“ถ่ายวิดีโอเป็น พูดหน้ากล้องได้ ตัดต่อเก่ง ทำกราฟิกพอไหว แถมยังพากย์เสียงได้อีก” นี่คือภาพลักษณ์ของเด็กยุคใหม่ที่กำลังถูกพูดถึงใน X (Twitter) พวกเขาถูกยกย่องว่าเป็นคนที่มีความสามารถรอบด้านเรื่องคอนเทนต์ สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ครบจบด้วยตัวคนเดียว
แต่เบื้องหลังคำชื่นชมนี้ กลับมีคำถามและความกังวลว่า การที่เด็กยุคใหม่ถูกยกย่องให้ทำทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว จะกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานการทำงานแบบผิดๆ และไม่ยุติธรรมหรือไม่?
การเกิดขึ้นของ Multi-skill
หากพูดถึงคนรุ่นใหม่ก็คงต้องพูดถึง Gen Z กลุ่มคนที่เกิดตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นไป กลุ่มคนเหล่านี้กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน และแน่นอนว่าการเข้าสู่ตลาดแรงงานนี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกการทำงาน โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี
Gen Z เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีหลายอย่างมาตั้งแต่เกิด ตั้งแต่คลาวด์ โซเชียลมีเดีย ไปจนถึงเทคโนโลยีมือถือ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเปิดรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว
อย่างล่าสุด การมาถึงของแพลตฟอร์ม TikTok ก็ทำให้หลายคนผันตัวมาเป็น Content Creator กันมากขึ้น ปัจจุบันกลุ่ม Nano Influencer (ผู้ที่มีผู้ติดตาม 1,000-10,000 คน) จึงเติบโตขึ้นมาก ด้วยเหตุผลหลายประการ ตั้งแต่ความง่ายในการเริ่มต้นที่ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ราคาแพง แค่มีมือถือก็สามารถทำได้ แอปฯ มีเครื่องมือตัดต่อวิดีโอที่ใช้งานง่าย อีกทั้งอัลกอริทึมของ TikTok ยังช่วยให้คนทั่วไปมีโอกาสเป็นที่รู้จักได้ง่าย และเมื่อเป็นที่รู้จัก โอกาสในการได้รับงานก็มากขึ้น
จากข้อมูลของ Shopify คาดว่าปัจจุบันมี Influencer บน TikTok มากกว่า 100,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีผู้ติดตามน้อยกว่า 10,000 คน
ด้วยเหตุนี้ คนยุคใหม่จึงได้พัฒนาทักษะต่างๆ ทั้งด้านการตลาด การผลิตวิดีโอ และการสื่อสาร ซึ่งทักษะเหล่านี้กำลังเป็นที่ต้องการในบริษัทหลายแห่ง เนื่องจากบริษัทเริ่มหันมาทำคอนเทนต์สั้นเพื่อโปรโมตองค์กร รวมถึงสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ อย่าง TikTok, Instagram Reels และ YouTube Shorts เพราะผู้บริโภคเริ่มหันมาเสพคอนเทนต์สั้นกันมากขึ้น อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการผลิตต่ำแต่มีอัตราการมีส่วนร่วมที่สูง
“หนึ่งตำแหน่ง ล้านหน้าที่” ความท้าทายของคนทำงานยุคใหม่
แม้ว่าการมีทักษะที่หลากหลายจะดูเหมือนเป็นข้อได้เปรียบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่คนคนหนึ่งต้องรับผิดชอบงานหลายหน้าที่ในตำแหน่งเดียวอาจนำมาซึ่งความเครียดและความกดดัน และอาจนำไปสู่ภาวะ ‘หมดไฟ’ (Burnout) ได้
ลองนึกภาพว่าหากมีพนักงานคนหนึ่งที่ต้องทำอะไรหลายๆ อย่างให้ครบจบด้วยตัวเองจะเป็นอย่างไร ทั้งถ่ายทำ ตัดต่อ ทำเสียง ทำกราฟิก และโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย แน่นอนว่าก็คงจะเหนื่อยทั้งกายและใจ เพราะทั้งหมดนี้เป็นงานที่ต้องใช้แรงและเวลามากกว่าที่ใครหลายคนคิด
ในมุมบริษัท การให้พนักงานรับผิดชอบหลายหน้าที่อาจช่วยประหยัดต้นทุน แต่หากไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม พนักงานอาจรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ แม้จะมีโอกาสพัฒนาทักษะที่หลากหลายก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงมองว่าการมีทักษะหลายอย่างอาจกลายเป็นดาบสองคม ที่ทำให้คนทำงานยุคใหม่ถูกคาดหวังให้ทำงานมากขึ้นโดยได้รับค่าตอบแทนที่ไม่สมเหตุสมผล
ในท้ายที่สุดนี้ หลายคนก็ยังมองว่าการเป็นคนที่มีทักษะรอบด้านนั้นถือเป็นข้อได้เปรียบในโลกการทำงานยุคดิจิทัล อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรทำให้การทำงานแบบ “หนึ่งตำแหน่ง ล้านหน้าที่ แต่เงินไม่คุ้มค่า” กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ บริษัทควรตระหนักถึงคุณค่าของทักษะที่หลากหลายและให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน
อ้างอิง
– Gen Z workers are more confident, diverse and tech-savvy but still lack experience : Gene Marks, The Guardian – https://bit.ly/4cUS1g6
– The Rise of Nano-Influencers: How the Smallest Voices are Making the Biggest Impact : Yauhen Razhko, Entrepreneur – https://bit.ly/3ySmpdh
– 15 Essential TikTok Statistics for Marketers in 2024 : Dayna Winter, Shopify – https://bit.ly/4d5t41P
#trend
#skill
#worklife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast