เชื่อว่าช่วงนี้เรามักจะได้ยินคำว่า ‘Alien Species’ กันบ่อยๆ เนื่องจากหลายพื้นที่กำลังประสบปัญหาการเพิ่มจำนวนของ ‘ปลาหมอคางดำ’ หรือปลาหมอสีคางดำในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน จ.สมุทรสงคราม และ จ.เพชรบุรีที่ได้รับผลกระทบจาก Alien Species ชนิดนี้
แม้แต่แหล่งน้ำในกรุงเทพฯ เองก็พบจำนวนของปลาชนิดนี้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งผลกระทบก็ทำให้ชาวประมงในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจนถึงขั้นต้องเปลี่ยนอาชีพทำมาหากิน เนื่องจากปลาหมอคางดำทำให้ชาวประมงในพื้นที่ไม่สามารถจับสัตว์น้ำชนิดอื่นได้เลย จนปัจจุบันนี้สถานการณ์ดังกล่าวแทบจะเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตที่ทางการของแต่ละจังหวัดต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขและเยียวยาเกษตรกร รวมทั้งชาวประมงผู้เสียหายโดยด่วน
แต่ ‘Alien Species’ อย่างปลาหมอคางดำ ซึ่งไม่ใช่สัตว์หรือพืชท้องถิ่นของไทยเข้ามาในแหล่งน้ำประเทศไทยได้อย่างไร? แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้า Alien Species ยังคงเพิ่มจำนวนต่อไป?
‘Alien Invasive Species’ สัตว์ต่างถิ่นผู้รุกรานระบบนิเวศ
จริงๆ แล้ว Alien Species เป็นคำที่กล่าวถึงสิ่งมีชีวิตไม่ได้มีต้นกำเนิดในพื้นที่นั้นๆ แต่ถูกนำมาจากที่อื่น ส่วนอีกคำที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ Invasive Species หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่คุกคามระบบนิเวศ ทำลายที่อยู่อาศัย หรือสิ่งมีชีวิตอื่น
ดังนั้นสัตว์แปลกหน้าที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในระบบนิเวศนี้แต่แรก และเข้ามารุกราน รวมถึงทำลายระบบนิเวศ จนทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างจะถูกเรียกว่า Alien Invasive Species แต่เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ในบทความนี้จะขอเรียกสัตว์ต่างถิ่นผู้รุกรานระบบนิเวศว่า ‘เอเลียนสปีชีส์’
ซึ่งมักจะมีความสามารถในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมต่างถิ่นสูงมาก อีกทั้งมีขนาดตัวที่ใหญ่ มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วว่องไว ทำให้เอเลียนสปีชีส์มีศัตรูธรรมชาติน้อย และสัตว์ท้องถิ่นหรือสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่ากลายเป็นอาหารของเอเลียนสปีชีส์จนมีจำนวนน้อยลง และอาจสูญพันธุ์ไปในที่สุด
ในประเทศเราพบการระบาดของเอเลียนสปีชีส์มาหลายชนิดแล้ว เช่น ปลาซักเกอร์ กุ้งเครย์ฟิช หอยเชอรี่ เต่าญี่ปุ่น ตะพาบไต้หวัน ปลาทับทิม ปลานิล ฯลฯ ก็นับว่าเป็นผู้รุกรานที่เคยสร้างความเสียหายกับระบบนิเวศท้องถิ่นมาแล้วทั้งนั้น
โดยปัญหานี้เกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและฝีมือของมนุษย์ โดยจากการสำรวจของ IPBES หรือองค์กรอิสระระหว่างรัฐบาล ที่ก่อตั้งขึ้นมาจากอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พบว่ามีเอเลียนสปีชีส์ที่เป็นภัยต่อระบบนิเวศถูกเคลื่อนย้ายโดยฝีมือมนุษย์มากถึง 35,000 สายพันธุ์
แต่ภัยคุกคามจากเอเลียนสปีชีส์ดูจะไม่ได้อยู่ในการรับรู้ของผู้คนในวงกว้าง โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เป็นทั้งประเทศสายบุญ และประเทศที่ไม่มีกฎหมายควบคุมการนำเข้าสัตว์ท้องถิ่นอย่างจริงจัง กิจกรรมปล่อยปลา หรือการนำเข้ามาเพื่อจุดประสงค์บางอย่างก็อาจทำให้เอเลียนสปีชีส์เหล่านี้หลุดลอดเข้ามาในแหล่งน้ำ และรุกรานปลาท้องถิ่นของเราได้
แม้แต่คนท้องถิ่นเองก็อาจจะไม่ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้สูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจไปได้ เนื่องจากการรายงานของ IPBES ระบุว่าในปี 2019 หลายประเทศต้องสูญเสียงบประมาณไปมากถึง 423,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อการจัดการปัญหาการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ท้องถิ่นจากการรุกรานของเอเลียนสปีชีส์ ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่น่ากังวลไม่น้อย
จะพลิกวิกฤต ‘ปลาหมอคางดำ’ เป็นโอกาสได้อย่างไร?
นอกจากผลกระทบทางด้านงบประมาณและเศรษฐกิจแล้ว เอเลียนสปีชีส์ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาพของผู้คนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะชุมชนในท้องถิ่นที่พึ่งพาธรรมชาติโดยตรง เช่น ต.แพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่ทำนากุ้ง ฟาร์มเลี้ยงหอย และบ่อปลาของชาวประมง
แต่ภายในระยะเวลา 10 ปีให้หลังพบว่าชางประมงจับปลาหมอคางดำได้มากขึ้น มีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น ในขณะเดียวกันกลับจับกุ้ง หอย และปลาชนิดอื่นๆ ได้น้อยลง เพราะปลาหมอคางดำกินลูกกุ้ง ลูกหอยและปลาตัวเล็กจนทำให้ชาวประมงส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจนแทบหมดเนื้อหมดตัว
อย่างไรก็ตาม ปลาหมอคางดำไม่ใช่เอเลียนสปีชีส์สายพันธ์ุแรกที่บุกรุกแหล่งน้ำธรรมชาติในไทย แล้วปัญหานี้ก็มีมานานนับสิบปีแล้วด้วย การหาแนวทางแก้ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไรให้เร็วที่สุด?
ตอนนี้หลายพื้นที่กำลังวางอวนเพื่อจับปลาหมอคางดำโดยเฉพาะ เพื่อนำไปขายต่อในจุดรับซื้อปลาหมอคางดำที่ให้ราคาดี และอีกหนึ่งในวิธีแก้ไขที่เร็วที่สุด สำหรับการกำจัดเอเลียนสปีชีส์อย่างปลาหมอคางดำก็คือ ‘การเพิ่มมูลค่าทางตลาด’ โดยอาจใช้วิธีแปรรูป
เช่น แปรรูปเป็นปลาป่นแล้วเอาไปเลี้ยงสัตว์ หรือส่งออกต่างประเทศ บางพื้นที่เปิดให้ประชาชนจับปลาหมอคางดำเพื่อนำไปประกอบอาหารโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้กินเนื้อปลาหมอคางดำที่มาจากพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำเน่าเสีย เนื่องจากอาจมีเชื้อโรคปะปนมากับปลาด้วย
นอกจากนี้หากภาครัฐมีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการนำเข้าสัตว์ต่างถิ่นอย่างเข้มงวด มีการสอบสวนที่มาของสัตว์ต่างถิ่น รวมถึงกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างจริงจังมากกว่านี้ก็อาจจะสามารถป้องกัน และแก้ปัญหาการรุกรานของเอเลียนสปีชีส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ชีวิตของผู้คนดำเนินอยู่ได้ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยแต่ละท้องถิ่นก็จะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นของตัวเอง ขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศ และสิ่งมีชีวิตในถิ่นกำเนิดของใครของมัน แต่เมื่อเอเลียนสปีชีส์เข้ามารุกรานก็ทำให้พืชหรือสัตว์ที่เคยเป็นแหล่งเศรษฐกิจหลักของประชาชนในพื้นที่ลดลง และสร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติ รวมถึงเศรษฐกิจของท้องถิ่น
ถึงแม้ว่าในตอนนี้จะยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าปลาหมอคางดำเข้ามาในน่านน้ำไทยได้อย่างไร แต่ปัจจุบันนี้ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำกลายเป็นปัญหาหลักที่หน่วยงานท้องถิ่นต้องเร่งเยียวยาเกษตรกร ชาวประมง รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะถูกเอเลียนสปีชีส์ชนิดนี้ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และไม่มีปลาสายพันธุ์อื่นหลงเหลืออยู่อีกเลย
อ้างอิง
– Alien species threaten food supply, public health, and cost $423 billion : Liza Tetley, Bloomberg – https://bloom.bg/4f7UA0P
– ปลาหมอสีคางดำที่แพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ มาจาก CPF จริงหรือไม่ ? : จิราภรณ์ ศรีแจ่ม, BBC NEWS ไทย – https://bbc.in/4cWPQK1
– โปรดสัตว์ได้บาป : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร – https://bit.ly/3Y602LE
– Media Release: IPBES Invasive Alien Species Assessment : IPBE – https://bit.ly/4cGnK5v
#ปลาหมอคางดำ
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast