NEWSQuiet Burnout สู่ Quiet Quitting ปากบอกไม่เป็นไรทั้งที่หมดไฟ สัญญาณเตือนที่องค์กรต้องฟัง

Quiet Burnout สู่ Quiet Quitting ปากบอกไม่เป็นไรทั้งที่หมดไฟ สัญญาณเตือนที่องค์กรต้องฟัง

ในชีวิตการทำงานสมัยนี้ แน่นอนว่า ‘ภาวะหมดไฟ’ อาจจะเป็นปัญหาที่ผ่านหูผ่านตาผู้ใหญ่วัยทำงานส่วนใหญ่กันมาบ้าง หรือถึงขั้นที่บางคนอาจจะกำลังประสบอยู่ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ยังมีภาวะหมดไฟอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าจับตา นั่นคือ ‘ภาวะหมดไฟแบบเงียบ’ หรือ ‘Quiet Burnout’ นั่นเอง

‘ภาวะหมดไฟแบบเงียบ (Quiet Burnout)’ คืออะไร?

จากข้อมูลของการจำแนกโรคระหว่างประเทศ (International Classification of Diseases: ICD) ที่เผยแพร่โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization ; WHO) เผยว่า ภาวะหมดไฟไม่ใช่โรคทางการแพทย์ แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงานที่ไม่สามารถจัดการได้สำเร็จ

และอาการทั่วไปของ Quiet Burnout นั้นคล้ายคลึงกับภาวะหมดไฟแบบปกติ ตรงที่จะทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทางร่างกาย ตลอดจนสภาพอารมณ์ไม่มั่นคง แต่ Quiet Burnout มักจะถูกสังเกตเห็นได้น้อยกว่า และลุกลามไปอย่างเชื่องช้า จึงมักจะถูกมองข้ามอยู่เสมอ

ภาวะ Quiet Burnout ที่อาจนำไปสู่ Quiet Quitting

นักจิตวิทยาชาวเยอรมันอย่าง ‘บริจิตต์ โบเซนคอฟ (Brigitte Bösenkopf)’ อธิบายว่า ผู้ประสบภาวะ Quiet Burnout นั้น มีแนวโน้มที่จะปกปิดอาการ แล้วพยายามทำตัวปกติ ยิ้มแย้มแจ่มใส รักษาภาพลักษณ์ของการเป็นคนตั้งใจทำงาน ทำงานเก่ง และมีความสุขกับชีวิตเอาไว้ โดยไม่ต้องการยอมรับว่ามีบางสิ่งผิดปกติ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว พฤติกรรมปกปิดอาการข้างต้นเป็นกลไกการทำงานของ Quiet Burnout ดังนั้น จึงอาจทำให้ผู้อื่นสังเกตเห็นความผิดปกติค่อนข้างยาก และไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

อาการของ Quiet Burnout นั้น นอกเหนือจากความเหนื่อยล้าทางร่างกายและสภาพอารมณ์ไม่มั่นคง เช่น อารมณ์แปรปรวนแล้ว การไวต่อการกระตุ้นทางประสาทสัมผัสก็นับเป็นหนึ่งในอาการของภาวะดังกล่าวด้วย เช่น รู้สึกไม่ดีเมื่อได้ยินเสียงบางเสียง เห็นแสงสว่างจ้าๆ หรือต้องสัมผัสและอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น

โดยโบเซนคอฟยืนยันว่า ความเครียดสะสมจากปัญหาหรือความขัดแย้งที่ไม่ได้รับการแก้ไขในที่ทำงานนี่เองที่เป็นสาเหตุหลักของ Quiet Burnout เดิมทีผู้ที่มีอาการมักจะเคยเป็นคนที่ต้องคอยช่วยเหลือผู้อื่น จนละเลยความต้องการของตัวเองไปโดยปริยาย ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังถูกเอาเปรียบ จึงเกิดเป็นความเหนื่อยล้าทางจิตใจตามมา

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้มีอาการนี้ยังมีแนวโน้มเข้าใจผิดอีกว่า Quiet Burnout เป็นเพียงอารมณ์ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หากไม่ได้รับการรักษาบรรเทา อาการก็อาจรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ได้

ฉะนั้น สำหรับ ‘ดร. คริสติน่า โจชิม (Christina Jochim)’ รองประธานสมาคมจิตบำบัดแห่งเยอรมนีแล้ว ทั้งตัวผู้มีอาการ รวมถึงคนรอบข้างเอง ควรสำรวจ ใส่ใจ และให้ความสำคัญกับสัญญาณเตือนเล็กๆ เหล่านี้ แม้อาจเป็นเรื่องยากก็ตาม เพราะภาวะข้างต้นอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของภาวะซึมเศร้า หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

ที่สำคัญ ภาวะหมดไฟดังกล่าวยังอาจนำไปสู่ปรากฏการณ์ Quiet Quitting ที่อาจทำให้องค์กรต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยากยิ่งกว่าการสังเกตสัญญาณเตือนของ Quiet Burnout ด้วย

แก้ไขปัญหา Quiet Burnout = ยับยั้งปัญหา Quiet Quitting

Quiet Quitting ไม่ได้หมายถึงการลาออกจากงานไปอย่างเงียบๆ ทว่าหมายถึง การยังทำงานที่ได้รับมอบหมายอยู่ แต่ไม่มีความกระตือรือร้น หรือความต้องการอยากทุ่มเทให้กับงานนั้นอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งผู้เขียนหนังสือ ‘Burnout: The Secret to Unlocking the Stress Cycle’ อย่าง ‘เอมิเลีย นาโกสกี้ (Amelia Nagoski)’ ได้ให้ข้อมูลว่า Quiet Quitting คือวิธีที่หลายคนใช้ฟื้นตัวเองจากภาวะหมดไฟ แม้จะไม่ส่งผลดีต่อความก้าวหน้าขององค์กรก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ จากข้อมูลของ ‘Horton International’ บริษัทจัดหางานระดับโลก จึงอธิบายว่า หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานควรสังเกตสัญญาณเตือนถึงภาวะ Quiet Burnout ของพนักงานแต่ละคนอย่างสม่ำเสมอ ผ่านการสังเกตการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของพนักงาน เช่น มีอารมณ์แปรปรวนหรือไม่ ไปจนถึงหมั่นเช็กประสิทธิภาพการทำงาน

หากพบว่ามีพนักงานคนใดคนหนึ่งแสดงสัญญาณเตือนของ Quiet Burnout ออกมา ให้หาโอกาสรับฟังและพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เช่น ถามว่ารู้สึกอย่างไร อยากทำอะไร เป็นต้น เพราะการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาอาจช่วยสะกิดเตือนให้เห็นว่า ตนเองกำลังละเลยหรือมองข้ามพนักงานคนไหนไปหรือเปล่า เมื่อพูดคุยจนพบต้นตอปัญหาแล้ว การช่วยคิดหาทางออก สนับสนุน ตลอดจนให้คำแนะนำด้วยความใส่ใจ ไม่ทิ้งปัญหาของอีกฝ่ายไว้ด้านหลัง ก็จะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา Quiet Burnout และยับยั้งการเกิดปัญหา Quiet Quitting ที่กระทบต่อองค์กรตามมาได้

Quiet Burnout คือภาวะหมดไฟที่โดยส่วนมากมักเกิดขึ้นจากปัญหาในที่ทำงาน ที่อาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นอย่าง Quiet Quitting ฉะนั้น เจ้านายและพนักงานทุกคนควรหมั่นสังเกตกันและกันเสมอๆ ซึ่งหากสังเกตเจอ ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้สร้างการเปลี่ยนแปลง ขจัดความขัดแย้งที่เรื้อรัง และปรับปรุงสภาพการทำงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในที่ทำงานของพนักงาน ให้อยู่ทำงานร่วมกันได้ในระยะยาวต่อไป

อ้างอิง
– Quiet burnout: How to recognise it and what to do about it : Elena Hartmann, The Star – https://bit.ly/4fQyorL
– Quiet Quitting : Horton International – https://bit.ly/3Vd8iqz

#trend
#psychology
#worklife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า