“ผู้หญิงเก่งๆ หลายคนต้องละทิ้งอาชีพการงานหลังมีลูก”
นี่คือความจริงที่สะท้อนให้เห็นว่าโลกการทำงานในปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการเป็นแม่ จากการสำรวจล่าสุดพบว่า 43% ของผู้หญิงที่มีความสามารถ อยู่ในตำแหน่งที่สูงในองค์กร ต่างก็ต้องออกจากงานหรือพักงานชั่วคราวหลังจากการคลอดลูก ขณะที่ผู้ชายเพียง 1 ใน 7 เท่านั้นที่รู้สึกว่าการมีลูกส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ตัวเลขเหล่านี้ก็สะท้อนความไม่เท่าเทียมในโลกการทำงานได้อย่างชัดเจน
แม้โลกจะก้าวหน้าไปมาก แต่ความท้าทายของการเป็นแม่ที่ต้องทำงานไปด้วยกลับไม่ได้ลดน้อยลง คุณแม่มือใหม่หลายคนพบว่าตัวเองต้องเผชิญกับการเลือก ระหว่างการเป็นแม่ที่ดีหรือพนักงานที่ทุ่มเท ทั้งที่ความจริงแล้ว การเป็นแม่ไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในอาชีพ และการมีอาชีพที่มั่นคงก็ไม่ควรขัดขวางการมีครอบครัวที่อบอุ่น เรามาสำรวจกันว่าเหตุใดผู้หญิงจำนวนมากถึงต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบากนี้ และมีทางออกอะไรบ้างที่จะช่วยให้พวกเธอสามารถประสบความสำเร็จได้ทั้งสองด้าน
‘จะเลือกเป็นแม่ หรือจะเป็นพนักงาน’ ความท้าทายที่ไม่มีใครกล้าบอก
เบื้องหลังความสำเร็จของผู้บริหารหญิงหลายคน มักซ่อนเรื่องราวของการต่อสู้และการเสียสละไว้มากมาย หลายคนเคยอยู่ในจุดสูงสุดของอาชีพ เป็นผู้อำนวยการอายุน้อยที่สุดในบริษัทชั้นนำ ทำงานในแวดวงที่ผู้ชายเป็นใหญ่ และพิสูจน์ตัวเองจนได้รับการยอมรับ แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องการมีครอบครัว ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป
แม้องค์กรหลายแห่งจะพยายามช่วยเหลือ ทั้งอนุญาตให้ทำงานที่บ้าน ยืดหยุ่นเรื่องเวลา แต่ในความเป็นจริง การเป็นคนเดียวในทีมที่ต้องการความยืดหยุ่นที่พิเศษกว่าคนอื่น กลับทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ค่อยๆ สูญเสียบทบาทและอำนาจในการตัดสินใจลง หลายคนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น สูญเสียความมั่นใจ และสุดท้ายต้องตัดสินใจลาออกเมื่อมีลูกคนที่สอง เพราะการจัดการทั้งสองบทบาทพร้อมกันเป็นไปได้ยากในระบบการทำงานปัจจุบัน จากอุปสรรคที่มักพบเจอ เช่น
[ ] การต่อสู้กับเวลา – สำหรับคุณแม่หลังคลอดแล้ว ทุกนาทีคือการแข่งขัน ตั้งแต่การจัดสรรเวลาระหว่างการประชุมสำคัญกับการปั๊มน้ำนม การรีบเร่งออกจากที่ทำงานเพื่อไปรับลูกให้ทันเวลาเลิกเรียน การรับมือเมื่อลูกป่วยกะทันหัน ไปจนถึงกิจกรรมโรงเรียนที่มักจัดในเวลางาน
[ ] ภาระทางการเงิน – เงินช่วยเหลือการลาคลอดที่ไม่เพียงพอ แม้แต่ในสหราชอาณาจักรที่เป็นประเทศโลกที่หนึ่ง คุณแม่กลับได้รับเพียง 90% ของรายได้เฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วง 6 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นเหลือเพียง 151.97 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ขณะที่ค่าครองชีพและค่าจ้างพี่เลี้ยงเด็กพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายคนต้องชั่งน้ำหนักระหว่างรายได้กับค่าใช้จ่าย
[ ] แรงกดดันทางสังคม – อคติในที่ทำงานที่มองว่าแม่ลูกอ่อนทุ่มเทกับงานน้อยลง หรือการมีคำถามที่แฝงการตำหนิอย่างเช่น “แล้วใครดูแลลูกคุณ?” “ไม่เสียดายที่พลาดช่วงเวลาสำคัญของลูกหรือ?” ความคาดหวังเหล่านี้ ทำให้ผู้หญิงมีแนวคิดว่าตัวเองต้องเพอร์เฟ็กต์ทั้งในฐานะแม่และพนักงานไปโดยปริยาย โดยที่พนักงานชายอาจจะไม่ต้องพบกับความกดดันเช่นนี้
เรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้นน้อยครั้ง แต่เป็นความท้าทายที่แม่ทำงานจำนวนมากต้องเผชิญ แม้คนภายนอกอาจมองไม่เห็น แต่การพยายามรักษาสมดุลระหว่างการเป็นผู้นำในที่ทำงานและการเป็นแม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามและการเสียสละมากกว่าที่ใครจะจินตนาการได้
ความจริงที่ไม่สวยหรู เมื่อคุณแม่เลือกออกจากงาน
หลายคนมองว่าการออกจากงานมาดูแลลูกคือทางออกที่ดีที่สุดในขณะนั้น เพราะคุณแม่จะได้ทุ่มเทให้กับครอบครัวอย่างเต็มที่ แต่ความเป็นจริงกลับไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด เพราะหญิงสาวที่เคยประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานจำนวนไม่น้อยพบว่าตัวเองต้องต่อสู้กับความรู้สึกสูญเสียตัวตนที่เกิดขึ้นหลังจากการลาออกจากงาน
“ฉันร้องไห้ในห้องน้ำทุกครั้งที่ไม่มีใครสามารถรับฟังความหนักใจของฉันได้ ฉันคิดถึงช่วงเวลาที่มีคนรับฟัง มีคนแสดงความคิดเห็น หรือการทำงานที่มีคำตอบถูกผิดชัดเจน” หนึ่งในแม่ที่ลาออกจากงานเล่าด้วยน้ำตา เธอเป็นเพียงตัวอย่างของผู้หญิงอีกมากมายที่พบว่าแม้การดูแลลูกจะเป็นความสุข แต่การสูญเสียอิสรภาพทางการเงินและตัวตนในโลกการทำงานก็เป็นความเจ็บปวดที่ไม่มีใครเข้าใจ
สถิติยิ่งสะท้อนความจริงที่น่าตกใจ เพราะ 85% ของคุณแม่ต้องออกจากงานประจำภายใน 3 ปีหลังมีลูกคนแรก และเมื่อพวกเธอต้องการกลับเข้าสู่ตลาดงาน กลับพบว่าทุกอย่างเปลี่ยนไป ตำแหน่งผู้จัดการที่เคยทำนั้นต้องการผู้หญิงลดลงถึง 36% ในปัจจุบัน ในขณะที่ตำแหน่งงานธุรการและงานระดับเริ่มต้นกลับต้องการผู้หญิงเพิ่มขึ้น 44% สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงจำนวนมากต้องยอมรับตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิมเพื่อแลกกับความยืดหยุ่นในการดูแลครอบครัว
ผลกระทบไม่ได้จบแค่นั้น การหายไปจากตลาดแรงงานหลายปีทำให้ทักษะที่เคยมีกลายเป็นสิ่งล้าสมัย โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ช่องว่างในประวัติการทำงานกลายเป็นคำถามที่ต้องอธิบายในทุกการสัมภาษณ์ และการต้องเริ่มต้นใหม่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าไม่เพียงกระทบต่อความมั่นใจ แต่ยังส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว ทั้งเงินเดือน เงินเก็บ และเงินบำนาญในอนาคต
“ฉันไม่เคยคิดว่าการตัดสินใจออกจากงานจะส่งผลกระทบยาวไกลขนาดนี้” อดีตผู้จัดการฝ่ายการตลาดที่ลาออกมาดูแลลูกเป็นเวลา 5 ปีเล่า “ตอนนี้ลูกโตพอที่จะกลับไปทำงานได้แล้ว แต่ไม่มีใครกล้ารับคนที่หายไปจากวงการนานขนาดนี้ในตำแหน่งเดิม บางที่ถึงขั้นบอกว่าให้เริ่มต้นใหม่จากตำแหน่งผู้ช่วย ทั้งที่ฉันเคยบริหารทีมมาก่อน”
ก้าวต่อไปของสังคม ผู้หญิงมีทางเลือกที่ดีกว่านี้อีกไหม?
ในโลกปัจจุบันนี้ที่ 41% ของครอบครัวมีผู้หญิงเป็นผู้หาเลี้ยงหลัก การบังคับให้ผู้หญิงเลือกระหว่างครอบครัวกับอาชีพไม่ใช่ทางออกอีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากการยอมรับก่อนว่า “ผู้หญิงที่เป็นแม่ไม่ได้ทุ่มเทกับงานน้อยลง” พวกเธอแค่ต้องการระบบและสภาพแวดล้อมที่เข้าใจและสนับสนุนให้สามารถทำหน้าที่ทั้งสองด้านได้อย่างสมดุล
โควิด-19 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการทำงานแบบยืดหยุ่นเป็นไปได้และมีประสิทธิภาพ และการสำรวจพบว่าพนักงาน 2 ใน 3 ทำงานได้ดีขึ้นเมื่อทำงานจากบ้าน นี่คือโอกาสที่องค์กรต่างๆ จะปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำงานครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่าเวลานั่งโต๊ะ และการยอมรับว่าพนักงานสามารถมีชีวิตส่วนตัวที่มีความสุขควบคู่ไปกับการสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยม
ขณะเดียวกัน สังคมต้องเลิกมองว่าการดูแลลูกเป็นหน้าที่ของแม่เพียงฝ่ายเดียว การส่งเสริมให้พ่อมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูกอย่างเท่าเทียม จะไม่เพียงช่วยแบ่งเบาภาระของแม่ แต่ยังสร้างความผูกพันในครอบครัว และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกๆ ในการสร้างสังคมที่เท่าเทียมในอนาคต
ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องยอมรับว่าผู้หญิงสามารถประสบความสำเร็จได้ทั้งในฐานะแม่และคนทำงานมืออาชีพ เพื่อสร้างโลกที่ลูกสาวของเราไม่ต้องเลือกระหว่างความฝันกับการมีครอบครัวอีกต่อไป เพราะความสำเร็จที่แท้จริงไม่ควรมาพร้อมกับการเสียสละความสุขของคนในครอบครัว
อ้างอิง
– Why 43% of Women With Children Leave Their Jobs, and How to Get Them Back: Paulette Light: The Atlantic – https://bit.ly/4fa19yY
– Why Do Women Give Up Jobs On Marriage & Motherhood: NabanitaDhar – https://bit.ly/4eP0XWb
– The Uncomfortable Truth About Women’s Careers After Babies: Jessica Heagren, Voice At The Table – https://bit.ly/3YyCj6C
– What They Don’t Tell You About Having Kids And A Career: Deb Liu, Perspective – https://bit.ly/3C2Wq3I
– The Reality of Juggling Motherhood and a Career: Katie Alexander, Empoword Journalism – https://bit.ly/3YyCj6C
#คุณแม่วัยทำงาน
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast