NEWSTrendsเข้าใจ Cute Aggression วิทยาศาสตร์ของ ‘ความน่ารัก’ ที่ชวนให้กอด รัด ฟัด สวบ

เข้าใจ Cute Aggression วิทยาศาสตร์ของ ‘ความน่ารัก’ ที่ชวนให้กอด รัด ฟัด สวบ

สภาพสังคมในปัจจุบันที่บีบให้คนเราต้องพลอยดำเนินชีวิตในแต่ละวันด้วยความเคร่งเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งจากการทำงานก็ดี หรือปัญหาส่วนตัวก็ดี เพียงแค่มีอะไรบางสิ่งที่เข้ามาช่วยเยียวยาหัวใจจากความเหนื่อยล้าบ้าง แม้เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจให้พร้อมฮึดสู้ เดินหน้าเพื่อวันต่อไปได้แล้ว

สิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจสำหรับใครบางคนในช่วงนี้อาจเป็นอาหารมื้ออร่อยสักมื้อ อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งที่ชุบหัวใจของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมให้ชุ่มชื่นจนกลายเป็นกระแสอันโด่งดังอย่างที่สุด ณ ขณะนี้ ก็คือลูกฮิปโปโปเตมัสแคระเพศเมียที่รู้จักกันในชื่อ ‘หมูเด้ง’

‘หมูเด้ง’ เกิดจากการขยายพันธุ์ภายในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี มันเริ่มได้รับความสนใจเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2024 ที่ผ่านมาหลังจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวได้แจ้งต่อสาธารณชนถึงการเกิดใหม่ของลูกฮิปโปโปเตมัสแคระ และเชิญชวนให้ร่วมกันตั้งชื่อด้วยการโหวตผ่านทางโซเชียลมีเดีย ก่อนที่การเกิดใหม่ของสัตว์ชนิดนี้จะถูกพูดถึงกันแพร่หลายเป็นวงกว้างในเวลาต่อมาไม่นาน

‘ความน่ารัก’ ของลูกฮิปโปโปเตมัสแคระตัวนี้ คือเหตุผลหลักที่ปลุกกระแสนิยมในประเทศ ก่อนจะขยายออกสู่ต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ในที่สุด เนื่องจากลักษณะรูปร่างภายนอกที่น่าเอ็นดู อีกทั้งพฤติกรรมธรรมชาติที่ดูซุกซน ขี้เล่น และกระปรี้กระเปร่าตลอดเวลา นี่จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับทางสวนสัตว์เปิดเขาเขียวที่จะสานต่อกระแสนิยม นำกลยุทธ์ทางการตลาดมาปรับใช้ โดยการประชาสัมพันธ์แผนการจำหน่ายสินค้าอย่างเสื้อผ้ากรีนลาย ‘หมูเด้ง’ ในท่าทางพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า ได้รับกระแสตอบรับความสนใจสั่งจองกลับมาอย่างล้นหลามเลยทีเดียว

‘ความน่ารัก’ เป็นมากกว่าสิ่งที่ตามองเห็นแล้วตัดสินด้วยความรู้สึกเพียงผิวเผิน ด้วยเหตุนั้น ความน่ารักที่ผู้คนสัมผัสได้ ไม่ว่าจะมาจากคน สัตว์ หรือสิ่งของก็ตาม จึงมักจะติดตราตรึงอยู่ในใจผู้ที่มองเห็นเป็นระยะเวลาหนึ่ง ถึงขั้นเกิดความต้องการอยากดูหรือสัมผัสบ่อยๆ

ทั้งนี้ ความรู้สึกประทับใจหรือตราตรึงใจเพราะ ‘ความน่ารัก’ นี้ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สึกนามธรรม หาเหตุผลเชิงตรรกะชี้แจงประกอบไม่ได้ หากแต่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภายในสมอง

จากงานวิจัยของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว (National Institute of Child Health and Human Development) ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ‘ความน่ารัก’ ของสิ่งสิ่งหนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะเราคิดว่าน่ารักเฉยๆ แต่เกิดจากการจุดประกายของสมองในระยะเวลาสั้นๆ โดยอาศัยการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสว่าสิ่งนั้นๆ น่าดึงดูดหรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากสมองจะกระตุ้นการทำงานของเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความพึงพอใจ ตลอดจนความเห็นอกเห็นใจ ‘ความน่ารัก’ จึงมีอิทธิพลต่อการกำหนดพฤติกรรมของคนทุกเพศให้รู้จักมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นด้วย

แม้ฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่เป็นความจริงที่ ‘ความน่ารัก’ จะกระตุ้นความเห็นอกเห็นใจของคน และสามารถช่วยให้เราอยากเป็นคนที่ดีขึ้นได้ ด้วยเหตุนั้น ตามบูทหรือซุ้มเพื่อการกุศล จึงมักใช้ภาพของสัตว์หรือเด็กที่ดูน่ารักน่าเอ็นดู เพื่อดึงดูดผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาให้รู้สึกสงสารหรือเห็นอกเห็นใจ จนเกิดความรู้สึกอยากร่วมเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนกิจกรรมการกุศลนั้นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การบริจาคเงิน เป็นต้น

นอกจากความเห็นอกเห็นใจที่ถูกกระตุ้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังมีแนวโน้มที่ ‘ความน่ารัก’ จะสามารถกระตุ้นให้เราให้ความสนใจต่อปัญหาใดก็ตามที่อาจเกิดขึ้นกับคน สัตว์ หรือสิ่งของที่น่ารักดังกล่าวอีกด้วย ฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้ผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจ และแสดงความไม่พอเป็นอย่างมากต่อข่าวที่ลูกฮิปโปโปเตมัสตัวนี้ถูกผู้ที่มาเที่ยวสวนสัตว์บางส่วนโยนสิ่งของและเทน้ำใส่

แน่นอนว่าทั้งฝั่งผู้วิจารณ์เหตุการณ์เอง ทั้งฝั่งผู้ท่องเที่ยวเอง ล้วนมีสิ่งที่เหมือนกันคือความประทับใจในความน่ารักของสัตว์ชนิดนี้ แต่พฤติกรรมของคนจำนวนหนึ่งกลับรบกวน แลดูย้อนแย้ง ขัดกับความชื่นชอบและความประทับใจที่มี เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

Advertisements
Advertisements

คุณเคยรู้สึกอยากจะเข้าไปกัด รัด ฟัด หรือทำอะไรรุนแรงใส่เมื่อพบเจอสัตว์หน้าตาน่ารักไหม หากคุณเคย นี่อาจไม่ใช่สิ่งที่คุณคิดไปเอง หากแต่มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า ‘Cute Aggression’

‘Cute Aggression’ หรือ ‘Dimorphous Expression of Positive Emotion’ ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 2013 โดยภาควิชาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเยล (Department of Psychology, Yale University) มันคืออาการตอบสนองทางจิตวิทยาประเภทหนึ่งเมื่อเห็นอะไรที่น่ารักมากๆ จนเกิดการปะทุของอารมณ์เชิงบวกที่รุนแรง ทำให้อยากจะแสดงออกถึงความรักอย่างดุดันต่อสิ่งนั้น เช่น กอดแรงๆ หยิกแรงๆ ซึ่งอาการนี้มีความซับซ้อนของกระบวนการการเกิด เฉกเช่นเดียวกับกรณีที่มนุษย์มีความสุขจนร้องไห้ หรือเสียใจจนหัวเราะออกมา

อย่างไรก็ตาม แม้ ‘Cute Aggression’ จะส่งผลให้เราแสดงปฏิกิริยาแลดูก้าวร้าวออกมาทางกายหรือความคิด ทว่าโอเรียนา อารากอน หนึ่งในนักวิจัยผู้ค้นพบอาการตอบสนองทางจิตวิทยานี้กล่าวว่า อาการ Cute Aggression นี้ไม่ถือว่าเข้าข่ายอาการผิดปกติทางจิตที่ต้องได้รับการรักษาแต่อย่างใด และเธอไม่คิดว่ามันจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง หรือลามไปถึงขั้นก่ออาชญากรรมในอนาคตได้ เนื่องจากอาการนี้มีพื้นฐานอันเกิดจากความรู้สึกเชิงบวก นั่นคือความรู้สึกอยากรัก อยากปกป้อง อยากทะนุถนอม จึงเป็นไปได้ยากมากที่ความรู้สึกจะกลับตาลปัตร พลิกผันสู่เชิงลบในตอนท้าย

ด้วยเหตุนี้เอง จึงสามารถวางใจได้ว่า อาการ ‘Cute Aggression’ ที่ใครหลายคนมักประสบกัน ไม่ใช่สาเหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่การรบกวน กลั่นแกล้ง หรือรังแกสัตว์ดังที่ปรากฏในข่าว เพราะการแสดงพฤติกรรมรุนแรงต่อสัตว์ที่ไร้ทางสู้นั้น มีเหตุผลอื่นของมันอยู่ อาจเกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบ ความคึกคะนอง ความต้องการแสดงพลังเพื่อเอาอกเอาใจผู้อื่น ความโกรธที่พาลมาลงกับสัตว์ หรือแม้แต่ความชอบส่วนตัวก็เป็นได้

‘ความน่ารัก’ มีความหมายในทางวิทยาศาสตร์ลึกซึ้งกว่าที่เราเคยคิด และในขณะเดียวกัน ด้วยคำอธิบายเชิงตรรกะทั้งหมด มันยังมีผลต่อสุขภาวะทางจิตกว่าที่เราเคยรู้ คุณสมบัติของสิ่งต่างๆ ที่ถูกนิยามว่า ‘น่ารัก’ ไม่เคยเป็นภัยต่อสิ่งใด จะมีก็แต่บางพฤติกรรมของมนุษย์เราเท่านั้นที่สร้างภัยเสียเอง ฉะนั้น เราจึงควรเรียนรู้ที่จะควบคุมความคิดและการกระทำ เพราะ ‘ความน่ารัก’ ไม่เคยทำร้ายใคร แล้วเหตุใดเราจะต้องทำร้ายมัน


อ้างอิง
– Thailand zoo’s super cute baby hippo ‘Moo Deng’ to be on pants & shirt merch – https://bit.ly/3MKcg5A
– How cute things hijack our brains and drive behaviour – https://bit.ly/3TPhG3l
– Can ‘Cute Aggression’ Inspire Actual Violence? – https://bit.ly/4dYKn5z
– Why do people abuse animals? – https://bit.ly/3zpfsQT
– Some Netizens Concerned on How Some Visitors Treat Beloved Baby Hippo Moo Deng at Khao Kheow Open Zoo in Chonburi – https://bit.ly/47oTvOw

#Trend
#Psychology
#Society
#Animal
#Missiontothemoon
#Missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า