เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายของเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ พออายุเข้าสู่ช่วงวัยชรา ร่างกายก็จะขยับไม่ทันอย่างใจ เริ่มเคลื่อนไหวและใช้ความคิดได้ช้าลง เราอาจเข้าใจสัจธรรมในข้อนี้ดี จนเผลอคิดไปว่า การที่ผู้สูงอายุในครอบครัวอย่างพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายของเราจดจำเรื่องบางอย่างในอดีตไม่ได้ หรือมักพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ ดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่น่ากังวล
แต่ลองจินตนาการว่า หากวันหนึ่งคนที่เรารักเหล่านี้เกิดมี “ภาวะสมองเสื่อม” พวกเขาอาจจะไม่ใช่แค่ลืมว่าเมื่อกี้วางของไว้ที่ไหน แต่เป็นจำชื่อเราไม่ได้เลยขึ้นมา วันนั้นเราคงยิ้มไม่ออกแน่ๆ
“ภาวะสมองเสื่อม (Dementia)” คืออะไร?
“ภาวะสมองเสื่อม (Dementia)” คือ ภาวะที่สมองมีการทำงานแย่ลงจนกระทบกับความทรงจำ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ พฤติกรรม และอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากโรคต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ โรคอัลไซเมอร์ แม้ภาวะสมองเสื่อมจะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่ก็ยังสามารถพบในคนที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปีได้ด้วย
ในสมองของเรามีเซลล์ประสาทกว่า 86 ล้านล้านเซลล์ (มากยิ่งกว่าดวงดาวบนทางช้างเผือกเสียอีก) ถ้าเซลล์ประสาทภายในสมองของเราไม่สามารถรับ-ส่งข้อมูลกันได้ปกติ ก็จะส่งผลกระทบถึงการเชื่อมต่อของสมองกับร่างกายของเราด้วย
อาการของผู้มีภาวะสมองเสื่อม เช่น
[ ] ความทรงจำเลอะเลือน[ ] นึกคำที่จะพูดไม่ออก
[ ] เข้าใจคำพูดของคนอื่นยาก
[ ] ไม่สามารถทำกิจวัตรปกติได้เหมือนเก่า
[ ] บุคลิกและอารมณ์เปลี่ยนไป
นอกจากนี้ การศึกษาขององค์การอัลไซเมอร์ระหว่างประเทศ (Alzheimer’s Disease International) พบว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นปีละ 10 ล้านคนทุกปี และคาดว่าภายในปี 2030 จะมีผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมกว่า 78 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา
จากการสำรวจยังพบว่า ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมทั่วโลกอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 44.9 ล้านล้านบาท) และอาจแตะถึง 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 96.8 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030
แล้วเราจะสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้หรือไม่?
ชะลอ “ภาวะสมองเสื่อม (Dementia)” ด้วยเกมลับสมอง
งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร The American Medical Association (JMA) กล่าวว่า กิจกรรมการอ่านเขียนหนังสือ การเรียนรู้ทักษะใหม่ การลงเรียนพิเศษ การสร้างงานศิลปะและงานฝีมือ ล้วนสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีได้มากถึง 11%
กิจกรรมที่สามารถลดความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมในงานวิจัยนั้นยังรวมถึงการเล่นเกมอักษรไขว้ (Crosswords) เกมปริศนา เกมการ์ด หมากรุก และการใช้คอมพิวเตอร์ด้วย เพราะกิจกรรมเหล่านี้ให้ความรู้สึกถึงการแข่งขัน ผู้เล่นต้องปฏิสัมพันธ์กับเกม รวมถึงต้องอาศัยทักษะการจัดการข้อมูลและทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving) เข้ามาช่วยด้วย
นอกจากนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Australia’s Monash กล่าวว่า กิจกรรมท้าทายสมองและความจำดังกล่าว ส่งผลดีกับผู้ป่วยได้เหมือนๆ กัน และไม่เกี่ยวว่าผู้ป่วยจะมีฐานะ ประสบการณ์ หรือมีการศึกษาระดับใด
ในขณะเดียวกัน งานวิจัยที่ทำการสำรวจ 10,000 คน ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ก็ค้นพบอีกเรื่องที่น่าสนใจว่า การทำกิจกรรมเข้าสังคม อย่างการพบปะเพื่อนฝูงหรือพูดคุยกับคนในครอบครัว ไม่มีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมอย่างชัดเจน
เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ร่างกายของเราก็เสื่อมถอยลงไปตามวัยอย่างห้ามไม่ได้ ผู้สูงอายุบางบ้านอาจต้องเผชิญกับความกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงนี้ตามลำพัง การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุในครอบครัว คอยถามไถ่ และสนับสนุนพวกเขาด้วยการหากิจกรรมสนุกๆ ให้เขาทำจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
อ้างอิง
– Puzzles And Games Cut Dementia Risk—But Socializing With Friends And Family Barely Helps, Study Finds: Mary Whitfill Roeloffs – https://bit.ly/3pKpG9Z
– About Alzheimer’s & Dementia: Alzheimer’s Disease International (ADI)- https://bit.ly/44Hj0rG
#trend
#health
#dementia
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast