คุณเคยลองถามตัวเองดูไหมว่า อะไรคืออาวุธที่มีไว้สำหรับจัดการความขัดแย้งหรือความเห็นต่าง?
ทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้งหรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต่างคนก็ต่างความคิดเห็นกัน ไม่ว่าจะกับสมาชิกภายในครอบครัว หรือกับเพื่อนร่วมงานก็ตาม หลายคนอาจจะคิดว่า ‘ข้อเท็จจริง’ หรือข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน คืออาวุธชั้นดีที่จะทำให้อีกฝ่ายยอมจำนนต่อการโต้เถียง เพราะความจริงเป็นสิ่งที่ปฏิเสธได้ยาก และไม่ว่าอย่างไร คนที่เห็นต่างก็ต้องเปลี่ยนมาเห็นพ้องต้องกันกับข้อเท็จจริงนั้นในท้ายสุด
อย่างไรก็ตาม สำหรับ ‘เคิร์ต เกรย์ (Kurt Gray)’ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคมแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา (University of North Carolina) ผู้เขียนหนังสือ ‘Outraged: Why We Fight About Morality and Politics and How to Find Common Ground’ ชี้ว่า
“ความเชื่อที่ว่าเราทุกคนสามารถเอาชนะคนเห็นต่างได้ด้วยข้อเท็จจริงนั้น เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดมากที่สุดในแง่ของศาสตร์แห่งการโน้มน้าวใจผู้อื่น”
อาวุธในการโน้มน้าวใจคนเห็นต่างที่แท้จริง
จากงานวิจัยในหัวข้อ ‘When the “Best Available Evidence” Doesn’t Win’ ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Management นั้น ได้มีการอธิบายถึงการเอาชนะคนเห็นต่างด้วยข้อเท็จจริงว่า อาจไม่ใช่วิธีโน้มน้าวใจผู้อื่นที่ดีมากนัก อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์เกรย์เผยว่า งานวิจัยนี้กลับไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร เพราะคนจำนวนไม่น้อยยังคงเชื่อมั่นว่า ข้อเท็จจริงนั้นคือเครื่องมือที่มีพลังในการโน้มน้าวใจผู้อื่นที่ดีเยี่ยม
แต่เนื่องจากคนทุกคนอาศัยอยู่ในระบบนิเวศสื่อที่มีความแตกต่างกัน เช่น บางคนรับข้อมูลข่าวสารจากโทรทัศน์ ในขณะที่บางคนรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อโซเชียลมีเดีย ดังนั้น ศาสตราจารย์เกรย์จึงเน้นย้ำว่า ความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงมุมมองหรือความคิดเห็นที่แตกต่างของอีกฝ่ายนั้นควรอยู่บนพื้นฐานของความเข้าอกเข้าใจว่า ข้อมูลที่อีกฝ่ายได้รับมาโดยตลอดและเชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริงนั้นอาจแตกต่างกับข้อมูลที่ตัวเองได้รับมาโดยตลอดเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ หากอยากโน้มน้าวใจให้คนที่เห็นต่างคล้อยตามความคิดของตัวเองได้ ความเข้าอกเข้าใจจึงเป็นอาวุธพื้นฐานที่สำคัญที่สุด
วิธีสนทนาและโน้มน้าวคนเห็นต่างให้ราบรื่น
เมื่อต้องการโน้มน้าวใจคนที่เห็นต่าง นอกจากการพยายามทำความเข้าใจจะเป็นสิ่งสำคัญแล้ว การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับอีกฝ่าย และไม่พูดในสิ่งที่ทำให้อีกฝ่ายดูแย่หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีนั้น ก็จะช่วยให้การสนทนาและโน้มน้าวใจเป็นไปอย่างราบรื่น โดยไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้งขึ้น
ซึ่งศาสตราจารย์เกรย์แนะนำว่า ทุกคนสามารถทำให้การโน้มน้าวและสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับคนเห็นต่างผ่านไปได้ด้วยดี จนประสบความสำเร็จได้ ด้วย 3 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1. พยายามทำความเข้าใจแรงจูงใจของอีกฝ่าย ด้วยการตั้งคำถาม แสดงความสงสัยหรือความอยากรู้ว่า ทำไมถึงคิดเช่นนั้น ได้รับข้อมูลมาจากแหล่งไหนบ้าง เป็นต้น
2. แสดงให้อีกฝ่ายเห็นว่า ตนเองเข้าใจเป็นอย่างดีว่าทำไมอีกฝ่ายจึงคิดต่าง แม้ความจริงจะไม่ได้เห็นด้วยกับความคิดของอีกฝ่ายก็ตาม
3. ใช้ความสัมพันธ์อันดีที่มีกับอีกฝ่ายให้เกิดประโยชน์ ด้วยการเปิดใจและอธิบายอย่างจริงใจระหว่างการสนทนาว่า ทำไมตนเองจึงไม่เห็นด้วยกับความคิดของคู่สนทนา โดยไม่มุ่งแต่จะโจมตีอีกฝ่ายด้วยข้อเท็จจริง
หากใช้ความเข้าอกเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีเป็นอาวุธในการสนทนากับคนเห็นต่าง แนวโน้มที่อีกฝ่ายจะเปิดใจรับฟังก็จะเพิ่มขึ้น เพราะพวกเขาจะรู้สึกว่าตัวเองได้รับความเคารพ และไม่ถูกทำให้ขายหน้าด้วยการใช้ข้อเท็จจริงโจมตี
การโน้มน้าวใจคนที่เห็นต่างให้ประสบความสำเร็จ โดยไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้งนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีความเข้าอกเข้าใจ และตระหนักว่า เราทุกคนล้วนมีชุดความคิดหรือผ่านการรับข้อมูลมาจากแหล่งที่ต่างกัน ดังนั้น หากอยากเปลี่ยนคนเห็นต่างให้เห็นพ้อง เราจึงควรพยายามทำความเข้าใจ ไม่ใช่เอาชนะด้วยข้อเท็จจริง เพราะการมุ่งแต่จะเอาชนะอาจทำให้เราแพ้ตั้งแต่ที่อีกฝ่ายยังไม่ทันได้เริ่มฟัง
อ้างอิง
– How to influence anyone who disagrees with you: ‘A big mistake we make is that we think facts are powerful,’ psychologist says : Aditi Shrikant, CNBC – https://bit.ly/42YbMlL
#trend
#psychology
#relationships
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast