สมัยก่อน หากพูดถึงวิธีการสื่อสารกับผู้อื่นเมื่อไม่ได้พบหน้ากันโดยตรง หลายคนก็คงนึกถึงการพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่ผู้คนยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายจวบจนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในสมัยนี้ที่ตัวเลือกและช่องทางในการสื่อสารมีความหลากหลายมากขึ้น คนรุ่นใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะคน Gen Z จึงหันมาสื่อสารด้วยการพิมพ์ข้อความในช่องแชตกันมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ลดปริมาณการสื่อสารด้วยเสียงผ่านทางโทรศัพท์แบบเรียลไทม์ลงไป
แม้การลดหรือหลีกเลี่ยงการพูดคุยทางโทรศัพท์อาจเป็นเรื่องปกติเวลามีวิธีสื่อสารรูปแบบอื่นเข้ามาทดแทน แต่ในความจริงแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ คน Gen Z จำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มจะใช้วิธีพิมพ์ข้อความแทนการโทรศัพท์นั้น เป็นเพราะพวกเขากำลังเผชิญกับ ‘Telephobia’ หรืออาการกลัวการคุยโทรศัพท์อยู่นั่นเอง
รู้จัก ‘Telephobia’ อาการกลัวการคุยโทรศัพท์ของคนรุ่นใหม่
‘ลิซ แบ็กซ์เตอร์ (Liz Baxter)’ ที่ปรึกษาด้านอาชีพของวิทยาลัยนอตทิงแฮม (Nottingham College) ในสหราชอาณาจักร เผยว่า ‘Telephobia’ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนัก ซึ่งผู้มีอาการจะรู้สึกกลัวและวิตกกังวลถ้าจะต้องโทรศัพท์หาคนอื่น หรือรับสายโทรศัพท์จากใครสักคน
เพราะด้วยฟังก์ชันที่หลากหลายของโทรศัพท์ในยุคนี้ ที่มีทั้งการพิมพ์ส่งข้อความ ไปจนถึงการอัดเสียง คนรุ่นใหม่จึงสูญเสียทักษะการพูดคุยผ่านโทรศัพท์ไป จนทำให้ขาดความมั่นใจในการโทร.ออกหรือรับสายตามมา โดยจากการสำรวจกลุ่มเด็กในวิทยาลัยนอตทิงแฮมที่จำเป็นต้องสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์ ผลปรากฏว่า มีเด็กตกรอบสัมภาษณ์หลายคนเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ความกลัวและวิตกกังวลยังอาจเกิดขึ้นได้จากความไม่มั่นใจในเสียงของตัวเอง ไปจนถึงความไม่รู้ว่าอีกฝ่ายกำลังแสดงสีหน้าหรือมีความรู้สึกอย่างไรระหว่างที่ฟังพวกเขาพูด ดังนั้น หากจะต้องคุยโทรศัพท์ กลุ่มคน Gen Z ก็อาจรู้สึกสบายใจกว่าถ้าได้เปิดกล้อง และสามารถอ่านสีหน้าหรือเห็นท่าทางของอีกฝ่ายไปด้วย เพื่อจะได้รู้สึกมั่นใจยิ่งขึ้นว่า ตัวเองไม่ได้กำลังถูกคนอื่นตัดสินหรือหัวเราะเยาะอยู่
รับมือกับความกลัวและกังวลเมื่อต้องคุยโทรศัพท์อย่างไร?
ความกลัวเมื่อต้องคุยโทรศัพท์นั้น แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะไม่ว่าอย่างไร การคุยโทรศัพท์ก็ยังนับว่าเป็นวิธีการติดต่อสื่อสารกับคนไกลที่สะดวกสบายและรวดเร็วมากกว่าการพิมพ์ข้อความ หรืออัดเสียงส่งทางช่องแชตอยู่ดี
ซึ่งแบ็กซ์เตอร์ก็ได้แนะนำว่า การคุยโทรศัพท์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และเราทุกคนก็สามารถเปลี่ยนการคุยโทรศัพท์ให้กลายเป็นเรื่องง่ายๆ ได้ โดยเริ่มที่การเลือกคุยในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบและปลอดภัย ไม่มีเสียงหรือใครเข้ามารบกวนหรือขัดจังหวะได้
จากนั้นให้ลองสูดลมหายใจเข้าลึกๆ กลั้นหายใจเล็กน้อย แล้วค่อยผ่อนลมหายใจออกช้าๆ เพราะวิธีนี้จะช่วยลดความตื่นเต้น ทำให้หัวใจกลับมาเต้นด้วยความเร็วปกติและสร้างความสงบขึ้นในใจเรายิ่งขึ้น
ที่สำคัญ หากเป็นการคุยโทรศัพท์ในเรื่องสำคัญ เช่น สัมภาษณ์งาน แบ็กซ์เตอร์ยังเน้นย้ำว่า ข้อดีของการคุยโทรศัพท์โดยไม่เห็นหน้าในเรื่องสำคัญนั้น ก็คือเราจะสามารถจดบันทึกหรือเขียนสคริปต์ในการพูดให้กับตัวเอง เพื่อลดความประหม่าและความกังวลในการตอบคำถามลงได้ ดังนั้น หากเรารู้จักใช้ประโยชน์จากการคุยโทรศัพท์โดยไม่เห็นหน้า ด้วยการเตรียมความพร้อมให้กับตัวเอง เรื่องท้าทายสำหรับคนรุ่นใหม่อย่างการคุยโทรศัพท์ ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาและปกติเหมือนที่เคยเป็นมาตลอดในที่สุด
แม้การคุยโทรศัพท์จะสร้างความกลัวและความวิตกกังวลให้กับคนรุ่นใหม่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่สิ่งสำคัญที่ควรระลึกไว้อยู่เสมอก็คือ ทุกคนมีอำนาจและสามารถควบคุมการสื่อสารลักษณะนี้ได้
หากบทสนทนาระหว่างคุยโทรศัพท์ก่อให้เกิดความรู้สึกแย่ๆ ที่เกินจะรับไหว อย่าลืมว่าเราเองสามารถกดวางสายได้ทุกเมื่อที่รู้สึกไม่สบายใจ เพราะทุกคนล้วนมีอำนาจที่จะควบคุมการสื่อสารที่อาจกระทบความรู้สึกได้ด้วยการจบบทสนทนา ซึ่งเมื่อใดที่เราเข้าใจว่าตัวเองมีอำนาจนี้อยู่อย่างถ่องแท้ เมื่อนั้นการคุยโทรศัพท์ก็จะไม่น่ากลัวอีก
อ้างอิง
– Gen Z battling with phone anxiety are taking telephobia courses to learn the lost art of a call : Sawdah Bhaimiya, CNBC – https://cnb.cx/419NtP3
#trend
#society
#technology
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast