NEWSTrendsเข้าใจ Oversharing แชร์เรื่องส่วนตัวมากไปทำไมรู้สึกแย่!?

เข้าใจ Oversharing แชร์เรื่องส่วนตัวมากไปทำไมรู้สึกแย่!?

เมื่อใดก็ตามที่มีเรื่องรบกวนใจ เคยสังเกตหรือไม่ว่า หากได้ระบายกับคนอื่นจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น?

‘พอลลี แคมป์เบล (Polly Campbell)’ นักวิจารณ์และนักเขียนหนังสือเพื่อการพัฒนาตนเอง ยืนยันว่า การแบ่งปันประสบการณ์ที่พบเจอมา หรือระบายความรู้สึกให้คนอื่นฟังบ้างนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพจิต เพราะถือเป็นวิธีคายพลังงานลบ และเพิ่มคุณค่าให้กับตนเองวิธีหนึ่ง ในทางตรงกันข้าม หากแสร้งว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี ทั้งๆ ที่มีเรื่องไม่สบายใจ ก็รังแต่จะทำให้เจ็บปวดและเป็นทุกข์เพิ่มขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้การเล่าให้คนอื่นฟังจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นจริง แต่หลายครั้งที่ผู้พูดมักจะอึดอัด กระอักกระอ่วน หรือกระวนกระวายใจในภายหลังเมื่อฉุกคิดได้ว่า ตัวเองเผลอแชร์เรื่องส่วนตัวมากเกินไป หรือ ‘Oversharing’ นั่นเอง

แล้วทำไมการเล่าเรื่องราวในชีวิตให้คนอื่นฟังถึงทำให้บางคนรู้สึกเหมือนทำอะไรพลาดไป?

จากงานวิจัยของสองนักวิจัยอย่าง ‘จอร์จ โลเวนสไตน์ (George Loewenstein)’ และ ‘แอรอน คาร์โบน (Aaron Carbone)’ เผยว่า การแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวในชีวิตให้กับผู้อื่นนั้นถือเป็นหนึ่งในสัญชาตญาณการเอาตัวรอดที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยการแชร์ที่มากเกินไปมักเกิดขึ้นขณะที่คนคนนั้นกำลังรู้สึกประหม่า มีอารมณ์แปรปรวน หรือตกอยู่ในภาวะอารมณ์ที่รุนแรง จนไม่ทันคิดไตร่ตรองเนื้อหาที่ควรหยิบออกมาเล่าอย่างถี่ถ้วนมากพอ เพราะต้องการรีบรักษาที่ยืนในสังคมหรือการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มไว้ ซึ่งการแชร์เรื่องราวของตัวเองมักพบเห็นได้บ่อยบนสื่อโซเชียลมีเดีย

นอกจากนี้ การแชร์เรื่องราวของตัวเองที่มากเกินไปยังถือเป็นกลไกรับมือกับความวิตกกังวล ความเครียด หรือความเจ็บปวดทางใจที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตบางรายจึงมีแนวโน้มที่จะเล่าหรือระบายเรื่องราวของตัวเองให้ผู้อื่นรับรู้ เพื่อให้ผู้อื่นสร้างความมั่นใจ พร้อมสร้างการตระหนักรู้ในตัวเองไปพร้อมๆ กันว่า ตัวเองไม่ได้อยู่คนเดียว

อย่างไรก็ตาม ผู้พูดจำนวนไม่น้อยก็อาจยังรู้สึกอึดอัด อับอาย หรือเสียใจในภายหลังที่เผลอพูดมากเกินไปหลังจบบทสนทนา แม้ว่าการเล่าหรือระบายเรื่องส่วนตัวให้คนอื่นฟังจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิต อีกทั้งยังช่วยสร้างความสนิทสนมกับผู้ฟังได้ในระดับหนึ่งก็ตาม

‘Oversharing’ นอกจากจะทำให้ผู้พูดรู้สึกอึดอัดกับตัวเองหลังจบบทสนทนาแล้ว การแชร์เรื่องราวส่วนตัวมากเกินไป ก็อาจเป็นการเปิดรับการตัดสินและวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่นที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้ หากถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ผู้อื่นใช้มีความรุนแรง

ดังนั้น แคมป์เบลแนะนำว่า ทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงการเผลอเล่าเรื่องราวในชีวิตส่วนตัวที่มากเกินไปได้ ด้วยการโฟกัสที่การฟังมากกว่าการพูด และเมื่อถึงคราวรับบทเป็นผู้พูด ให้ลองสูดหายใจเข้าลึกๆ เพื่อผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ รวมถึงลดความประหม่าอันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่การพูดที่มากเกินไป

จากนั้นให้หมั่นพิจารณาความรู้สึกของตัวเองหลังจบการสนทนา หากพบว่าตนเองรู้สึกกังวลที่พูดมากเกินไป ให้ลองฝึกทำใจให้เย็นและคิดก่อนพูดในครั้งหน้า

นอกจากนี้ อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดความอึดอัดและความกังวลหลังการสนทนาได้นั้น ก็คือการมีสติอยู่ตลอดเวลาว่า คนที่กำลังพูดด้วยคือใคร เช่น เป็นหัวหน้า ลูกน้อง หรือเพื่อนสนิท เป็นต้น หากเป็นเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้ แนวโน้มที่จะเกิดความอึดอัดหลังแชร์เรื่องราวส่วนตัวก็อาจจะต่ำกว่าการแชร์กับหัวหน้า ดังนั้น การมีสติ และค่อยๆ คิดก่อนพูดก็จะเป็นวิธีหลีกเลี่ยงความรู้สึกเชิงลบในภายหลังที่ดีที่สุด

เพราะคนเราต้องการเป็นที่ยอมรับ หลายครั้งจึงอาจเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองด้วยความประหม่าอันเกิดจากสัญชาตญาณการเอาตัวรอด แต่ผลกระทบที่ตามมาภายหลังมักเป็นความอึดอัด กังวล และเสียใจที่พูดออกไป ดังนั้น การฝึกตัวเองให้เป็นคนที่ใจเย็นและคิดก่อนพูดจึงนับเป็นวิธีป้องกันความรู้สึกเชิงลบดังกล่าวที่แน่นอน

อ้างอิง
– The Real Danger of Oversharing : Polly Campbell, Psychology Today – https://bit.ly/3WIaHu8
– How To Break Your Oversharing Habit : New U Therapy – http://bit.ly/412p1R6


#trend
#psychology
#relationships
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า