เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานับว่าเป็นช่วงขาขึ้นของวงการสตรีมมิง เพราะมีละครไทยและซีรีส์ต่างประเทศสนุกๆ มากมายออกอากาศแทบจะพร้อมกัน เช่น ละครโทรทัศน์ชุด ‘ดวงใจเทวพรหม’ ที่เพิ่งจบไป 2 เรื่อง ได้แก่ ลออจันทร์และขวัญฤทัย ซึ่งเรตติงของละครเรื่อง ขวัญฤทัย ก็พุ่งสูงจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็น New High ของประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีซีรีส์เกาหลีของช่อง tvN ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นช่องซีรีส์ขวัญใจมหาชน ทั้งแฟนคลับซีรีส์ชาวเกาหลีและแฟนคลับซีรีส์เกาหลีในต่างประเทศ อย่างเรื่อง Queen of Tears ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักของคู่สามีภรรยาที่ต้องเผชิญกับโรคร้าย โดยในตอนจบก็ได้สร้างสถิติใหม่ด้วยเรตติงสูงสุด 24.9% รวมถึงเรื่อง Lovely Runner ที่เล่าถึงความรักของไอดอลและรักแรกของเขา ซึ่งมีเรตติงไต่ขึ้นไปทุกสัปดาห์เองก็ดำเนินมาจนถึงตอนจบแล้วเช่นกัน
เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของคอละครไทยและคอซีรีส์เกาหลีที่เฝ้ารอติดตามเรื่องราวชีวิตของเหล่าตัวละครในดวงใจของพวกเขา อย่างไรก็ตามเมื่อเรื่องราวดำเนินมาจนถึงจุดจบ คนดูหลายคนก็คงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเสียดาย เสียใจ เศร้าใจ และอาจถึงขั้นรู้สึกไร้จุดหมายได้
เชื่อว่าอาการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับแฟนคลับละครเท่านั้น แม้แต่คอหนัง หรือหนอนหนังสือเองก็มักจะเคยรู้สึกเช่นนี้บ่อยๆ เมื่อเรื่องราวอันยาวนานดำเนินมาจนถึงตอนจบ และต่อให้เรื่องราวจะจบลงอย่างสวยงาม และตัวละครลงเอยด้วยความสุขก็ตาม แต่ทำไมเราถึงมีความรู้สึกเชิงลบอย่างนั้น?
เมื่อตอนอวสานเป็นสัญญาณของ ‘การบอกลา’
ความรู้สึกขมๆ รวมถึงความเศร้าและความเสียใจที่ซีรีส์ หนัง หรือนิยายเรื่องโปรดจบลงเกิดจากภาวะที่เรียกว่า ‘Post-Series Depression’ ซึ่งเป็นภาวะทางอารมณ์ที่พบในคนดูที่ตกหลุมรักเรื่องราวและตัวละครจากหนังสือหรือซีรีส์ และเมื่อเรื่องราวดำเนินมาจนถึงตอนจบ กลับกลายเป็นว่าคนดูกลับไม่อยากให้ตัวละครเหล่านั้นหายไป
เควิน ฟอสส์ (Kevin Foss) ผู้เชี่ยวชาญด้านความวิตกกังวลและเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ OCD บำบัดโรควิตกกังวลในแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า ที่คนเรารู้สึกเศร้าอย่างนั้นก็เพราะซีรีส์หรือนิยายเป็นการเล่าเรื่องราวอันยาวนานของชีวิตใครคนหนึ่ง โดยในระหว่างการดำเนินเรื่อง เราในฐานะคนดูก็ได้เอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวนั้น และเราก็ได้สร้างความรู้สึกผูกพันกับตัวละคร รวมถึงโลกสมมติที่ถูกแต่งขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว
เราชื่นชอบตัวละครเพราะความบันเทิงที่ได้รับ เช่น หัวเราะเมื่อตัวละครเล่นมุกตลก หรือทำพฤติกรรมเปิ่นๆ ออกมา บางครั้งเราก็ค่อยๆ สานสัมพันธ์กับตัวละครผ่านการดักฟังความคิดข้างในใจของตัวละคร และการได้เห็นพัฒนาการทางอารมณ์ของตัวละครเหล่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งเราก็เผลอเอาส่วนหนึ่งของตัวตนของเราไปเชื่อมโยงเข้ากับตัวละคร ทำให้เราตกหลุมรักและมีความรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราว ดังนั้นตัวละครที่เราชื่นชอบจึงไม่ต่างกับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก หรือคนในอุดมคติที่เราอยากใช้ชีวิตด้วย
ด้วยเหตุนี้เมื่อเรื่องราวดำเนินมาจนถึงตอนอวสาน นั่นจึงเป็นสัญญาณที่บอกเราว่าโลกอีกใบ และคนอีกกลุ่มที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยมานานหลายเดือนจนเริ่มผูกพันกำลังจะหายไป และนั่นหมายความว่าต่อให้เราใช้ชีวิตเหมือนเดิม เปิดสตรีมมิงแอปฯ เดิม หรือเปิดทีวีช่องเดิมในเวลาเดิม เราก็จะไม่เจอพวกเขาอีกแล้ว
ต่อสู้กับ Post-Series Depression เลิกซึม เลิกเศร้า แม้เรื่องราวจะจบลง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวแฟนตาซีเหนือจริง เรื่องรักโรแมนติก เรื่องดรามาสะเทือนอารมณ์ หรือเรื่องแอ็กชันที่สร้างความตื่นเต้นและเร้าใจ ยิ่งได้ติดตามเรื่องราวเหล่านี้อย่างใกล้ชิดมากเท่าไร ก็ยิ่งกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น และจินตนาการของเรามากขึ้น
ตามที่มาร์กาเร็ต รัทเธอร์ฟอร์ด (Margaret Rutherford) ผู้เขียน Perfectly Hidden Depression: How to Break Free from the Perfectionism that Masks Your Depression. ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ชีวิตปกติธรรมดาทั่วไปของเราไม่เปิดโอกาสให้ได้สัมผัสประสบการณ์แบบนั้นเท่าไร ทำให้คนดูมักเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในเรื่องราว เพื่อรับประสบการณ์เหนือโลกความจริงจากซีรีส์
ยิ่งไปกว่านั้นประสบการณ์ที่ล้ำลึกเหล่านั้น ยังทำให้เราสัมผัสถึงอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้ง โดยไม่สูญเสียตัวตนที่แท้จริงไป เช่น เมื่อตัวละครที่เรารักตายไป หรือตอนที่ตัวละครสูญเสียคนรักไป เราก็สามารถโศกเศร้าอย่างสุดหัวใจ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริง แต่ความสูญเสียไม่ได้เกิดขึ้นจริงนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เจเน็ตต์ เรย์มอนด์ (Jeanette Raymond) นักจิตวิทยาคลินิกจากแคลิฟอร์เนียกล่าวว่า ต่อให้ซีรีส์หรือนิยายเรื่องนั้นจะเป็นสุขนาฏกรรมที่ลงท้ายด้วยความรัก ความสำเร็จและความยินดี แต่เมื่อมันจบลงเราก็จะพบกับ ‘ความว่างเปล่า’ ร่างกายจึงตอบสนองด้วยความรู้สึกเชิงลบ เช่น ความหดหู่ ความเสียใจ และอาจเป็นความรู้สึกไร้จุดหมายได้
เรย์มอนด์ยังกล่าวอีกด้วยว่า โดยปกติแล้วชีวิตเศร้านิดเศร้าหน่อยก็ไม่เป็นไร เพราะความเศร้า หรือความกังวลเพียงเล็กน้อยจากภาวะ Post-Series Depression จะกระตุ้นให้เกิดสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด และคนเรามักจะหาทางออกมาจากโลกละครนั้นได้เอง หรือเราอาจจะใช้วิธีต่อไปนี้เพื่อเปลี่ยนความเศร้าหลังซีรีส์จบ ให้เป็นประสบการณ์ดีๆ ได้เช่นกัน
[ ] จดบันทึกเรื่องราวที่ได้ดูมา รวมถึงความรู้สึกประทับใจในซีรีส์เรื่องนั้น เพื่อสะท้อนว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องราวเหล่านั้นบ้าง แล้วเราจะเติบโตไปกับนิยาย ซีรีส์ รวมถึงความทรงจำที่มีค่าเหล่านี้ต่อไปได้อย่างไร
[ ] เล่าเรื่องราวให้ผู้อื่นฟัง โดยอาจจะเล่าผ่านกิจกรรมในชมรมคนรักซีรีส์ หรือพื้นที่ออนไลน์ที่รวบรวมคนที่มีงานอดิเรกและความชอบคล้ายกับเรา การเล่าแบ่งปันความรู้สึกที่ได้ดูซีรีส์จะช่วยให้เราได้เห็นประสบการณ์เชิงบวกจากบุคคลอื่น และทำให้เรายังสามารถรักษาความทรงจำดีๆ รวมถึงความตื่นเต้นที่ได้ดูซีรีส์เรื่องนั้นได้ด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น การพูดคุย หรือการระบายความรู้สึกจากซีรีส์กับคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเรา รวมถึงคนที่มีความชื่นชอบคล้ายๆ กันจะยิ่งทำให้เราหาประสบการณ์อื่นมาทดแทนความรู้สึกที่คั่งค้างจากซีรีส์เรื่องเดิมได้ง่ายขึ้น และการดูซีรีส์เรื่องใหม่ก็ช่วยให้เราออกจากภาวะ Post-Seires Depression ได้ดีขึ้นด้วย
เชื่อว่าความบันเทิงและความสนุกสนานที่ได้จากซีรีส์ รวมถึงเรื่องราวที่ไม่อาจประสบได้ในชีวิตจริงนั้นทรงพลัง และมีคุณค่าถึงขึ้นเปลี่ยนวันจันทร์ที่น่าเบื่อให้กลายเป็นวันจันทร์ที่แฟนคลับตั้งตารอคอย และเป็นเป้าหมายในการใช้ชีวิตได้เลย ทว่าความสุขที่มากล้นเหล่านั้นก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกซึม เหงา เศร้า และไม่รู้จะใช้ชีวิตอย่างไรเมื่อซีรีส์เรื่องเดิมไม่มีตอนต่อไปให้ดูอีกแล้ว
แต่เราสามารถเปลี่ยนความเศร้าใจเหล่านั้นให้เป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำได้ และเมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะไม่เศร้าเพราะซีรีส์จบอีกแล้ว อีกทั้งยังยิ้มออกมาได้ทุกครั้งเมื่อนึกถึงซีรีส์เรื่องโปรดในดวงใจตลอดกาล
อ้างอิง
– PSYCHOLOGISTS ON HOW TO FILL THE EMPTINESS YOU FEEL AFTER BINGEING A GREAT SHOW : Ian Lecklitner, Mel Magazine – https://bit.ly/3Vfllsb
– ฮอตติดเทรนด์โลก “ขวัญฤทัย” เรตติ้งอันดับ 1 ทั่วประเทศ ลุ้น “ไมกี้-ญดา” ฝ่าอุปสรรค 2 ตอนสุดท้าย : Thairath – https://bit.ly/4bAd1ZA
– ‘Queen of Tears’ finale sets record viewership ratings as tvN’s most-watched series ending : Lee Yoon-seo, ANN – https://bit.ly/3yzE3lx
#postseriesdepression
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast