“สังคมไร้เงินสด” (Cashless Society) เคยเป็นความหวังและความตื่นเต้นของผู้คนในสังคม เพราะนอกจากจะมอบความสะดวกสบายให้ผู้บริโภคไม่ต้องพกธนบัตรและเหรียญให้หนักกระเป๋าแล้ว ยังสร้างพื้นที่การจับจ่ายใช้สอยใหม่อย่าง ‘E-commerce’ หรือการซื้อ-ขายออนไลน์ขึ้นมาอีกด้วย
ทว่าความหวังก็กลายเป็นความกังวลเมื่อสังคมไร้เงินสดกลายเป็นช่องทางหลักในการบริโภค จากความสะดวกสบายก็กลายมาเป็น ‘ข้อบังคับใหม่’ ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องมีเงินสดค้างอยู่ในกระเป๋าและตัวเลขค้างอยู่ในบัญชีไปพร้อมๆ กัน และกลายเป็น ‘ข้อจำกัด’ ของผู้บริโภคบางรายจนเกิดเป็นคำถามว่า ทุกคนพร้อมสำหรับสังคมไร้เงินสดแล้วจริงหรือ? และสุดท้ายแล้วระบบสมัยใหม่นี้เอื้อประโยชน์ต่อใครกันแน่?
ข่าวจาก Business Insider รายงานถึงสถานการณ์ล่าสุดของ ‘สังคมไร้เงินสด’ ณ ประเทศจีน หนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการชำระเงินที่มีช่องทางมากมาย เช่น อาลิเพย์ (AliPay) วีแชท เพย์ (WeChat Pay) และอื่นๆ อีกมากมาย
ภายในเนื้อหากล่าวถึงกรณีลงโทษปรับค่าธรรมเนียมกว่า 7 ร้านค้าที่ปฏิเสธการรับเงินสด หนึ่งในนั้นมีร้านค้าชื่อดังอย่างเคเอฟซี (KFC) และรัฐวิสาหกิจอีกมากมาย โดยการลงโทษครั้งนี้หวังเพื่อสร้างบรรทัดฐานการบริโภคที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น
เป็นที่น่าสนใจว่าการก้าวหน้าที่รวดเร็วเกินไปกำลังสร้างข้อจำกัดมากกว่าความสะดวกสบายหรือไม่? ไม่เพียงแต่ประเทศจีนเท่านั้น ประเทศไทยเองก็โด่งดังในเรื่องช่องทางการชำระที่สะดวกสบายและความก้าวหน้าของสังคมไร้เงินสดในไทยก็แทบไม่น้อยไปกว่าประเทศจีนนัก
แน่นอนว่าเกิดกรณีความก้าวหน้าที่รวดเร็วของสังคมไร้เงินสดในประเทศไทยเช่นเดียวกัน กรณีศึกษาที่โด่งดังคือการนำร่อง “Cashless Store” ของร้านกาแฟชื่อดังอย่างสตาร์บัคส์ (Starbucks) ไม่ต่ำกว่า 10 สาขาที่หันมาปฏิเสธเงินสดและรองรับเพียงการชำระเงินออนไลน์ บัตรเดบิต-เครดิต หรือบัตรสมาชิกของร้านเท่านั้น
การนำร่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การค้าที่ต้องการผลักดันให้ผู้บริโภคสมัครสมาชิกและหันมาเติมเงินเข้าบัตรสมาชิกมากขึ้น กลวิธีนี้นอกจากจะสามารถเพิ่มโอกาสดึงลูกค้าขาจรมาเป็น “ลูกค้าประจำ” ได้แล้ว ยังเป็นเกมการเงินที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเงินในธุรกิจได้มีสภาพคล่องยิ่งขึ้นอีกด้วย
ร้านอาหารอื่นๆ เช่น ซิซเล่อร์ (Sizzler) บอนชอน (Bonchon) ก็เคยมีโปรเจกต์นำร่องทำนองเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงแรงผลักดันของธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจากการถือเงินสดผสมเงินออนไลน์ ไปเป็นการถือสินทรัพย์ออนไลน์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ คำถามคือคนในสังคมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนี้มากเท่าไหน?
ลองเปลี่ยนมุมมองที่มีกรุงเทพฯ ร้านค้าขนาดใหญ่และห้างสรรพสินค้าเป็นศูนย์กลาง มาเป็นร้านดั้งเดิมและร้านค้าขนาดเล็กจะพบว่ามีหลายร้านที่ปฏิเสธการชำระเงินออนไลน์หรือบัตรเครดิต โดยมีปัจจัยหลายประการไม่ว่าจะเป็นความไม่เท่าทันเทคโนโลยีจนอาจเป็นเหตุให้ถูกโกงทั้งจากผู้บริโภคและ ‘แก๊งคอลเซนเตอร์’ หรือขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้การดำเนินธุรกิจประจำวันยากขึ้นเช่นเดียวกัน
ภาระจึงตกมาที่ผู้บริโภคที่จะต้องพกทั้งเงินสดและเงินออนไลน์ กระจายเงินไปอยู่ในบัญชีบ้าง บัตรสมาชิกบ้าง ซึ่งแต่ละคนก็มีมากกว่า 1 บัญชีหลากหลายธนาคารคละกันไปจนทำให้วินัยทางการเงินเต็มไปด้วยความซับซ้อนและน่าสับสน
ไม่ใช่เพียงธุรกิจรายใหญ่ที่กำลังผลักดันสังคมไร้เงินสดอย่างสุดกำลัง แม้แต่นโยบายรัฐเองก็ผลักดันให้ประชาชนต้องรับสวัสดิการ “คนละครึ่ง” หรือ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์เท่านั้น จนเกิดเป็นคำถามว่าสิ่งที่ผู้มีอำนาจทางการเงินกำลังขับเคลื่อนในตอนนี้เป็นการผลักดันให้เกิดความหลากหลายเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้ชีวิต หรือกำลัง “บีบบังคับ” ให้ผู้คนวิ่งไล่ตามการเปลี่ยนแปลงที่ตนเองกำหนดกันแน่?
แม้ว่าเมื่อปี 2566 ผู้ให้บริการบัตรเครดิตอย่างวีซ่า (VISA) จะเผยผลสำรวจว่าคนไทยกว่า 71% พร้อมสำหรับสังคมไร้เงินสดภายในปี 2573 ถึงอย่างนั้นก็น่าคิดต่อว่าคนไทย 70 ล้านคนนั้น มีกี่คนที่ใช้บัตรเครดิตและมีกี่คนที่ใช้ระบบธนาคารออนไลน์?
คำตอบจากการเก็บข้อมูลของธนาคารกรุงศรีปี 2566 ระบุว่าประเทศไทยมีการเปิดใช้งานบัตรเครดิตเพียง 20 ล้านใบ โดยมีผู้ใช้งานเพียง 6 ล้านกว่าคนหรือเกือบ 10% ของคนไทยทั้งประเทศเท่านั้น
ด้านของการทำธุรกรรมออนไลน์เองก็มีข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2566 ระบุว่าคนไทยใช้ Mobile & Internet Banking เพิ่มขึ้น 30% และถอนเงินลดลง 25% และปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรก็เผยตัวเลขการดำเนินธุรกรรมออนไลน์ถึง 95.5% จากปริมาณธุรกรรมรายย่อย รวมถึงมีแนวโน้มการเติบโตสูงที่สุดในเอเชีย
จากการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปีเดียวกันก็พบว่าคนไทยยังใช้เงินสดเป็นกระแสหลักมากถึง 66% และข้อมูลของกสทช. เมื่อปี 2562 ยังระบุว่ามีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเพียง 43.8 ล้านคน และในจำนวนนั้นมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันการเงินออนไลน์เพียง 32.4 ล้านราย แม้ปี 2564 จะมีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มถึง 52.1 ล้านรายแต่ก็ยังเป็นที่กังขาว่ามีกี่คนที่มีกำลังพอที่จะใช้งานระบบการเงินออนไลน์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์
กลายเป็นคำถามที่สังคมยังคงติดตามหาคำตอบต่อไปว่าความเปลี่ยนแปลงจะโผล่มาทักทายในรูปแบบไหน และจะมีปัจจัยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับการระบาดของโควิด-19 มาอีกหรือไม่ จากนี้ภาครัฐและภาคประชาชนจะต้องเตรียมพร้อมอย่างไรสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง โดยไม่ทอดทิ้งคนกลุ่มที่มองไม่เห็นไป คิดอย่างไรอย่าลืมมาแชร์กันได้เลย
ที่มา
– It’s so tough to pay cash in China that the government had to fine a KFC for not accepting banknotes: Mattew Loh, Business Insider – https://bit.ly/3KcHNM4
– ผลสำรวจคนไทยกว่า 70% คาดเข้าสู่สังคมไร้เงินสดในอีก 5 ปี: PPTV Online, PPTV36 – https://bit.ly/3K94S2f
– ธปท.เปิดสถิติ คนไทยแห่ใช้โมบายแบงกิ้งพุ่ง 30% ทำยอดกดเงินสดลดฮวบ 25%: ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ – https://bit.ly/3wLk0Qw
#trend
#cashlesssociety
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast