NEWSTrendsBoreout Syndrome เมื่องานที่จำเจเกินไปทำให้พนักงานอยากลาออก!

Boreout Syndrome เมื่องานที่จำเจเกินไปทำให้พนักงานอยากลาออก!

‘ความเบื่อ’ คือปัญหาในโลกการทำงานที่หลายคนเผชิญ แม้ว่างานจะไม่ได้หนัก แต่บางคนกลับเบื่อมาก จนรู้สึกว่าทำไปก็ไร้ความหมาย ถึงจะพยายามหาแรงจูงใจแค่ไหน ก็ยังไม่อยากจะลุกไปทำงานอยู่ดี

หากใครกำลังประสบปัญหานี้ และเริ่มสงสัยว่า ‘หรือจะเป็นตัวเองที่ขี้เกียจ?’ ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปไป เพราะนักจิตวิทยาองค์กรจาก Wharton School ประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง ‘อดัม แกรนท์ (Adam Grant)’ เผยว่า นี่คือ ‘ภาวะเบื่อหน่ายเรื้อรัง (Boreout Syndrome)’ ที่กำลังระบาดในหมู่คนทำงาน โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่

ซึ่งภาวะนี้นับว่าเป็นปัญหาใหม่ในโลกของการทำงาน ที่นายจ้างควรให้ความสำคัญไม่แพ้ ‘ภาวะหมดไฟ  (Burnout Syndrome)’ เพราะคนที่ประสบกับภาวะเบื่อหน่ายเรื้อรังจะขาดสมาธิ รู้สึกไม่มีส่วนร่วมกับงาน ไปจนถึงมองว่างานที่กำลังทำอยู่นั้นไร้ความหมาย ซึ่งมีความอันตรายไม่แพ้ภาวะหมดไฟเลย

แม้ว่า ‘Boreout Syndrome’ จะฟังดูเป็นเรื่องใหม่ แต่ในความเป็นจริง ภาวะนี้กลับถูกพูดถึงมาตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 2005-2010 แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น แกรนท์ชี้ให้เห็นว่า คนที่ประสบภาวะเบื่อหน่ายเรื้อรังยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การทำงานที่บ้านกลายเป็นเรื่องปกติ

เมื่อหลายคนต้องทำงานลำพัง โดยไม่มีเพื่อนร่วมงานให้พูดคุยแลกเปลี่ยน หรือให้กำลังใจกัน ความเบื่อหน่ายจึงเกิดขึ้นง่าย และทวีความรุนแรงกลายเป็น ‘Boreout Syndrome’ ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงสาเหตุส่วนหนึ่งของการเกิดภาวะเบื่อหน่ายเรื้อรังในหมู่คนทำงานเท่านั้น เพราะ ‘โจ เพย์น (Jo Payne)’ ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลของบริษัท HR Path เผยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้พนักงานประสบกับ ‘Boreout Syndrome’ นั้น เป็นเพราะงานที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันไม่ท้าทาย และไม่ได้ช่วยเพิ่มพูนศักยภาพและความสามารถเท่าที่ควร พนักงานจึงสูญเสียแรงจูงใจ รู้สึกไม่มีคุณค่า จนเริ่มอยากมองหาโอกาสใหม่ๆ มากขึ้น

โดยจากผลสำรวจของ ‘Qapa’ บริษัทจัดหางานสัญชาติฝรั่งเศสพบว่า พนักงานชาวฝรั่งเศสมีภาวะเบื่อหน่ายเรื้อรังกับการทำงานมากถึง 60% หากปล่อยไว้ ก็มีแต่จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานและคุณภาพผลงานต่ำลง รวมถึงอัตราการลาออกก็อาจสูงขึ้นตามมา หัวหน้าและผู้นำในองค์กรจึงควรเร่งหาวิธีรับมือ ถ้าไม่อยากให้ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของบริษัทในระยะยาว

สำหรับใครหลายคน แม้ ‘Boreout Syndrome’ จะดูเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไข เนื่องจากความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นในพนักงานเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ ‘เบนจามิน เลเกอร์ (Benjamin Laker)’ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทักษะการเป็นผู้นำจาก Henley Business School ก็แนะนำว่า นายจ้างหรือแม้แต่ตัวพนักงานเองก็สามารถรับมือและป้องกัน ‘Boreout Syndrome’ ได้ดังนี้

1. กำหนดเป้าหมายในการทำงานใหม่ให้ท้าทาย

นายจ้างและพนักงานควรร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการทำงานใหม่ ให้มีความท้าทายแต่ก็สามารถทำได้จริง เพราะถ้าเป้าหมายง่ายเกินไป พนักงานก็อาจรู้สึกว่างานนั้นไม่มีคุณค่า ในขณะเดียวกัน เป้าหมายที่ยากเกินไปก็อาจทำให้พนักงานท้อได้

โดยสำหรับงานรูทีน การตั้งเป้าหมายระยะสั้นที่วัดผลได้ชัดเจน ก็จะช่วยให้พนักงานเห็นความก้าวหน้าในการทำงาน ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ปรับเป้าหมายให้สอดคล้องกับความสามารถและความต้องการในการเติบโตของพนักงานได้ ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเบื่อหน่ายเรื้อรังก็จะลดลง

2. หาโอกาสที่จะได้ตัดสินใจหรือมีส่วนร่วมในการทำงาน

พนักงานควรหาโอกาสที่จะได้ทำงานหรืออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง เช่น ขอโอกาสในการจัดการงานบางส่วนด้วยตัวเอง เพราะการถูกสั่งให้ทำงานเดิมซ้ำๆ โดยไม่มีสิทธิ์เลือกหรือปรับเปลี่ยนวิธีการ จะทำให้พนักงานขาดอิสระในการทำงาน รู้สึกว่างานที่ทำอยู่นั้นไร้ความหมาย จนเกิดเป็น ‘Boreout Syndrome’ ได้

ในขณะเดียวกัน องค์กรก็ควรสร้างบรรยากาศในที่ทำงาน ที่เอื้อให้พนักงานกล้าแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะการให้อิสระในการทำงานจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจ และทำให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของงานด้วย

3. หมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ 

‘Boreout Syndrome’ มักเกิดจากการที่ต้องทำงานแบบเดิมทุกวัน โดยไม่มีอะไรแปลกใหม่หรือได้พัฒนาตนเอง ดังนั้น องค์กรจึงควรส่งพนักงานไปอมรม สัมมนา หรือทดลองทำงานในแผนกอื่นบ้าง ในขณะเดียวกัน พนักงานเองก็ควรหาโอกาสเพิ่มพูนความรู้ด้วยตนเองอยู่เสมอเช่นกัน เช่น ลงเรียนคอร์สออนไลน์ ขอให้เพื่อนร่วมงานช่วยสอนทักษะใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น

4. ทำกิจกรรมที่ชอบนอกเวลางาน

การที่เราจะแก้ปัญหา ‘Boreout Syndrome’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นไม่ใช่แค่การทุ่มเทกับงานเพียงอย่างเดียว แต่พนักงานจะต้องแบ่งเวลาให้กับชีวิตส่วนตัวด้วย แรงจูงใจในการทำงานจึงจะเพิ่มขึ้น

ดังนั้น หลังเลิกงาน พนักงานก็ควรเปลี่ยนไปทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ชอบบ้าง เช่น เล่นกีฬา นัดเจอเพื่อนฝูง เพราะกิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยชาร์จพลังกาย แต่ยังเพิ่มพลังใจและความคิดสร้างสรรค์ด้วย ในขณะเดียวกัน บริษัทเองก็ควรส่งเสริมให้พนักงานได้ใช้ชีวิตทำอย่างอื่นนอกเหนือจากการทำงานเช่นกัน เช่น เปิดโอกาสให้มีเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น เป็นต้น

‘Boreout Syndrome’ คือปัญหาที่มีอยู่จริงในโลกการทำงาน ที่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างองค์กรกับพนักงาน และไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง ทุกฝ่ายในองค์กรจึงควรหันมาสื่อสารกันอย่างเปิดเผยเพื่อหาทางออกร่วมกัน เช่น ปรับเปลี่ยนลักษณะงานด้วยการเพิ่มความท้าทาย เพื่อให้ชีวิตการทำงานของทุกๆ ฝ่ายมีแต่ความสุขและยั่งยืน


อ้างอิง
– Beyond Burnout: Adam Grant Warns of Rising ‘Boreout’ Among Employees : Bruce Crumley, Inc. – https://bit.ly/41ZzVpF
– What is boreout, and how do you fix it? : Hannah Taylor, Forecast – https://bit.ly/4iCkTgG


#trend
#worklife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า