คิดว่า ‘วันพิเศษ’ ของคนเรามีวันอะไรบ้าง?
คำตอบแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัวใครหลายคน แน่นอนว่าก็คงจะหนีไม่พ้นวันเกิด วันแต่งงาน รวมไปถึงวันเรียนจบ ซึ่งเป็นหนึ่งในวันที่นักเรียน-นักศึกษาทุกคนตั้งตารอ เพื่อที่หลังจากนี้จะได้ก้าวออกจากรั้วสถาบันศึกษาอย่างสง่างาม สู่โลกแห่งการทำงานเลี้ยงชีพของเหล่าผู้ใหญ่ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ ‘ดร. แมตต์ โกลเวียก (Dr. Matt Glowiak)’ อาจารย์คลินิกแห่งมหาวิทยาลัย Southern New Hampshire (SNHU) ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยว่า เหล่านักเรียน-นักศึกษาต่างใช้ชีวิตกว่า 20 ปี ภายในรั้วสถาบันศึกษา จนปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สถานที่ดังกล่าวได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว
ดังนั้น จึงมีบัณฑิตจำนวนไม่น้อยในแต่ละปีที่เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็เริ่มตั้งคำถามว่า ‘เราควรทำอะไรต่อ?’ และบางคนถึงขั้นเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตอย่างภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบ ที่มีชื่อเรียกว่า ‘Post-Graduation Depression’ หรือ ‘Post-Graduate Blues’ ไปพร้อมๆ กัน
ทำไมชีวิตหลังเรียนจบถึงยากเย็นแสนเข็ญ?
จากข้อมูลโดยอาจารย์พิเศษด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Southern New Hampshire อย่าง ‘ไรอัน อัลดริช (Ryan Aldrich)’ ระบุว่า ภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบมักเกิดจากความรู้สึกด้อยค่าหรือเศร้าโศกเสียใจ ที่มีต่อความต่างระหว่างการใช้ชีวิตในรั้วสถาบันศึกษาที่ใครหลายคนอาจมีผลการเรียนที่ดี กับการใช้ชีวิตนอกสถาบันศึกษาที่แทบพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ
อัลดริชกล่าวว่า “บรรดาผู้สำเร็จการศึกษาอาจประสบกับภาวะซึมเศร้านี้ เนื่องจากต้องพบกับความท้าทายในการหางานหลังเรียนจบ และอาจยังมองไม่เห็นว่า จะพัฒนาชีวิตตัวเองต่อไปอย่างไรหลังจากนี้” ซึ่งภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบจะมีความคล้ายคลึงกับวิกฤตวัยกลางคน ตรงที่ผู้ประสบจะเกิดความสงสัยในคุณค่าและจุดมุ่งหมายในชีวิตตัวเอง
นอกจากนี้ ภาวะซึมเศร้าดังกล่าวยังมาจากความคาดหวังที่จะสร้างความก้าวหน้าหลังเรียนจบ โดยอัลดริชอธิบายเพิ่มว่า “เรามักจะจินตนาการถึงภาพชีวิตที่เป็นสุข เช่น เรียนจบ ได้ทำอาชีพดีๆ ประสบความสำเร็จในชีวิตหลายๆ ด้าน แต่เมื่อภาพเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง จึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว จนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้า”
ดังนั้น สำหรับอัลดริช การตระหนักได้ว่าชีวิตอาจไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวังทั้งหมด จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เรามีสติ และยังคงมองโลกในแง่ดีต่อไปได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
สัญญาณเตือนภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบ
จากข้อมูลของนักจิตวิทยาคลินิก ‘ดร. แจ็กเกอลีน จอห์นสัน (Dr. Jacquelyn Johnson)’ สัญญาณเตือนถึงภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบนั้น อาจแสดงออกมาผ่านทางร่างกายหรือจิตใจก็ได้
สำหรับสัญญาณเตือนทางร่างกายนั้น บางคนอาจพบปัญหาการนอนหลับ เพราะภาวะซึมเศร้านี้อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าง่ายกว่าปกติ วันดีคืนดีอาจนอนหลับยาวจนถึงบ่าย หรือไม่ก็ไม่สามารถนอนหลับได้เลย ซึ่งอาจส่งผลให้วงจรการนอนหลับผิดปกติในระยะยาวได้
อีกทั้งภาวะนี้ยังส่งผลกระทบต่อความอยากอาหาร บางคนอาจเบื่ออาหารในขณะที่บางคนหิวตลอดเวลา ถึงขั้นที่การวางแผนเตรียมอาหารแต่ละมื้ออาจกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายไปเลย หากวางแผนเตรียมอาหารไม่ดี ก็อาจทำให้เกิดปัญหาน้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจตามมาได้ เพราะตนเองไม่ได้ใส่ใจในเรื่องโภชนาการเท่าที่ควร
นอกจากนี้ สัญญาณของภาวะข้างต้นอาจออกมาในรูปแบบของอาการมึนงงได้ ตั้งแต่ลืมของ มีปัญหาในการจดจ่อกับงาน ลามไปจนถึงการตัดสินใจเรื่องง่ายๆ ก็อาจแลดูยากขึ้นจนทำให้รู้สึกหนักใจตามมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เมื่อสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย ก็จะส่งผลให้ขาดแรงจูงใจที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างได้ง่าย เพราะรู้สึกเหนื่อยล้า และทุกๆ สิ่งก็ดูเหมือนจะมีแต่อุปสรรคเต็มไปหมด เช่น บัณฑิตก็อาจจะมีปัญหาในการผลักดันตัวเองให้ลุกขึ้นมาทำเรซูเม่เพื่อสมัครงาน
หากยิ่งเปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้างที่อาจได้งานหรือเริ่มตั้งตัวได้แล้ว ก็อาจก่อให้เกิดความสิ้นหวัง เริ่มคิดโทษหรือสมเพชตัวเองต่างๆ นานา ซึ่งความคิดลบๆ ดังกล่าวก็คือหนึ่งในสัญญาณเตือนที่ชี้ให้เห็นว่ากำลังตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบอยู่นั่นเอง
และภาวะนี้อาจร้ายแรงจนถึงขั้นที่ทำให้บางคนไม่เกิดความรู้สึกเชิงบวกใดๆ เลยขณะใช้ชีวิต แม้แต่งานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ชอบก็ไม่อาจทำให้รู้สึกเพลิดเพลินได้ เพราะอาจรู้สึกว่าการทำอะไรสักอย่างโดยไม่มีเพื่อนหรือคู่หูเคียงข้างเหมือนสมัยเรียนอีกนั้น เป็นเรื่องที่น่าเบื่อและไร้ความหมาย
บัณฑิตจะรับมือภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบได้อย่างไร?
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความคาดหวังที่มีต่อตัวเอง รวมถึงค่านิยมสังคม คือปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบ ดังนั้น หากการแก้ไขที่ค่านิยมสังคมเป็นเรื่องยาก สำหรับดร. จอห์นสัน การรับมือกับภาวะนี้จึงอาจเริ่มได้ที่ตัวเอง
ดร. จอห์นสัน แนะนำว่า สำหรับคนที่กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบและรู้สึกเหนื่อยล้าที่จะใช้ชีวิตในแต่ละวัน ให้ลองเริ่มจากการตั้งเป้าหมายเล็กๆ เช่น ตั้งเป้าหมายว่าจะตื่นขึ้นมากินอาหารเช้าทุกวัน นอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้ว ความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ยังช่วยเตือนให้เราเห็นว่า แม้ภาวะซึมเศร้าจะทำให้รู้สึกว่าทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นได้เสมอ
ผู้คนในสังคมจำนวนมากอาจตัดสินบัณฑิตที่ยังไม่เริ่มทำงาน อยากเรียนต่อ หรืออยากหยุดพักใช้ชีวิตสักปีสองปีในเชิงลบว่า เป็นพวกขี้เกียจ ไม่ก็ไร้ความรับผิดชอบ เมื่อเผชิญกับความกดดันมากๆ จึงไม่แปลกเลยที่หลายคนจะเริ่มมีสัญญาณของภาวะซึมเศร้า
ดังนั้น ดร. จอห์นสันจึงเน้นย้ำว่า แม้จะยาก แต่พยายามอย่าคิดเยอะ และอย่าเก็บคำพูดหรือความคิดเหล่านี้มาใส่ใจ เพราะการประสบกับภาวะซึมเศร้าหลังเรียนจบ หรือยังปรับตัวกับการใช้ชีวิตแบบใหม่ไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนขี้เกียจหรือคนไม่ดี
ทั้งนี้ หากบัณฑิตทั้งหลายกำลังประสบกับปัญหาการหางานยาก ดร. จอห์นสันยังแนะนำเพิ่มว่า ลองขอความช่วยเหลือจากสำนักงานศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย เช่น การขอคำปรึกษาด้านอาชีพ ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี
สำหรับนักเรียน-นักศึกษาที่ใช้ชีวิตกว่า 20 ปีภายในรั้วสถาบันศึกษามาตลอด การออกมาเผชิญกับโลกแห่งการทำงานในชั่วข้ามคืนหลังเสร็จสิ้นพิธีสำเร็จการศึกษา ย่อมท้าทายเป็นธรรมดา หนำซ้ำยังอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจได้มากกว่าที่ใครหลายคนคิด ดังนั้น อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป ทุกคนย่อมมีเวลาและเส้นทางชีวิตเป็นของตัวเอง บางเรื่องอาจไม่เป็นไปตามคาดคาดหวังก็ไม่เป็นไร ขอเพียงแค่มีสติรู้ความจริงข้อนี้ไว้และยังคงมองโลกในแง่ดี ก็นับว่าเพียงพอแล้ว
อ้างอิง
– What is Post-Graduation Depression and How to Overcome It – https://bit.ly/3OojJYR– Post-Grad Depression Is Real — Why It Happens and How to Cope – https://bit.ly/3AZuYUy
#trend
#psychology
#society
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast