NEWSTrendsภาวะ “เงินเดือนเฟ้อ” ของผู้บริหาร ฐานเงินเดือน CEO พุ่ง 12% มากกว่าพนักงานทั่วไป 3 เท่า

ภาวะ “เงินเดือนเฟ้อ” ของผู้บริหาร ฐานเงินเดือน CEO พุ่ง 12% มากกว่าพนักงานทั่วไป 3 เท่า

‘เงินเดือนผู้บริหารมากกว่าพนักงาน’ เป็นสามัญสำนึกปกติที่ทุกคนพบเจอ แน่นอนว่ามีเหตุผลมากมายที่คนในสังคมยินยอมให้เป็นอย่างนั้น เช่น ผู้บริหารเป็นตำแหน่งที่กินทรัพยากรชีวิตมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นทักษะ เวลาทำงาน ไปจนถึงการหลอมรวมธุรกิจเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับชีวิตประจำวัน

บางคนอาจตั้งคำถามว่า สังคมทำงานปัจจุบันยังเป็นเช่นนั้นอยู่หรือไม่? เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนจำนวนมากต้องเร่งหลอมรวมชีวิตตนเองเข้ากับงานเป็น “Work-Life Integration” หรือ “Work-Life Harmony” ปัจจุบันคำตอบของคำถามนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

ทว่ารายงานจาก Financial Times นิตยสารการเงินจากสหรัฐอเมริกาได้สร้างคำถามใหม่สำคัญอีกหนึ่งคำถาม เมื่อพบว่าปี 2024 ที่ผ่านมา ฐานเงินเดือนผู้บริหารสูงขึ้นถึง 12% เกือบแตะ 13% จากปี 2023 ฟังดูปกติที่ฐานเงินเดือนจะเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อแต่ละปี หากไม่มีข้อมูลตัวเลขที่บอกว่า อัตราการเพิ่มขึ้นดังกล่าวมากกว่าพนักงานที่เพิ่มเพียง 4.1% ถึง 3 เท่า

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนอะไร แล้วสังคมต้องจับตามองประเด็นไหนบ้าง? วันนี้ Mission To The Moon จึงจะพาทุกคนไปสำรวจสาเหตุของช่องว่างการเติบโต และผลกระทบที่น่ากังวลต่อระบบเศรษฐกิจพร้อมๆ กัน

ภาวะ “เงินเดือนเฟ้อ” ของวงการผู้บริหาร

สถานการณ์การเติบโตของเงินเดือนผู้บริหารในสหรัฐอเมริกากำลังเข้าสู่เขตจับตามอง เมื่อฐานเงินเดือน CEO พุ่งทะยานราวกับจรวดแตะตัวเลขสูงที่สุดในรอบ 14 ปี สร้างช่องว่าง “ความไม่เท่าเทียมทางรายได้” กับพนักงานทั่วไปถึง 3 เท่า

วิลเลียม จอร์จ (William George) คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนจากเอ็กซอน (Exxon) ให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ถึงค่าตอบแทนของผู้บริหารที่สูงขึ้น “เกินความควบคุม” บ่งชี้ว่าเพดานการเติบโตและภาวะเงินเดือนผู้บริหารเฟ้อเริ่มเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

โรบิน เฟร์รากอน (Robin Ferracone) ผู้ก่อตั้งและ CEO จาก Farient Advisors รวมถึงเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านค่าตอบแทนให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุเกี่ยวกับ “ความต้องการของตลาด” ที่เพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือความพยายามที่จะโน้มน้าวไม่ให้ผู้บริหารรับสายคณะกรรมการค้นหาของคู่แข่งนำมาสู่การเสนอค่าตอบแทนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ การเติบโตติดจรวดของฐานเงินเดือนผู้บริหารยังเป็นผลมาจากข่าวการมอบรางวัลจากผู้ถือหุ้นแก่หัวหน้าบริหารบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าเทสลา (Tesla) อย่างอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ด้วยหุ้นมูลค่าถึง 56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย

แม้กรณีของอีลอน มัสก์จะได้รับการพิจารณาจากนักวิเคราะห์ว่าเป็น “กรณีพิเศษ” และไม่น่าจะเกิดขึ้นซ้ำ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวเลขดังกล่าวส่งผลต่อความต้องการและความคาดหวังของตลาดจนอาจนำไปสู่ภาวะเงินเดือนเฟ้อสูงขึ้น

รู้หรือไม่! ต้องทำงาน 200 ปีกว่าจะมีเท่า CEO!

จากการสำรวจบริษัทกว่าครึ่งในสหรัฐอเมริกาพบว่า ค่าตอบแทนของผู้บริหาร โดยเฉพาะ CEO มีมูลค่าสูงกว่าค่าตอบแทนของพนักงานตำแหน่งอื่นถึง 196 เท่า เพิ่มขึ้นมา 11 เท่าจากปี 2023 ที่มีความแตกต่างเดิม 185 เท่า

เมื่อคำนวณแล้วพบว่าคนทำงานตำแหน่งอื่นหรือพนักงานทั่วไป ต้องใช้เวลาทำงานถึง 200 ปีกว่าจะได้รับการเติบโตด้านค่าตอบแทนสูงถึงเงินเดือนของผู้บริหารในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น ช่องว่างดังกล่าวยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเป็นธุรกิจจำพวกค้าปลีก

ยกตัวอย่างเช่น พนักงานร้าน ‘Ross Store’ ในสหรัฐต้องใช้เวลาทำงานถึง 2,100 ปี กว่าจะมีการเติบโตของค่าตอบแทนไปเทียบเท่ากับเงินเดือนผู้บริหารประจำปี 2023 ของ CEO จาก Barbara Rentler เพิ่มขึ้นมาจากปีก่อนหน้าที่ต้องใช้เวลาราว 1,137 ปี

Advertisements
Advertisements

สั่นคลอนเศรษฐกิจ! ปั่นป่วนระบบสังคม

วิลเลียม จอร์จ (William George) จากบริษัทเอ็กซอนยังกล่าวอีกว่า ภาวะเงินเดือนผู้บริหารเฟ้อสร้างความน่ากังวลต่อการเชื่อถือองค์กรของผู้บริโภคและช่องว่างทางสังคมของ ‘ผู้ที่มี’ และ ‘ผู้ที่ไม่มี’ ซึ่งภาวะและข้อกังวลดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2024 นี้เท่านั้น แต่เป็นเหตุการณ์ที่มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2023

บทความของ ESG News เมื่อปีที่แล้วได้ยกประเด็นความน่ากังวลของภาวะเงินเดือนผู้บริหารเฟ้อต่อวัฒนธรรมการทำงานไปจนถึงระบบเศรษฐกิจภาพรวมไว้ว่า ช่องว่างดังกล่าวนำไปสู่ “ความประมาทเลินเล่อ” ของผู้บริหารจนส่งผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่ในวงกว้าง

ผลกระทบแรกที่เกิดขึ้นคือสัดส่วนค่าตอบแทนผู้บริหารที่เบียดส่วนแบ่งกำไรนำไปสู่ขวัญกำลังใจ แรงจูงใจ และประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงเป็นปัจจัยที่กระตุ้นอัตราการลาออกของพนักงานให้สูงขึ้น กล่าวคือสัดส่วนต้นทุนที่หักออกไปจากกำไรจำนวนมากเป็นค่าตอบแทนของผู้บริหาร ทำให้ตัวเลขกำไรภาพรวมและส่วนแบ่งกำไรตกลงมาถึงคนทำงานตำแหน่งอื่นน้อยลงจนน่าตกใจ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกหนึ่งผลกระทบที่น่าจับตามอง เพราะค่าตอบแทนสูงย่อมมาพร้อมความคาดหวังว่าผู้บริหารจะนำกำไรกลับเข้ามายังองค์กรได้มากกว่าเดิม สร้างเป็นเทรนด์แนวคิดผู้บริหารที่ ‘มุ่งแสวงหาผลกำไร’ จนนำไปสู่การดำเนินการที่สร้างความปั่นป่วนให้ระบบนิเวศธุรกิจและสังคมภาพรวม

ยกตัวอย่างเช่น การตัดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานจำนวนมากส่งผลให้ตลาดแรงงานผันผวน ไปจนถึงความพยายามในการเลี่ยงภาษี พฤติกรรมต้องสงสัยและพฤติกรรมอันตรายอื่นๆ ทั้งนี้ ผลกระทบทางอ้อมต่อสังคมยังเป็นการสร้างช่องว่างที่เอื้อโอกาสให้การแบ่งแยกเพศและสีผิวทวีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้นอีกด้วย

เห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ สามารถนำไปสู่ผลกระทบราวกับพายุผีเสื้อกระพือปีก (Butterfly Effect) การจับตามองการเปลี่ยนแปลงและแนวทางแก้ไขสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจึงจำเป็นสำหรับคนทำงานในการวางแผนอนาคต สุดท้ายแล้วภาวะเงินเดือนผู้บริหารเฟ้อจะจบลงอย่างไรก็ต้องติดตามความเคลื่อนไหวกันต่อไป


ที่มา
– CEO pay is rising faster than it has in a decade — and 3 times as fast as worker wages: QUARTZ, Ben Kesslen – https://bit.ly/45zSC4R
– CEO pay is rising, widening the gap between top executives and workers. What to know, by the numbers: AP News – https://bit.ly/3KWDfKh
– CEO-worker pay gap rising and ‘bad for business’: report: ESG News, Soya Mirza – https://bit.ly/4bg83jO

#trend
#economy
#CEOpaycheck
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า