองว่ากำลังคิดแบบติดกับดักอยู่หรือเปล่า และพยายามแยกแยะระหว่างอารมณ์และเหตุผลให้ออก เราก็จะไม่ก้าวเข้าสู่การอยู่ในกับดักความเสียดายนี้ได้มากขึ้น
ต่อมาคือ ไม่ว่าจะทำอะไร ให้ใช้ข้อมูลนำทาง ลองตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้ก่อนเริ่มโครงการหรือการลงทุนใดๆ ใช้ตัวชี้วัด (KPI) ในการประเมินความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประกอบการตัดสินใจ
ที่สำคัญคือ เราต้องมองไปข้างหน้าให้มากขึ้น ตัดสินใจโดยคิดถึงผลลัพธ์ในอนาคต ไม่ใช่สิ่งที่ลงทุนไปแล้วในอดีต อย่าลืมถามตัวเองว่า “ถ้าเริ่มต้นใหม่วันนี้ ฉันจะยังทำสิ่งนี้อยู่หรือไม่?” และพยายามพิจารณาต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) เสมอ
สุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือ การวางแผนสำรองอยู่เสมอ เพื่อให้มีทางเลือกเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามคาด รวมถึงการกำหนด “จุดออก” (Exit Point) ไว้ล่วงหน้า ว่าถ้าสถานการณ์เลวร้ายถึงระดับไหน จะตัดสินใจยุติ
มีกรณีศึกษามากมายของบริษัทดังที่เคยพยายามหลุดพ้นออกจากการอยู่ในกับดักความเสียดายมากมาย ซึ่งวันนี้เราจะยกตัวอย่างมา 2 บริษัทชั้นนำด้วยกัน
[ ] กรณีของ Netflix ในปี 2011 Netflix ตัดสินใจแยกบริการสตรีมมิ่งออกจากบริการให้เช่า DVD โดยตั้งชื่อว่า Qwikster ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับลูกค้าอย่างมาก แทนที่จะยึดติดกับการตัดสินใจเดิม Netflix กลับยอมรับความผิดพลาดและยกเลิกแผนนี้ภายในเวลาเพียงหนึ่งเดือน การตัดสินใจนี้ช่วยให้ Netflix รักษาฐานลูกค้าไว้ได้และสามารถพัฒนาธุรกิจสตรีมมิ่งจนประสบความสำเร็จอย่างสูงในปัจจุบัน
[ ] กรณีของ Amazon ที่เคยลงทุนพัฒนาสมาร์ทโฟน Fire Phone แต่เมื่อวางจำหน่ายกลับไม่ประสบความสำเร็จ แทนที่จะพยายามผลักดันต่อไป Amazon ตัดสินใจยุติการผลิตและขายสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ภายในเวลาเพียงหนึ่งปี แม้จะขาดทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์ แต่การตัดสินใจนี้ช่วยให้ Amazon สามารถนำทรัพยากรไปใช้ในโครงการอื่นที่มีศักยภาพมากกว่า เช่น Amazon Echo
จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ต่างก็เคยพบกับกับดักความเสียดาย และหลุดพ้นออกมาด้วยการมีสติ มีข้อมูล คิดถึงผลลัพธ์ในอนาคต และวางแผนสำรองอยู่เสมอ ถ้าหากเรากำลังเจอกับเส้นทางการตัดสินใจที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเรื่องงาน เงิน หรือชีวิตส่วนตัวก็ตาม การหลีกหนีจากกับดักความเสียดาย และหันมามองความเป็นจริง จะช่วยให้เรามีโอกาสที่จะสูญเสียได้น้อยที่สุด
กับดักความเสียดายเป็นหลุมพรางทางความคิดที่ทุกคนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นในการทำธุรกิจ การลงทุน หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวัน การรู้เท่าทันและเข้าใจกลไกของมันจึงเป็นสิ่งสำคัญ การตระหนักรู้ว่าเรากำลังติดกับดักนี้อยู่เป็นก้าวแรกที่สำคัญ จากนั้นการใช้ข้อมูลและเหตุผลในการตัดสินใจ การมองไปข้างหน้าแทนที่จะยึดติดกับอดีต และการกล้าที่จะยอมรับความผิดพลาดและเริ่มต้นใหม่ ล้วนเป็นกุญแจสำคัญในการหลุดพ้นจากกับดักนี้
อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงกับดักความเสียดายไม่ได้หมายความว่าเราควรยอมแพ้ทุกครั้งที่เจออุปสรรค การตัดสินใจที่ดีต้องอาศัยการวิเคราะห์อย่างรอบคอบ การประเมินสถานการณ์อย่างเป็นกลาง และการคำนึงถึงผลลัพธ์ในระยะยาว และท้ายที่สุด การเรียนรู้ที่จะรับมือกับกับดักความเสียดายไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เรามีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ดีขึ้นในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำไว้ว่า บางครั้งการยอมรับความผิดพลาดและเริ่มต้นใหม่ ก็เป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดและกล้าหาญที่สุดแล้ว!
ที่มา
– What Is a Sunk Cost—and the Sunk Cost Fallacy?: ALICIA TUOVILA, Investopedia – https://bit.ly/3S8s0Tb
– Sunk cost fallacy: Behavioral Economics – https://bit.ly/4cYbRHD
– How the sunk cost fallacy influences our decisions: Caeleigh MacNeil, Asana – https://bit.ly/3S3ZZvO
#trend
#economy
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast