ขณะที่คนรุ่นอื่นกำลังกังวลเกี่ยวกับทักษะการสื่อสารของ Gen Z ที่มีประสิทธิภาพน้อยลงเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและวิถีชีวิตช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ผลสำรวจจาก OneDigital กลับเผยให้เห็นว่ากว่า 60% ของ Gen Z เองก็กำลังเสี่ยงโรควิตกกังวลเพิ่มขึ้นจากการ “Hey-hanging” วัฒนธรรมการสื่อสารที่เป็นพิษของคนรุ่นก่อนด้วยเช่นกัน
รู้จัก “Hey-hanging” ทักมาแล้วหายไป ทิ้งความกังวลไว้ให้คนอ่าน
เคยเจอไหม? เพื่อนที่ทักมาแค่ “มึง” แล้วหายไป ลูกค้าที่ทักเข้ามาแค่ “สวัสดีค่ะ/ครับ” แล้วไม่พิมพ์อะไรมาเพิ่ม หรือแม้กระทั่งเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าที่ทักมาแค่ว่า “น้องคะ/ครับ” แล้วก็หายเข้ากลีบเมฆ ราวกับว่าส่งข้อความแล้วก็โยนโทรศัพท์ออกนอกโลกไปเลย
แต่บางครั้งพวกเขาก็ไม่จบแค่หนึ่งข้อความ ฟังดูแล้วเหมือนจะดีขึ้นถ้าข้อความถัดมาไม่ใช่คำว่า “โทรหาพี่หน่อยนะ” ฟังดูอาจจะสมเหตุสมผลสำหรับบางคนในการทักทายด้วยคำทักทายทั่วไปก่อนจะเข้าสู่ประเด็น ทว่าการปล่อยให้คนรับสารรอโดยไร้จุดหมายว่าประเด็นที่ว่าจะมาเมื่อไร และเป็นประเด็นแบบไหน ยิ่งทิ้งทวนความกังวลให้คนรับสารรู้สึกว่า ‘เกิดเรื่องอะไรขึ้นหรือเปล่า’ เขากำลังจะมีปัญหาหรือไม่
การทักแล้วหายไป ทิ้งคนอ่านไว้กลางความสับสนแบบนี้เองที่เรียกว่า “Hey-hanging” มาจากคำว่า ‘Hey’ ที่เป็นคำทักทายทั่วไปเหมือนกับสวัสดี และคำว่า ‘Hanging’ ที่แปลว่าการแขวน ดังนั้นการทักแล้วหายแบบนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการแขวนคนอ่านให้ค้างเติ่งอยู่บนความกังวลในหัว
แล้วมันมีปัญหาอย่างไร? เขายังไม่ส่งข้อความมาต่อก็ไปทำงานอื่นก่อนสิ เพื่อนร่วมงานที่มีประสบการณ์มาแล้วหรือหัวหน้างานก็อาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องจัดการตัวเองไป นั่นเป็นเพราะคนรุ่นก่อนสร้างฐานอำนาจที่ค่อนข้างมั่นคงและพอจะต่อรองในสังคมได้แล้ว
เปรียบเทียบกับ Gen Z ที่ยังคงใหม่ในที่ทำงานและสังคมแบบผู้ใหญ่ ทำให้อำนาจในการเจรจาต่อรองน้อยกว่าเพื่อนร่วมงานที่มีประสบการณ์มาแล้ว และน้อยกว่าหัวหน้าที่มีอำนาจในการ ‘Feedback’ อย่างชัดเจน ความไม่เท่ากันทางพลวัตของอำนาจ (Power Dynamic) นี่เองที่ทำให้วัฒนธรรมการสื่อสารแบบทักมาแล้วหายไปกลายเป็นสงครามประสาทที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่เสี่ยงต่อโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) มากขึ้น
นอกจากจะส่งผลกระทบกับตัวบุคคลโดยตรงแล้ว ยังลามไปถึงการสื่อสารในองค์กรภาพรวมที่มีประสิทธิภาพลดลง เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะโรควิตกกังวลเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพในการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น สมาธิ ความคิดสร้างสรรค์ ลดน้อยลงด้วย
อีกเหตุผลหนึ่งคือความล่าช้าจากการรอคอย “สารที่สมบูรณ์” จากผู้ส่งทำให้พนักงานไม่มีอิสระในการจัดลำดับความสำคัญของงานด้วยตนเอง แต่ก็ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาไม่ได้ กล่าวคือเป็นสภาพแวดล้อมการทำงานที่ขาดความยืดหยุ่นและคล่องตัวนั่นเอง
“Hey-hanging” ทำทำไม? ทักมาแล้วไม่พูดอะไรต่อ
วัฒนธรรมการสื่อสารแบบทักมาแล้วหายไปเป็นสไตล์การสื่อสารหนึ่งที่นิยมในหมู่ Gen X และ Baby Boomer ที่เติบโตมากับการสื่อสารซึ่งหน้ามากกว่าออนไลน์ เป็นเหตุให้การสื่อสารผ่านเทคโนโลยีออนไลน์เป็นอุปสรรคที่เพิ่มความล่าช้าและติดขัด จำกัดการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพลดลง หลายคนจึงเลือกใช้การโทรคุยมากกว่า
ถึงอย่างนั้นก็ยังอยากรักษามารยาทและความเกรงใจว่าคู่สนทนาที่เขาอยากคุยด้วยนั้น สะดวกที่จะคุยในเวลานั้นหรือไม่ หรือต้องการให้คุยในเวลาที่คนรับสารสะดวก คนเหล่านี้จึงเลือกที่จะทักเพื่อลองดูเชิงว่าคนที่อยากคุยด้วยว่างคุยกับเขาไหม เพราะมีสมมติฐานว่าการตอบแชตหมายถึงสะดวกคุยนั่นเอง
แน่นอนว่าสำหรับพวกเขา การทักมาเพื่อรอให้ว่างแล้วตอบนั้นเป็นการหวังดีและรอคอยว่าถ้าว่างเมื่อใดก็คงมาตอบ แต่สำหรับคนรับสารอย่าง Gen Z ที่การอ่านแชตไม่ใช่การบอกว่าว่าง และเวลาว่างก็อาจจะไม่ได้อ่านแชต การทักมาด้วยสมมติฐานเช่นนั้นจึงกลายเป็นการสื่อสารสวนทางไปแทน
กรณีที่สองคืองานและการแจ้งเตือนที่ท่วมท้นจนเบี่ยงเบนความสนใจผู้ส่งสาร สาเหตุนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยเพราะปัจจุบันทุกแพลตฟอร์มล้วนพยายามจะส่งการแจ้งเตือนมารายวินาทีกันเลยทีเดียว แพลตฟอร์มทำงานและการแชตคุยอย่าง LINE, Slack, Discord หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ก็เต็มไปด้วยข้อความของเพื่อนร่วมงานคนอื่นหรือโฆษณา
หลายครั้งจึงเกิดเหตุการณ์ที่ส่งข้อความทักไปแล้ว แต่มีแจ้งเตือนอื่น งานอื่น หรือเหตุอื่นแทรกเข้ามาจนทำให้ข้อความค้างเติ่งไว้เพียงคำทักทายที่ไร้บริบท แม้ว่าจะเป็นการแขวนคนอ่านไว้กับความกังวลโดยไม่เจตนา แต่คงจะดีกว่าหากส่งอีกสักข้อความเป็นสัญญาณให้รู้ว่าเขาติดพันและจะกลับมาสื่อสารอย่างดีอีกครั้ง
ทว่าบางครั้ง “Hey-hanging” หรือการทักแล้วหาย ไม่ตอบ ไม่บอกบริบท ก็เป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึง “Micro-aggression” หรือการสร้างสงครามประสาทเพื่อปล่อยให้อีกคนว้าวุ่น ตกอยู่ในพายุความคิดในหัวด้วยเจตนา เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมกลั่นแกล้งที่สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะเมื่อผู้ส่งสารเป็นหัวหน้า หรือรุ่นพี่ที่ทำงาน
การกลั่นแกล้งเช่นนี้มักได้ผลดีในวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีแนวคิดการเคารพความอาวุโสและผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าอย่างเข้มข้นกว่าวัฒนธรรมตะวันตก กลายเป็นปัญหาฝังรากลึกที่ทำให้องค์กรไม่สามารถปฏิรูปกระบวนการภายในและยกระดับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้เท่าที่คิด
ปัญหา “Hey-hanging” เป็นสิ่งที่องค์กรสามารถรับมือได้ด้วยการสร้างแนวทางการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อเป็นเสาให้พนักงานยึดเกาะว่า “เรากำลังทำถูกต้องอยู่หรือเปล่า” ยกตัวอย่างเช่น หากองค์กรการสร้างแนวทางการสื่อสารครั้งหนึ่งจะต้องประกอบไปด้วยที่มาของประเด็น ประเด็น และสิ่งที่อยากได้จากผู้รับการ เมื่อเพื่อนร่วมงานส่งข้อความที่ไม่เข้าเกณฑ์มาก็สามารถปล่อยผ่านไปโดยไม่กังวลว่าจะได้รับการประเมินการทำงานที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั่นเอง
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกวัย แม้ว่าการเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันอาจทำให้สไตล์การสื่อสารเกิดสวนทางกันได้อย่างที่กล่าวไปข้างต้น แต่การปรับตัวเข้าหากันก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้และผลักดันสังคมให้เดินหน้าต่อในที่สุด
ที่มา
– WTF is hey-hanging? (and why is it stressing everyone out): Hailey Mensik, Worklife – https://bit.ly/4aIQFEc
– 4 Reasons Why ‘Hey-Hanging’ At Work Increases Employee Stress: Bryan Robinson, Ph.D., Forbes – https://bit.ly/3yPx0oU
#trend
#worklife
#heyhanging
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast