“กวาดห้อง!” “ถูพื้น!” “เช็ดโต๊ะ!”
อยู่บ้านทั้งที แทนที่จะได้พักผ่อนสักหน่อย คุณเคยโดนคุณแม่สั่งให้ทำความสะอาดจนหูแทบชาไหม?
สำหรับบางคน บ้านและห้องพักตามคอนโดหรืออะพาร์ตเมนต์อาจเป็นสถานที่ที่ไม่จำเป็นต้องเคร่งเรื่องความสะอาดมากนัก เพราะขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ที่อยู่อาศัย’ แล้ว ก็เหมือนกับเป็นพื้นที่ส่วนตัว หากไม่ได้รับอนุญาต บุคคลภายนอกครอบครัวก็ไม่อาจถือวิสาสะเข้า-ออกตามใจ ประหนึ่งที่สาธารณะอย่างห้างสรรพสินค้า
แม้ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา (University of Minnesota) แห่งสหรัฐอเมริกา จะระบุไว้ถึงสารพัดข้อดีของคนที่ไม่ค่อยทำความสะอาด หรือจัดแจงข้าวของรอบตัวให้เป็นระเบียบ เช่น คนลักษณะข้างต้นมักเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ได้ดีกว่าคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม หากสภาพความรกรุงรังที่เราก่อไว้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ภายในพื้นที่ส่วนตัวอย่าง ‘บ้าน’ แต่ลุกลามออกไปยังพื้นที่ส่วนกลางตามสถานที่ทำงาน เราก็อาจจะถูกตราหน้าจากเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้องว่า ‘หยาบคาย’ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ!
ไม่รู้จักเก็บกวาดของของตัวเอง = พฤติกรรมหยาบคายในที่ทำงาน
จากผลการค้นคว้าโดยกลุ่มนักวิจัย Monster ผ่านการสำรวจพนักงานในสหรัฐอเมริกากว่า 1,000 คน เมื่อเดือนสิงหาคม 2024 เกี่ยวกับพฤติกรรมอันหยาบคายตามสถานที่ทำงานต่างๆ พบว่า เกือบ 1 ใน 3 ของพนักงานทั้งหมด (31%) มองว่า มารยาทในที่ทำงานถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่ตนกลับไม่ค่อยได้รับความเคารพจากเพื่อนร่วมงานผ่านการกระทำต่างๆ เช่น นินทาว่าร้าย ใช้ภาษาไม่เหมาะสม เมินและไม่ยอมตอบกลับอีเมลหรือข้อความ ตลอดจนเข้าประชุมสายบ่อยๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวก็อาจยังไม่นับว่าน่ารำคาญที่สุด เมื่อเทียบกับสภาพแวดล้อมที่สกปรกรกรุงรังด้วยฝีมือใครสักคนที่ไม่ยอมเก็บกวาดของของตัวเอง ที่นับว่าเป็นพฤติกรรมหยาบคายและไร้มารยาทอันดับหนึ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการไม่ให้ความเคารพเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ แล้ว ยังถือว่าไม่เคารพสถานที่อีกด้วย
พื้นที่ส่วนกลางตามที่ทำงาน เช่น โต๊ะรับประทานอาหารกลางวัน ตลอดจนในอ่างล้างจานบริเวณห้องครัว มักเป็นจุดที่ร่องรอยความสกปรกจากขยะหรือเศษอาหารถูกทิ้งเอาไว้เป็นของดูต่างหน้าของใครสักคนเสมอ แม้เพื่อนร่วมงานหลายๆ คนจะไม่ต้องการ ซึ่งพฤติกรรมไม่ยอมเก็บกวาดของของตัวเองนี้อาจเกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจ หรือเจตนาที่ต้องการกลั่นแกล้งเพื่อนร่วมงานก็ได้
แม้ปัญหาจากพฤติกรรมนี้จะสามารถแก้ไขได้ง่ายๆ เพียงให้ทุกคนจัดการล้างภาชนะที่เลอะคราบ เช็ดเศษอาหารตามโต๊ะ พร้อมทิ้งขยะของตนเอง แต่ปรากฏว่า ตามสถานที่ทำงานหลายๆ แห่งก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาซ้ำซากข้อนี้อยู่ ถ้าอย่างนั้น หากไม่นับเจตนากลั่นแกล้งแล้ว ในเชิงเศรษฐศาสตร์และจิตวิทยา สาเหตุแท้จริงที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมน่ารำคาญใจนี้คืออะไรกันแน่?
พอเป็นที่ทำงาน ทำไมบางคนไม่ทำความสะอาด?
หากอธิบายด้วยคำจำกัดความเชิงทฤษฎีเศรษฐศาสตร์โดยนักนิเวศวิทยา ‘การ์เรตต์ ฮาร์ดิน (Garrett Hardin)’ พฤติกรรมนี้เรียกได้ว่าเป็นอีก ‘โศกนาฏกรรมของการใช้ทรัพยากรร่วม (The Tragedy of the Commons)’ ซึ่งหมายถึง การกระทำที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรส่วนรวม แต่มุ่งเน้นผลประโยชน์เพื่อตนเองเป็นหลัก บางคนจึงมองว่า ในเมื่อเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ก็ควรต้องกระจายความรับผิดชอบดูแลกันไป ฉะนั้น ตนเองก็ไม่มีความจำเป็นต้องดูแลหรือทำความสะอาดอะไรมากมาย
ในเชิงจิตวิทยา นักการศึกษาจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตสังคม ‘เคนดรา เชอร์รี่ (Kendra Cherry)’ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า “บุคคลคนหนึ่งอาจทำความสะอาดเป็นปกติเมื่ออยู่บ้าน และอาจแสดงพฤติกรรมนี้ก็ต่อเมื่ออยู่ที่ทำงานเท่านั้นก็เป็นได้ เนื่องจากคนคนนั้นอาจต้องเผชิญกับภาระงานหรือความรับผิดชอบมากมาย ทำให้เลือกที่จะหันไปจดจ่อกับงานที่สำคัญมากกว่า จนเผลอละเลยการทำความสะอาดของของตัวเองไป เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน”
ยิ่งไปกว่านั้น หากบุคคลนั้นๆ ประสบปัญหาความเครียดหรือความวิตกกังวลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น เครียดเรื่องงาน ก็อาจทำให้ขาดแรงจูงใจในการทำความสะอาดขึ้นไปอีก
ความสะอาดในที่ทำงานมีผลต่อตัวเราและคนรอบข้างมากกว่าที่คิด
สภาพแวดล้อมที่เราอาจเผลอทิ้งให้สกปรกรกรุงรัง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงความสามารถในการจดจ่อและความพึงพอใจในการทำงานโดยภาพรวมได้
เพราะด้วยระบบสั่งการภายในสมองมนุษย์ จะทำให้คนเชื่อมโยง ‘สภาพแแวดล้อมที่เป็นระเบียบเรียบร้อย’ ให้เกี่ยวข้องกับ ‘ความสามารถในการควบคุม’ โดยไม่รู้ตัว หากที่ทำงานยุ่งเหยิง สกปรกรกรุงรัง พวกเขาจะรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมขาดการควบคุม ต่อให้ทำความสะอาดแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ จนส่งผลให้รู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ เริ่มรำคาญ วิตกกังวล และเกิดเป็นความเครียดได้ในที่สุด
เมื่อเกิดความเครียด แน่นอนว่าก็ยากที่เราจะสามารถจดจ่อแต่งานเพียงอย่างเดียวได้ โดยไม่ปล่อยให้ประสาทสัมผัสสนใจหรือรับรู้ถึงความสกปรกรอบตัว พอขาดสมาธิแล้ว อารมณ์และความพึงพอใจในการทำงานก็จะลดลง พนักงานอาจหงุดหงิดง่ายขึ้น เกิดความคิดที่ว่าไม่อยากมาทำงาน หรือแม้หากจำเป็นต้องมา คุณภาพของงานก็อาจต่ำกว่ามาตรฐานได้
จะเห็นได้ว่า ความสะอาดในที่ทำงานนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพจิตและส่งผลต่อการทำงานในระดับที่ใครหลายคนอาจคาดไม่ถึง เพียงแค่เก็บกวาดพื้นที่ของเราให้สะอาด นอกจากจะเป็นการยับยั้งปัญหาความเครียดอันเกิดจากสภาพแวดล้อมแล้ว ยังลดความเสี่ยงที่จะถูกมองไม่ดีจากสายตาคนรอบข้าง จนอาจทำให้เกิดความระหองระแหงในความสัมพันธ์ ซึ่งสุดท้ายก็อาจส่งผลเสียลามไปจนถึงการทำงานในระยะยาวได้อีกด้วย เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว คุณได้เก็บกวาดของของตัวเองในที่ทำงานวันนี้หรือยัง?
อ้างอิง
– The 5 rudest co-worker behaviors, according to a new survey by Monster – https://cnb.cx/3XDT6U0
– What Causes Someone to Not Clean Their House? – https://bit.ly/4enyXc0
– Be respectful, clean up after yourself – https://bit.ly/4gLHkzB
– When co-workers don’t clean up after themselves – https://bit.ly/3ZJyRac
– The Psychology of Clean Spaces and Employee Well-being – https://bit.ly/4gIjMM2
#Trend
#Worklife
#Psychology
#Missiontothemoon
#Missiontothemoonpodcast