NEWSTrendsย้อนเวลาสำรวจประวัติ ‘บาร์เกย์’ เวทีแห่งการเฉิดฉายและแรงสนับสนุนของชาว LGBTQ+ ยุค 1800s

ย้อนเวลาสำรวจประวัติ ‘บาร์เกย์’ เวทีแห่งการเฉิดฉายและแรงสนับสนุนของชาว LGBTQ+ ยุค 1800s

พอเริ่มต้นครึ่งปีหลังทีไร เราก็เริ่มจะเห็น ‘สีรุ้ง’ สาดสีสันอยู่ตามร้านค้า ห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งในหน้าสื่อออนไลน์ โลโก้ของแบรนด์ต่างๆ ก็จะปรากฏสีรุ้งให้เราเห็นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นสัญญาณว่า ‘Pride Month’ หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่ม LGBTQ+ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในยุคแรกๆ เรียกได้ว่าเป็นเป็นยุคมืดของ LGBTQ+ ความบอบช้ำที่พวกเขาได้รับจากสังคมทำให้หากไม่อยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ก็ต้องยืนหยัดต่อสู้จนถึงที่สุด ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าการต่อสู้นั้นจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน แม้ว่าท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ จะยอมรับและสนับสนุนตัวตนของชาว LGBTQ+  แม้แต่สื่อต่างๆ ก็ให้พื้นที่แก่ LGBTQ+ มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21

อย่างไรก็ตามการ แสดงตัวว่าเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศเพิ่งจะได้รับการสนับสนุนและเชิดชูจากสังคมเมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง

เพราะในเวลานั้นต่อให้สังคมรับรู้การมีตัวตนของพวกเขาแล้ว แต่อคติเกี่ยวกับเรื่องเพศและค่านิยมแบบเก่าๆ ก็ยังคงเป็นปัญหา ทำให้พวกเขาไม่อาจแสดงตัวตนได้อย่างภาคภูมิใจ

อย่างที่เคยเป็นมาตลอด 200 กว่าปีก่อน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศประสบความยากลำบากในการแสดงตัวตนต่อสังคม สับสนกับคำนิยามของตัวเอง ทรมานกับความคาดหวังของสังคมและคนใกล้ชิด

ยังไม่นับรวมการถูกเลือกปฏิบัติจากผู้คนและกฎหมาย เช่น กฎหมายเอาผิดคนที่รักเพศเดียวกัน หรือกฎหมายเอาผิดคนที่แต่งตัวไม่ตรงตามเพศกำเนิดของตนเอง ถูกกระทำไม่ต่างจากพลเมืองชั้นสอง จนต้องแสดงออกอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ปิดบังอัตลักษณ์ของตัวเองเอาไว้ การมีเพศสภาพที่ตรงข้ามกับบรรทัดฐานของสัมคม ทำให้พวกเขาไม่สามารถหา ‘พื้นที่’ ของตัวเองได้ง่ายนัก

บาร์เกย์ เวทีต่อสู้ในหน้าประวัติศาสตร์ของ LGBTQ+

ในยุคก่อนหน้านั้นที่ชาว LGBTQ+ ไม่อาจจะเปิดเผยแสดงตัวได้ มีธุรกิจเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่เป็นพื้นที่ ‘เกือบ’ ปลอดภัยสำหรับการแสดงตัวตนของพวกเขา นั่นก็คือ ‘บาร์เกย์’ บาร์กึ่งร้านอาหารอันเป็นสถานที่รวมตัวของชาว LGBTQ+ ในยามค่ำคืน

ที่กล่าวว่าเป็นสถานที่เกือบปลอดภัยนั่นเพราะว่าบาร์เกย์เป็นแหล่งรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ มีมาตั้งแต่ยุคที่คนเหล่านี้ไม่อาจเปิดเผยตัวตนสู่สังคมได้ จึงเป็นคล้ายๆ กับบาร์ลับ หรือร้านลับ ซึ่งรู้กันแค่เฉพาะชาวเกย์เท่านั้น แต่ก่อนบาร์เกย์จะตั้งอยู่ในตรอกซอยที่เล็กและมืด เปิดให้บริการเฉพาะตอนกลางคืน การหลบเร้นอยู่ในมุมมืดของสังคมเช่นนี้ทำให้กลายเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมสูง และอคติทางเพศในตอนนั้นก็ยิ่งทำให้คดีที่ชาวเกย์เป็นเหยื่อไม่ได้รับการเหลียวแลหนักเข้าไปอีก

ชุมชนของ LGBTQ+ ในบาร์เกย์มีจุดเริ่มต้นเมื่อไรนั้นไม่มีหลักฐานบอกไว้แน่ชัด แต่จากเอกสารต่างๆ ก็พอจะทราบได้ว่าในช่วง 1800s ก็มี ‘การบุกค้น’ บาร์เกย์แล้ว ซึ่งข้อหาที่ทางตำรวจใช้ในการตรวจค้นก็มักจะเป็นข้อหาทางเพศบ้าง การมั่วสุมบ้าง หรือค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายบ้าง

โดยในปี 1810 บาร์ White Swan ในกรุงลอนดอนถูกบุกค้นด้วยข้อหาละเมิดกฎหมายทางเพศ และลูกค้าที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดคือชาวเกย์ ส่วนทางฝั่งของสหรัฐฯ ยุคของบาร์เกย์นั้นเริ่มต้นขึ้นช่วงปลาย 1800s อย่างไรก็ตาม ร้านเหล่านี้ก็กลับเผชิญปัญหาคล้ายๆ กันกับบาร์ในลอนดอน ที่มีการบุกค้นจากทางการ และถูกหนังสือพิมพ์โจมตีจนต้องปิดตัวไปไม่ต่างกัน

การบุกค้นและสั่งปิดบาร์เกย์ยังคงดำเนินอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งปี 1949 The Black Cat บาร์สำหรับกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศในซานฟรานซิสโก ที่มีชื่อเสียงจากการแสดงของนักแสดงและนักเรียกร้องสิทธิ LGBTQ+ อย่าง José Sarria ถูกดำเนินคดีในข้อหาสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้อื่น ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไม่มีกำหนด ด้วยข้อหาเป็น ‘สถานที่สังสรรค์ของกลุ่มคนรักร่วมเพศ’

โดย José เป็นทหาร LGBTQ+ ในกองทัพของสหรัฐฯ แน่นอนว่าในยุคนั้นทหารที่ชอบเพศเดียวกันถือว่ามีความผิด ต้องขึ้นศาลทหาร และถูกขับออกจากกองทัพ ทางกองทัพเองก็พยายามอย่างยิ่งไม่ให้นายทหารใต้บังคับบัญชาไปข้องเกี่ยวกับสถานเริงรมย์ของ LGBTQ+

แต่ José ก็ยังยืนกรานว่าการชื่นชอบเพศเดียวกันนั้นไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย และเขาเองยังเป็นคนที่ผลักดันสิทธิของทหารที่เป็น LGBTQ+ ไม่ให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสอง หลังจากเรื่องราวถึงโรงถึงศาลอยู่นาน ท้ายที่สุดในปี 1950 The Black Cat ก็ชนะคดีและได้จุดประกายความหวังให้กับชาว LGBTQ+

แต่หลังจากนั้นไม่นาน ในปี 1966 การต่อสู้ของ LGBTQ+ บนสังเวียนบาร์เกย์ อันเป็นพื้นที่เพียงหนึ่งเดียวของพวกเขาก็ได้เริ่มต้นอีกครั้ง เมื่อนิวยอร์กซิตีออกกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่คนที่ชื่นชอบเพศเดียวกัน เมื่อบาร์และร้านค้าต่างๆ ปฏิเสธที่จะให้บริการแก่ลูกค้า LGBTQ+ กลุ่มเรียกร้องสิทธิชาวเกย์ยุคแรกที่ชื่อว่า Mattachine Society จึงประท้วง และโต้กลับการออกกฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติด้วยกิจกรรม ‘Sip-in’ ขึ้นที่ Julius Bar

กิจกรรม ‘Sip-in’ เป็นการต่อต้านข้อกฎหมายเลือกปฏิบัติจากรัฐบาลของชาวเกย์ ที่ห้ามไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้วยกันเข้าไปนั่ง (sit-in) จิบ (sip) เครื่องดื่ม หรือเข้าไปรวมตัวกันในบาร์ที่ยังพร้อมให้บริการแก่กลุ่มลูกค้า LGBTQ+ ทาง Mattachine Society พยายามเจรจากับหลายๆ บาร์แต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งมาถึง Julius Bar บาร์เกย์แห่งหนึ่งในนิวยอร์กที่ยังคงสนับสนุนสิทธิของชาว LGBTQ+ พวกเขาจึงรวมตัวกันที่บาร์แห่งนั้น

หลังจากนั้นกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนก็ได้ออกมาให้ความเห็นว่าชาว LGBTQ+ มีสิทธิใช้บริการในบาร์ ร้านต่างๆ ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายเลือกปฏิบัติ และยืนยันว่าการรักเพศเดียวกันไม่ใช่ความผิดปกติ (Disorder) ร้านอาหารและบาร์เกย์ในสหรัฐฯ ก็เริ่มมีจำนวนมากขึ้น จนในปี 1966 รัฐแคลิฟอร์เนียประกาศให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถรวมตัวกันได้ในร้านอาหาร บาร์ และที่สาธารณะ ทำให้ชาว LGBTQ+ ได้รับอิสระในการรวมตัวสังสรรค์อย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน โดยในยุคนั้นร้านที่ถือเป็นไอคอนของบาร์เกย์ก็คือ The Stonewall Inn ซึ่งจะกลายเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาว LGBTQ+ ในเวลาต่อมา

‘The Stonewall Riots’ เสียงปืนนัดแรก สู่การปลดแอกของชาว LGBTQ+

เหตุจลาจลในร้าน Stonewall Inn เกิดขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจเข้าจับกุมลูกค้าที่แต่งกายไม่เหมาะสมตามเพศกำเนิด ชาวเกย์จึงโต้กลับการใช้อำนาจในทางที่ผิด และการเลือกปฏิบัติของตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มใช้ความรุนแรงในการปราบปราม ส่วนชาวเกย์ก็ต่อสู้กลับจนเหตุการณ์บานปลาย การยืนหยัดต่ออำนาจรัฐของชาวเกย์ในครั้งนั้นกินเวลาถึง 6 วัน

หลังจากเหตุการณ์สงบลง เริ่มเกิดกระแสการเรียกร้องสิทธิให้แก่กลุ่ม LGBTQ+ อย่างกว้างขวางทั่วสหรัฐฯ ในปี 1970 ชาว LGBTQ+ และผู้คนที่ให้การสนับสนุนความหลากหลายทางเพศก็ได้จัดกิจกรรมแห่งความภาคภูมิใจขึ้นในเดือนมิถุนายน เพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ Stonewall และนี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเทศกาลไพรด์ในเดือนมิถุนายนของทุกปี

ในปี 2000 ประธานาธิบดีคลินตันประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของเกย์และเลสเบียน หลังจากนั้นในปี 2009 การแสดงออกของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เริ่มเห็นคำศัพท์คำอื่นๆ เช่น ไบเซกส์ชวล หมายถึง ผู้ที่ชื่นชอบทั้งเพศตรงข้ามและเพศเดียวกับตนเอง หรือทรานส์เจนเดอร์ หมายถึง คนที่ผ่าตัดแปลงเพศตามที่ตนเองต้องการ ประธานาธิบดีโอบามาจึงประกาศให้เป็นเดือนของเกย์ เลสเบียน ไบเซกส์ชวล และทรานส์เจนเดอร์ด้วย พื้นที่สื่อและธุรกิจต่างๆ ก็เริ่มให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา

Advertisements
Advertisements

เมื่อเสียงของ LGBTQ+ ค่อยๆ ดังกระหึ่ม

ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 เรียกได้ว่าเป็นยุคเริ่มต้นของ LGBTQ+ ในสื่อกระแสหลักอย่างแท้จริง เริ่มมีภาพยนตร์ที่กล่าวถึงตัวละคร LGBTQ+ หรือเห็นปรากฏในโฆษณาบนสื่อกระแสหลัก อย่างเช่นคู่รักเกย์ในโฆษณา Dining Room Table ของบริษัทเฟอร์นิเจอร์ IKEA ที่ปล่อยออกมาในปี 1994

ในคลิปโฆษณา นักแสดงคู่รักชาวเกย์เล่าถึงเฟอร์นิเจอร์ของอีเกีย และในตอนท้ายพวกเขาพูดอีกว่า “We’ve got another leaf waiting for when we really start getting along” ซึ่งคำว่า Leaf ในที่นี้แปลว่า Commitment ซึ่งหมายถึงการย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกัน การแต่งงาน หรืออาจหมายถึงการวางแผนจะมีลูกด้วยกันนั่นเอง ซึ่งนี่เป็นลักษณะครอบครัว LGBTQ+ ที่ถือว่าสมัยใหม่มากๆ ในยุคนั้น

โดยอีเกียปล่อยโฆษณาตัวนี้ออกมา ฉายแค่เวลาหลังจากสามทุ่มครึ่งเป็นต้นไป (เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่เด็กดูทีวี) แต่ก็ยังถูกกระแสต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม ทั้งการคว่ำบาตรเลิกซื้อสินค้า และถูกขู่วางระเบิดด้วย

แม้จะไม่ใช่แบรนด์แรกที่ปล่อยโฆษณาเจาะกลุ่มลูกค้า LGBTQ+ แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกที่ช่วยส่งเสียงของ LGBTQ+ ให้ดังยิ่งขึ้น เพราะในช่วง 1990s ครอบครัวคู่รักชาว LGBTQ+ ในสหรัฐฯ เริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีรายงานสถิติระบุว่าครอบครัวกลุ่มนี้มีรายได้ครัวเรือนสูงขึ้น ทำให้อีเกียยังคงยืนหยัดให้การสนับสนุนทุกๆ ความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบตามค่านิยมหรือไม่ก็ตาม

ในยุคที่ความหลากหลายทางเพศ และสิทธิของชาว LGBTQ+ เป็นเรื่องปกติในสังคม ไม่จำเป็นต้องหลบซ่อนปิดบัง แต่เพราะมีตัวแปรที่หลากหลายมากเหลือเกิน ทั้งเรื่องทุนนิยม ศีลธรรมแบบเก่า ความถูกต้อง และสิทธิเสรีภาพในปัจจุบัน ทำให้เราอาจตัดสินได้ยากว่าการตลาดแบบไหนเป็นการโหนกระแสไพรด์ แล้วแบรนด์ไหนคือคือแบรนด์ที่สนับสนุน LGBTQ+ นี้อย่างแท้จริง

แต่การเคารพในสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ ไม่ว่าจะมีรสนิยมทางเพศแบบไหน ควรเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังอย่างจริงจัง ไม่ใช่แสดงออกผ่านการตลาดเพียงชั่วคราวแค่ในเดือนเดียวเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน บาร์เกย์ในปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นแหล่งหลบซ่อนตัวจากความคาดหวังของสังคมอย่างเก่าอีกต่อไปแล้ว กลับกลายเป็นสถานที่ใครก็ตามสามารถแวะเวียนไปนั่งดื่มหรือหาความบันเทิงได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักดื่มตัวยงหรือไม่ เป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือเป็นเพียงคนที่หาสถานที่พบปะเพื่อนฝูงยามค่ำคืนก็ตาม

อ้างอิง
– The History of How Gay Bars Became the Battleground for LGBTQ+ Rights : Ryan Philemon, PROVI – https://bit.ly/3IU4nJq
– Gay Bars 101: The History of Gay Bars : Mike Givens, freddie – https://bit.ly/42s9XJZ
– Case study: IKEA : Marketing the Rainbow – https://bit.ly/3C8R2Js
– Ikea’s “Dining Room” Features First Openly Gay Couple in Commercial : Val DiFebo, A’s – https://bit.ly/45LwJzh
– Jose Sarria : National Park Service, National Park Service – https://bit.ly/3OTcE42

#trend
#pridemonth
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า