“เด็กสมัยนี้เขียนอีเมลไม่เป็น” เป็นอีกหนึ่งคำครหาที่แปะป้ายลงบนกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ‘เด็กสมัยนี้’ เช่นเดียวกับปัญหาช่องว่างระหว่างวัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เรียกได้ว่ามีผู้ใหญ่ในโลกการทำงานจำนวนมากออกมาแสดงถึงความกังวลต่อทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษาที่ดูคล้ายจะ ‘ถดถอย’ ของเด็กรุ่นใหม่จำนวนมาก
ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เคยเกิดขึ้นในวงการทำงานทั่วไป ที่ผู้จ้างงานออกมากล่าวว่าอีเมลสมัครงานของเด็กรุ่นใหม่นั้นแสดงออกถึงความสะเพร่า ไร้ประสบการณ์และไม่ขวนขวายในการหาวิธีการเขียนอีเมลสมัครงานที่ถูกต้อง แม้แต่วงการนักเขียนเองก็พบกับคอมเมนต์จากผู้อ่านรุ่นใหม่ว่าสะกดคำผิด ใช้คำพลาด เมื่องานเขียนดังกล่าวมีการใช้สำนวนภาษาที่ไม่เป็นภาษาปาก หรือสุภาษิตที่ได้เล่าเรียนกันตอนประถมวัย
แต่ความเป็นจริงแล้วข้อกังวลนี้จะเป็นปัญหาสังคมจริงหรือไม่? หรือท้ายที่สุดแล้วมันอาจเป็นเพียงวิถีชีวิตและแนวคิดที่แตกต่างตามช่วงวัย ภาพจำและความกังวลของผู้เฝ้ามองนั้นเกิดมาจากไหน? และอนาคตของโลกคนทำงานจะเปลี่ยนไปอย่างไร? ไปเฝ้าสังเกตการณ์พร้อมกันกับ Mission To The Moon ได้เลย
คนรุ่นใหม่ “บกพร่อง” ทักษะการสื่อสารจริงหรือ?
“เวลาคุยกับใคร ฟังน้ำเสียงเขาด้วยนะ” หากนำประโยคนี้ไปคุยกับเจเนอเรชันมิลเลเนียลขึ้นไปคงพบกับสีหน้างุนงงราวกับจะถามกลับว่า ‘ใครๆ ก็รู้อยู่แล้วไหม’ แต่สามัญสำนึก (Common sense) ดังกล่าวไม่สามารถนำมาเป็นสมมติฐานเมื่อสนทนากับเด็กรุ่นใหม่อย่าง Gen Z หรือ Gen Alpha ได้
ในหลักสูตรแนวทางการสื่อสารขณะประชุมผ่านวิดีโอคอลของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Deloitte และ PwC ยังมีการระบุไว้อย่างชัดเจนถึงการจับน้ำเสียงของคู่สนทนาระหว่างการประชุม เพราะมันสามารถนำไปสู่สารที่แตกต่างกัน เน้นย้ำให้เห็นว่าทักษะการสื่อสารบางประการที่คนรุ่นก่อนเติบโตขึ้นมาตามธรรมชาติไม่ได้รับการถ่ายทอดด้วยวิธีเดียวกันสู่คนรุ่นใหม่ จนต้องนำมาเป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
อย่างที่รู้กันดีว่าสภาพแวดล้อมการเติบโตของคนรุ่นใหม่เต็มไปด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เอื้อต่อ ‘การสื่อสารทางเดียว’ (One-way communication) มากกว่าการสื่อสารแบบโต้ตอบ (Two-way communication) ที่ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal skill)
ความเป็น ‘Digital Native’ นี้ไม่เพียงแต่จะเพิ่มอัตราเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าและอาการวิตกกังวลในหมู่วัยรุ่นเท่านั้น แต่เด็กวัยรุ่นที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติกและโรคสมาธิสั้นก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งของแถมจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีดังกล่าวก็ส่งผลกับวิธีการแสดงออกทางสีหน้าและท่าทาง รวมไปถึงความสามารถในการเรียนรู้และใช้ภาษาโดยตรง
แต่โลกยังคงเล่นตลกกับคนรุ่นใหม่ เมื่อโควิด-19 แพร่กระจายกว้างขวางจนทำให้โอกาสในการเรียนรู้สังคมของคนรุ่นใหม่หายไปร่วม 3-5 ปีเต็มๆ หากเป็นประถมต้นก็คงเติบโตเป็นประถมปลายหรือมัธยมต้นแล้ว เรียกว่าช่วงเวลาที่หายไปได้ช่วงชิงโอกาสในการพัฒนาทักษะการสื่อสารตามธรรมชาติเช่นเดียวกับคนรุ่นก่อนๆ ไปด้วยเช่นกัน มิหนำซ้ำยังทวีคูณจำนวนผู้มีอาการสมาธิสั้นและออทิสติกมากขึ้นอีกด้วย
ภาษาวัยรุ่นไปคนรุ่นใหม่ก็ไม่ปลื้ม!
แม้ว่าสไตล์การสื่อสารของคนรุ่นใหม่จะหันหน้าเข้าหาความเป็นกันเองมากขึ้น สังเกตจากผลสำรวจจาก Exclaimer ระบุว่า Gen Z กว่า 58% คิดว่าการใช้คำศัพท์แสลงหรือภาษาเป็นกันเองในอีเมล ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกับแบรนด์ยากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ Baby Boomers กว่า 54% ที่เห็นตรงกันข้าม
ถึงอย่างนั้นคนรุ่นใหม่ก็ใช่ว่าจะยึดติดกับภาษาเป็นกันเองจนเป็นความเคยชินและเลือกจะละทิ้งการใช้ภาษาทางการไปเสียทีเดียว โดย Gen Z 42% คิดว่าภาษาแสลงทำลายภาพลักษณ์ของแบรนด์ ใกล้เคียงกับ Millenials (43%) และ Gen X (50%) ขณะที่ Baby Booners เชื่อว่าภาพลักษณ์เสียหายกว่า 60%
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากรู้สึก “ฝืน” กับอีเมลที่พยายามใช้ภาษาวัยรุ่นมากจนเกินไป ทำให้รู้สึก ‘จักจี้’ และยากที่จะเชื่อมโยง ถึงอย่างนั้น แบรนด์ที่ใช้ภาษาเป็นกันเองก็ยังมีแนวโน้มที่จะได้รับการตอบกลับจากคนรุ่นใหม่ถึง 57%
หรือถึงเวลาแล้วที่คนทำงานรุ่นใหม่จะต้องเปลี่ยนแปลง?
จากสถานการณ์ดังกล่าวอาจมีหลายคนคิดว่าความไม่คล่องทางทักษะสื่อสารของคนรุ่นใหม่จะกลายเป็น “ปัญหาในที่ทำงาน” หรือเปล่าหากพิจารณาตั้งแต่การเขียนอีเมลสมัครงาน หากรับเข้ามาก็อาจจะเป็นปัญหาการสื่อสารภายในองค์กร ความไม่เป็นมืออาชีพในการสื่อสารของเด็กรุ่นใหม่ที่มักมาพร้อมความมั่นใจไร้ที่มาอาจสร้างบรรยากาศไม่น่าชม
แต่การกล่าวว่ามันเป็น “ความบกพร่องของคนรุ่นใหม่” และใช้เป็นข้ออ้างในการปิดกั้นบุคลากรอาจเป็นเหตุในทีมเสียโอกาสที่จะได้บ่มเพาะพนักงานคุณภาพดาวรุ่งอีกหนึ่งคนไปเลยก็เป็นได้ เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อหลายคนยังเป็นเด็กจบใหม่ คำถามว่า “การสื่อสารแบบไหนที่ถูกต้อง” ก็ย่อมเป็นเส้นทางเริ่มต้นของคนทำงานทุกคนเช่นเดียวกัน
ยิ่งไปกว่านั้น หลายองค์กรยุคใหม่มีการปรับรูปแบบการใช้ภาษา บ้างก็เน้นความสั้นกระชับ บ้างก็แปลจากภาษาต่างประเทศผ่านเครื่องมือออนไลน์หรือ AI นอกจากจะทำให้เส้นมาตรฐานการใช้ภาษาในการสื่อสารเบลอกว่าเมื่อก่อนแล้ว ยังสร้างความสับสนใจการเรียนรู้บรรทัดฐานการสื่อสารในที่ทำงานให้กับคนรุ่นใหม่อีกด้วย
ผลสำรวจเมื่อปี 2023 จาก Barclays LifeSkills พบว่าคนอังกฤษ 70% พูดเป็นเสียเดียวกันว่ารูปแบบการใช้ภาษาในที่ทำงานนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมากนั้นเปลี่ยนไป โดย 73% ให้ความเห็นว่าการสื่อสารในองค์กรนั้นลดความเป็นทางการลง และ 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามดังกล่าวระบุว่าบรรยากาศที่เปลี่ยนไปเกิดจากสไตล์การสื่อสารของ Gen Z หรือเด็กรุ่นใหม่ในที่ทำงาน
ผลสำรวจดังกล่าวสร้างคำถามว่าสไตล์การสื่อสารที่ดูแล้วจะ “ขาดทักษะ” ของคนรุ่นใหม่นั้นเป็นปัญหา หรือเป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงที่คนทำงานมาก่อนอาจจะต้องขยับตัวกันดูบ้าง อย่างไรก็ตามท่ามกลางการทำงานกับคนหลากหลาย การเรียนรู้สไตล์การใช้ภาษาที่หลากหลายย่อมทำให้สารที่อยากจะส่งไปถึงมือและใจของผู้รับได้มากกว่าอย่างแน่นอน เช่นนั้นแล้วการขยับเข้าหากันและกันทีละก้าวอาจเป็นทางออกของความกังวลก็เป็นได้
ที่มา
– The Gen Z Communication Crisis: Jasmin Glasheen, The Robin Report – https://bit.ly/3Yl77bk
– Language at work is becoming more casual — thanks to Gen Z: Sophie Kinderlin, CNBC Make It – https://cnb.cx/3WCAunT
– The generational email effect: Exclaimer – https://bit.ly/3YeQpdv
#worklife
#communicationskills
#genz
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast