NEWSTrendsรู้จัก ‘โคโดคุชิ’ (Kodokushi) การตายอย่างโดดเดี่ยวของผู้สูงอายุจากความเหงาและแยกตัวออกห่างจากสังคม ปัญหาเรื้อรังที่ญี่ปุ่นต้องเร่งจัดการ

รู้จัก ‘โคโดคุชิ’ (Kodokushi) การตายอย่างโดดเดี่ยวของผู้สูงอายุจากความเหงาและแยกตัวออกห่างจากสังคม ปัญหาเรื้อรังที่ญี่ปุ่นต้องเร่งจัดการ

แดนอาทิตย์อุทัยในภาพจำของใครหลายคนเป็นอย่างไร? บ้านเมืองที่สวยงาม ธรรมชาติสุดตระการตา หรือเทคโนโลยีอันล้ำสมัย? ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพที่งดงามส่องสว่างทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นความจริงแท้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเหตุนั้น ประเทศญี่ปุ่นจึงมักจะเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวหลายประเทศทั่วโลกเสมอ

แต่ถ้าหากลองมองให้ลึกลงไปถึงความเป็นอยู่ของผู้คนอีกสักนิด สังคมก็จะสามารถรับรู้ได้ถึงสัญญาณเตือนที่ค่อยๆ เผยตัวออกมาให้เห็นทีละน้อยว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเร่งให้ความสำคัญกับสิ่งที่เคยเห็นผ่านตาฟังผ่านหูแต่กลับปล่อยผ่านมาตลอดสักที

‘ญี่ปุ่น’ คือประเทศที่ใครต่อใครต่างก็รู้กันดีว่า เริ่มเข้าสู่สังคมประชากรผู้สูงอายุมาตั้งแต่ ปี 1970 แล้ว แต่ถึงอย่างนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังคงเดินหน้าปรับนโยบาย แก้ไขปัญหา หาวิธีรับมือกับสภาพประเทศที่เต็มไปด้วยประชากรผู้สูงอายุอย่างเสมอต้นเสมอปลายตลอดมา

ด้วยสภาพบ้านเมืองที่มีครบสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชากรกลุ่มนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรหากภาพผู้สูงวัยที่เดินยิ้มแย้มตามท้องถนนจะทำให้ใครก็ตามที่เห็นเข้าก็คงจะเข้าใจว่ากลุ่มคนเหล่านี้กำลังมีความสุขกับช่วงบั้นปลายชีวิตดี แต่หารู้ไม่ว่า ภายใต้รอยยิ้มเหล่านี้ อาจยังมีผู้สูงอายุอีกหลายคนที่เก็บซ่อนความรู้สึกขมขื่นแสนหนักอึ้งเอาไว้จนไม่ว่าใครก็ไม่อาจสังเกตเห็น

นับแต่เริ่มต้นปี 2024 ข่าวน่าเศร้าที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงพูดคุยกันในสังคมญี่ปุ่นตลอดช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมานี้ก็คือ “ข่าวการพบผู้เสียชีวิตตามลำพังภายในบ้าน” ซึ่งจากการรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นนั้น มีการพบผู้เสียชีวิตตามลำพังภายในบ้านมากเกือบ 40,000 ราย และนับเป็นผู้สูงอายุไปแล้วกว่า 70% ของยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด

โดยสภาพเหตุการณ์นี้จึงเรียกว่า การตายอย่างโดดเดี่ยว หรือ โคโดคุชิ ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งสาเหตุโดยภาพรวมเกิดจากปัญหาความเหงาและการแยกตัวออกห่างจากสังคมหรือผู้อื่น

ปัญหานี้ แน่นอนว่าเป็นปัญหาที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญและพยายามอย่างมากในการแก้ไขผ่านโครงการที่มีชื่อเรียกว่า “Rojin no Kai” ที่ต้องการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นได้มีโอกาสเข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม เช่น เข้าร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานเทศกาลประจำท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อจะได้พบปะพูดคุยกับผู้สูงอายุคนอื่นมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ด้วยชุดความคิดของคนญี่ปุ่นที่มักสงวนประโยชน์ไว้แค่สมาชิกหรือให้ความสำคัญเฉพาะกลุ่มกับครอบครัวของตนเองเท่านั้น การที่คนญี่ปุ่นมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคม ชุมชน หรือผู้คนในท้องถิ่นค่อนข้างน้อยมาก เช่น ไม่ค่อยชวนเพื่อนข้างบ้านคุย ไม่คิดทำความรู้จักกับคนแปลกหน้า ลามไปจนถึงไม่กล้าเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากใครคนอื่นเมื่อมีปัญหา

แน่นอนว่ามนุษย์นั้นมีธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันน้อยย่อมก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาและคำนิยามที่รู้จักกันแพร่หลายในญี่ปุ่นของปัญหาที่ว่าก็คือ ‘ฮิคิโคโมริ ซินโดรม’ (Hikikomori Syndrome) ซึ่งถูกจัดว่าเป็นอาการความผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่ง ใครก็ตามที่ประสบอาการนี้มักจะมีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม ไม่คิดอยากพบหน้าค่าตาใคร สิ่งเดียวที่คิดทำคือการเก็บตัว ขังตัวเองอยู่แต่ในห้องหรือบ้านเท่านั้น

ฮิคิโคโมริซินโดรมจะส่งผลให้เรารู้สึกขาดความมั่นใจในตัวเอง คิดว่าตัวเองขาดตกบกพร่องต่างๆ นานา ไม่เก่ง ไม่ดี ไม่หล่อ ไม่สวย ฉะนั้น ผลกระทบที่พลอยตามมาก็หนีไม่พ้นต้องเผชิญกับปัญหาด้านบุคลิกภาพ คนเราเมื่อไม่มีความมั่นใจในตัวเองแล้ว บางครั้งออร่าเหล่านั้นก็อาจแผ่ขยายออกมาจนคนรอบข้างยังรู้สึกถึงความไม่มั่นใจนั้นได้ เพราะยิ่งกลัวว่าผู้อื่นจะคิดอย่างไร

เพราะลำพังตัวเราที่ขาดความมั่นใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็ยิ่งกลัวการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนตามมา เพราะรู้สึกว่าคงไม่มีใครเข้าใจหรืออยากทำความเข้าใจจริงๆ สุดท้ายจึงกลับกลายเป็นว่าอยากแยกตัวออกมาและขังตัวไว้อยู่แค่ภายในพื้นที่ปลอดภัยของตนเองเท่านั้น ไม่อยากไปทำงานหรือทำหน้าที่อะไร โลกส่วนตัวดีกว่าโลกภายนอกเป็นไหนๆ

ผู้มีอาการฮิคิโคโมริจะคิดแบบนั้น แม้การเลือกอยู่แบบนี้จะทำให้รู้สึกเหงา เศร้า กังวล ลามไปจนถึงเกิดอาการซึมเศร้าโถมตามมาก็ตาม

Advertisements
Advertisements

ไม่ว่ากี่ยุคสมัย ค่านิยมในสังคมญี่ปุ่นที่ไม่เคยหายไปก็คือ การใช้ชีวิตตามกรอบสังคมอย่างเข้มงวดทุกกระเบียดนิ้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงการทำงาน แม้ค่านิยมเหล่านี้จะเพิ่มพูนความเครียด ผิดหวัง และกดดันมากเท่าไร แต่ “ความอดทนอดกลั้น” คือหนทางที่ชาวญี่ปุ่นมักเลือกเดิน เนื่องจากเป็นคติประจำใจที่ได้รับการปลูกฝังกันมาตั้งแต่ช้านาน

แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ ไม่ว่าอย่างไรความอดทนก็มีจำกัด ต่อให้คนญี่ปุ่นจะไม่ระเบิดความอดทนอดกลั้นออกมาอย่างก้าวร้าวด้วยเพราะให้ความสำคัญกับมารยาท แต่กลับกลายเป็นว่ามันก็ยังยืนกรานจะระเบิดออกมาอยู่ดี แค่สิ่งที่ระเบิดออกมานี้อยู่ในรูปแบบของอาการผิดปกติทางจิตที่ไม่ได้ทำร้ายใครเลยนอกจากตัวเอง

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นอธิบายขยายคำจำกัดความของฮิดิโคโมริว่า อาการผิดปกติทางจิตนี้จะเริ่มเพิ่มระดับความรุนแรงหลังจากตัดขาดจากสังคมภายนอกมาเป็นระยะเวลา 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งถึงแม้จากสถิติของทางการญี่ปุ่นจะระบุว่าสัดส่วนเกินครึ่งของผู้ที่เป็นฮิคิโคโมริจะมีอายุอยู่ที่ 40-64 ปี แต่อาการนี้ก็ยังสามารถเกิดและพบได้ในคนวัยหนุ่ม-สาว จึงไม่แปลกเลยที่ฮิคิโคโมริจะเป็นอาการที่สามารถสะสมอยู่ในร่างคนคนหนึ่งเป็นเวลานาน จนผันเปลี่ยนจากวัยหนุ่ม-สาวเป็นชราได้และเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโคโดคุชิหรือการตายอย่างโดดเดี่ยวตามมาภายหลัง เหมือนอย่างข่าวสำคัญเมื่อต้นปี 2024 ดังที่กล่าวไปข้างต้น

ปัญหาสุขภาพจิตในประเทศญี่ปุ่นคือปัญหาที่แต่ไหนแต่ไรก็ยังแก้ไม่เคยตก นับวันจำนวนผู้ที่พบอาการนี้ก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี่จึงอาจเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลควรมุ่งเน้น หาแนวทางแก้ไขไม่ต่างจากที่ให้ความสำคัญกับการปรับนโยบายรับมือกลุ่มประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น เพราะต้นตอปัญหาที่แท้จริงอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพทางกายหรือใจของปัจเจกบุคคล หากแต่เป็นสภาพสังคมรอบด้านที่มีอิทธิพล บีบให้พวกเขาต้องกลายเป็นอะไร


อ้างอิง
– คนญี่ปุ่นเกือบ 40,000 คน เสียชีวิตตามลำพังในบ้านในช่วงครึ่งแรกปี 2024 – https://bbc.in/3MyUEJQ
– Loneliness and Single-Person Households: Issues of Kodokushi and Hikikomori in Japan – https://bit.ly/4dMFeha
– A shrinking life: Why some Asian youth withdraw from the world – https://cnn.it/4dUwLbS
– ทำไมญี่ปุ่นจึงมีฮิคิโคโมริเป็นล้านคน – https://bit.ly/3ATD8gP

#trend
#psychology
#kodokushi
#hikikomori
#Missiontothemoon
#Missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า