NEWSTrendsสำรวจความจริง การถือ "เงินสด" กลายเป็นหนี้สินได้จริงหรือ?

สำรวจความจริง การถือ “เงินสด” กลายเป็นหนี้สินได้จริงหรือ?

เก็บเงินอยู่ดีๆ การถือ “เงินสด” กลายเป็นหนี้สินได้จริงหรือ?

ในช่วงที่ผ่านมา ใครที่ติดตามข่าวสารบนหน้าฟีดโซเชียลมีเดีย อาจจะเห็นว่ากำลังมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นหนึ่ง ซึ่ง “เงินสดคือหนี้สิน” เป็นประเด็นดังกล่าวที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยนักธุรกิจชื่อดังอย่างคุณ CK ที่ได้โพสต์ข้อความบนรูปภาพสั้นๆ ว่า “คนรวยจริงจะไม่ถือเงินสด เพราะเงินสดคือหนี้สิน ไม่ใช่ทรัพย์สิน” ซึ่งโพสต์ดังกล่าวก็สร้างความฮือฮาและการถกเถียงอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก ทำให้เกิดคำถามว่า “สรุปแล้วเงินสดคือหนี้สินจริงหรือไม่?” และ “ทำไมถึงมีคนคิดแบบนี้?”

ก่อนที่เราจะมาทำความเข้าใจประเด็นนี้ เราจำเป็นที่จะต้องมาพิจารณาหลักการทางเศรษฐศาสตร์และการเงินที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดนี้ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ การมองว่าเงินสดเป็นหนี้สินนั้นมีเหตุผลสนับสนุนอยู่หลายแนวคิดด้วยกัน

“เงินสดคือพระเจ้า” เป็นคำกล่าวที่เราคุ้นเคยมาตลอด แต่ในโลกการเงินนั้นมีแนวคิดที่ท้าทายความเชื่อนี้อย่างน่าสนใจ นั่นคือการมองว่า “เงินสด = หนี้สิน” ซึ่งแท้จริงแล้วก็มีหลากหลายแนวคิดที่สนับสนุนความคิดเห็นนี้

อย่างแรกคือเรื่องของ “ภาวะเงินเฟ้อ” เรื่องนี้เป็นปัญหาโลกแตก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินสดถูกมองเป็นหนี้สิน เพราะการที่มูลค่าของเงินลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อนั้น ทำให้เราสูญเสียมูลค่าเงินที่เคยมีอยู่ไปไม่ต่างจากการที่เราต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้เลย ยกตัวอย่างเช่น หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% ต่อปี เงิน 100 บาทที่คุณถือไว้วันนี้ จะมีอำนาจซื้อเหลือเพียง 97 บาทในปีหน้า นี่เท่ากับว่าคุณ “สูญเสีย” ดอกเบี้ยหนี้มูลค่า 3 บาทไปกับอากาศโดยไม่รู้ตัว

ต่อมาคือมุมมองทางบัญชีของธนาคารกลาง ซึ่งในระบบการเงินสมัยใหม่แล้ว ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ต่างๆ ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจนั้นถือเป็นหนี้สินในงบดุลของธนาคารกลางที่ทำหน้าที่ผลิตเงินออกมา และมีสัญญาว่าจะมีมูลค่าในการแลกเปลี่ยน ซึ่งรัฐบาลโดยผ่านธนาคารกลางรับรองมูลค่านี้ จึงเรียกได้ว่าเงินสดที่เราถืออยู่นั้น แท้จริงแล้วเป็น “หนี้” ที่รัฐบาลมีต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม คำว่า “หนี้” ในบริบทนี้ไม่ได้หมายถึงหนี้ในความหมายทั่วไปที่ต้องมีการชำระคืนเป็นตัวเงิน

นอกจากนี้ การถือครองเงินสดจำนวนมากอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงจากการสูญหาย ถูกโจรกรรม หรือเสียหายจากภัยธรรมชาติ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็น “หนี้” ในแง่ของความรับผิดชอบและภาระในการรักษาความปลอดภัยที่ไม่แน่นอนในอนาคตก็ได้ ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ใดๆ ก็มีความเสี่ยงนี้ไม่แพ้กับเงินสด

หลายคนที่เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเงินการลงทุน อาจจะเคยได้ยินแนวคิดนี้มากบ้างจากนักลงทุนและนักเขียนชื่อดังอย่างคุณโรเบิร์ต คิโยซากิ ผู้เขียนหนังสือ “Rich Dad Poor Dad” ซึ่งมักกล่าวว่า “เงินสดคือขยะ” เพราะมูลค่าของเงินสดจะลดลงเรื่อยๆ ตามเวลา ซึ่งในหนังสือของเขานั้น ก็มีการแนะนำให้นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดแทน เช่น อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า หรือการลงทุนในธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง

Advertisements

หลายคนอาจรู้สึกว่า “อยู่ๆ เราก็เป็นหนี้” ซึ่งจริงๆ แล้วจะบอกว่าการถือเงินสด = การมีหนี้ 100% ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง แต่ในแง่หนึ่งก็เป็นความจริง เพราะการถือครองเงินสดโดยไม่นำไปสร้างมูลค่าเพิ่มนั้นก็มีโอกาสที่เราจะกำลังสูญเสียมูลค่าไปเรื่อยๆ จากภาวะเงินเฟ้อ แต่การตระหนักถึงความจริงนี้ไม่ได้หมายความว่าเราควรเลิกใช้เงินสดโดยสิ้นเชิง แต่ควรพิจารณาว่าเราจะบริหารจัดการเงินของเราอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แล้วเราควรทำอย่างไรในเมื่อเงินสดอาจกลายเป็นหนี้สิน? คำตอบง่ายๆ อยู่ที่ “การลงทุนในที่ที่จะไม่ทำให้เงินเสื่อมค่า” แต่สิ่งที่ยากคือการศึกษาและเรียนรู้เรื่องการเงินและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตัดสินใจทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าในชีวิตประจำวัน เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้เงินสดได้ทั้งหมด เพราะเงินสดก็ยังคงมีความสำคัญในการทำธุรกรรมประจำวันและเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหลักของเรา ดังนั้น การมีเงินสดในจำนวนที่เหมาะสมก็ยังคงจำเป็น

ต้องบอกว่า การมองว่าเงินสดเป็นหนี้สินนั้นเป็นมุมมองที่ท้าทายความเข้าใจของคนทั่วไปมากๆ แต่ก็มีเหตุผลที่น่าสนใจ ซึ่งการจุดประเด็นนี้ก็ทำให้คนทั่วไปได้ฉุกคิดถึงแนวคิดการลงทุนและการสร้างความมั่งคั่ง ที่บอกว่าการถือครองเงินสดในปริมาณมากเกินไปก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางการเงินในระยะยาว แต่สรุปแล้ว แนวคิดที่บอกว่าเงินสดคือหนี้ก็ไม่ผิด ในแง่ของการเสื่อมค่าและต้นทุนค่าเสียโอกาส แต่ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่ผิดเช่นกัน เพราะเงินสดยังคงมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับมุมมองและประสบการณ์ของแต่ละคนด้วย

สิ่งสำคัญคือการเข้าใจธรรมชาติของเงินและการบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นการถือครองเงินสดหรือการลงทุน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเงิน เป้าหมาย และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของแต่ละบุคคล การพัฒนาความรู้ทางการเงินและการตัดสินใจอย่างรอบคอบจะช่วยให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหนก็ตาม

อ้างอิง
– “Debt is Money! Why Save Money When They Are Printing Money?” – Robert Kiyosaki: Vader’s Legion – https://bit.ly/3ZnaD5r
– On Money, Debt, Trust, and Central Banking: Claudio Borio, CATO Institute – https://bit.ly/4egqBT4
– Cash is debt: CK Cheong, CPA, Facebook – https://bit.ly/3MN4c3T

#trend
#economy
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า