NEWSTrends‘สมาธิสั้น’ ไม่ได้เกิดแต่กับเด็ก ภาวะ ADHD ผู้ใหญ่ก็เป็นได้ แถมอันตรายกว่าที่คิด

‘สมาธิสั้น’ ไม่ได้เกิดแต่กับเด็ก ภาวะ ADHD ผู้ใหญ่ก็เป็นได้ แถมอันตรายกว่าที่คิด

เคยเจอคนเหล่านี้บ้างไหม?

คนเจ้าอารมณ์ โมโหง่าย ควบคุมตัวเองไม่ค่อยอยู่ หรือคนใกล้ตัวที่มีปัญหาด้านการทำงาน ขี้ลืมบ่อยๆ และมักจะสร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อนร่วมงานอยู่ตลอด บางครั้งพฤติกรรมบางอย่างที่สร้างปัญหาให้ผู้อื่นก็ไม่ได้มาจากนิสัยส่วนตัวอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจเกิดขึ้นจากโรคภัยบางอย่างที่เรากำลังมองข้ามมันไปก็ได้

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นาน ‘ภาวะสมาธิสั้น’ หรือ ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ในกลุ่มประชากรวัยผู้ใหญ่ได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในแอปฯ X อย่างไรก็ตามถ้ายึดจากความเข้าใจพื้นฐานของคนไทยส่วนใหญ่แล้ว โรคสมาธิสั้นมักจะเป็นปัญหาของเด็กมากกว่าคนที่โตแล้ว

โดยบทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘ภาวะสมาธิสั้น’ หรือ ADHD ในผู้ใหญ่ ที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลังมานี้ และสำรวจปัจจัยที่ทำให้โรคนี้รุนแรงกับสุขภาวะของผู้คนมากขึ้น รวมทั้งหาแนวทางป้องกันแก้ไขไปพร้อมกัน

‘ภาวะสมาธิสั้น’ หรือ ADHD (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) คือภาวะทางจิตเวชอย่างหนึ่งที่เกิดจากการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ผิดปกติ โดยเฉพาะบริเวณที่ทำงานเกี่ยวกับการคิด การวางแผน การจัดลำดับสิ่งต่างๆ และการควบคุมตนเอง

ซึ่งพบได้บ่อยในกลุ่มประชากรเด็กและวัยรุ่น ทำให้เด็กที่มีอาการ ADHD มักจะมีพฤติกรรมซุกซน ไม่อยู่นิ่ง พูดมาก พูดเก่ง ชอบเล่นหรือทำเสียงดังๆ เล่นกับเพื่อนแรงๆ ซึ่งเรามักจะเรียนเด็กกลุ่มนี้ว่า “เด็กไฮเปอร์”  

นอกจากนั้นแล้วเรายังพบกลุ่มอาการอีก 2 ลักษณะจากผู้ป่วยที่มีภาวะ ADHD ได้แก่ พฤติกรรมขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรนานๆ ได้ ขี้ลืม เบื่อง่าย ไม่ค่อยรอบคอบ หรือทำงานไม่เสร็จตามเวลา และพฤติกรรมขาดความยับยั้งชั่งใจ ทำให้ผู้ป่วยมีนิสัยใจร้อน หุนหันพลันแล่น ขาดความระมัดระวังในการทำสิ่งต่างๆ หรือรอคอยอะไรไม่ค่อยได้

โดยปกติแล้ว ในกลุ่มเด็กที่มีอาการไม่รุนแรงนัก พฤติกรรมที่เกิดจากภาวะสมาธิสั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเด็กเริ่มโต หรือในบางรายที่มีอาการรุนแรงก็อาจจะต้องปรึกษาคุณหมอ และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด แต่สิ่งที่หลายคนยังไม่รู้ก็คือภาวะ ADHD นี้ยังเกิดกับผู้ใหญ่ได้ และดูเหมือนจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในไม่กี่ปีให้หลังนี้ 

ที่จริงแล้วภาวะ ADHD ในผู้ใหญ่เป็นปัญหาที่สาธารณสุขต่างประเทศเริ่มพูดถึงในวงกว้างแล้ว และมีมาตรการในการจัดการกับจำนวนผู้ป่วย ADHD วัยผู้ใหญ่ที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น ในสหราชอาณาจักรมีจำนวนผู้ป่วยที่รอการประเมินอย่างน้อย 196,000 คน และจากการรายงานของ BBC พบว่าต้องใช้เวลามากถึง 8 ปีในการจัดการกับจำนวนผู้ป่วยที่รอการรักษาเหล่านี้ให้เข้าสู่กระบวนการรักษา

เท่านั้นยังไม่พอ NHS หรือระบบบริการสุขภาพแห่งชาติยังเผยแพร่สถิติของผู้ป่วยโรค ADHD วัยผู้ใหญ่อีกด้วยว่า ในปัจจุบันมีการส่งต่อผู้ป่วย ADHD เพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2019 และมีผู้ป่วยที่รอเข้ารับการรักษามากถึง 6,000 คนในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ Golden Steps ABA เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านการบำบัดโดยการวิเคราะห์และปรับพฤติกรรม (ABA) สำหรับเด็กที่มีภาวะออทิสติกสเปกตรัม (ASD) ยังกล่าวถึงสถิติเกี่ยวกับภาวะ ADHD ในผู้ใหญ่ที่น่าสนใจดังนี้

[  ] ในสหรัฐฯ มีผู้ป่วย ADHD ที่เป็นผู้ใหญ่อยู่ประมาณ 4% และมีแนวโน้มว่าผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดด้วย
[  ] ผู้ที่เป็น ADHD กว่า 70% มีโรคทางสุขภาพจิตอื่นๆ ร่วมด้วยอย่างน้อยหนึ่งโรค
[  ] ผู้ที่เป็น ADHD มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรควิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า
[  ] ผู้ใหญ่ที่เป็น ADHD ที่ไม่ได้รับการรักษา หรือไม่ได้รับการวินิจฉัยอาจมีปัญหาด้านการทำงาน ความสัมพันธ์ และความมั่นคงทางการเงิน
[  ] ผู้ป่วย ADHD ที่ไม่ได้รับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์มักมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์สูงมากกว่าคนทั่วไป
[  ] ผู้ป่วย ADHD ที่ไม่ได้รับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์อาจมีปัญหาด้านการจัดการเวลา การจัดระเบียบ และการควบคุมยับยั้งชั่งใจตัวเอง

ทั้งนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีงานศึกษา หรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะ ADHD ในผู้ใหญ่ที่เป็นปัจจุบันแพร่หลายนัก แต่จากบทความที่เผยแพร่ในวารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2560 ที่สำรวจลักษณะของผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นในวัยผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 20-61 ปีที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรามาธิบดีพบว่ามีความน่าสนใจ และสอดคล้องกับผลการศึกษาของต่างประเทศหลายประการ เช่น

[  ] มีผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาภาวะ ADHD เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยอาการเด่นที่พบมากเป็นส่วนใหญ่คือ ‘กลุ่มพฤติกรรมขาดสมาธิ’ เช่น ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรนานๆ ได้ ขี้ลืม เบื่อง่าย ไม่ค่อยรอบคอบ ทำงานไม่เสร็จตามเวลา ทำงานผิดพลาด และไร้ระเบียบ
[  ] ผู้ป่วยเกิน 40% มีโรคทางจิตเวชอื่นๆ ร่วมด้วยอย่างน้อย 1 ชนิด โดยโรคร่วมที่พบมากที่สุดคือโรคในกลุ่มความผิดปกติทางอารมณ์
[  ] อาการซน และอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity) ที่พบในผู้ป่วย ADHD วัยผู้ใหญ่มีเพียง 0.8% และอาจแสดงออกในรูปแบบของอาการกระสับกระส่าย เช่น ไม่สามารถนั่งประชุมเป็นเวลานานๆ หรือจดจ่อกับงานที่ต้องใช้สมาธิสูงได้ 
[  ] อาการขาดความยับยั้งชั่งใจที่พบในผู้ป่วย ADHD วัยผู้ใหญ่อาจแสดงออกในรูปแบบของพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น และใจร้อน เช่น ตอนขับรถ หรือตอนแสดงอารมณ์
[  ] ผู้ป่วย ADHD วัยผู้ใหญ่อาจมีปัญหาด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปัญหาด้านกฎหมาย การใช้สารเสพติด อุบัติเหตุ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ปัญหาด้านบุคลิกภาพ การตั้งครรภ์พึงประสงค์ รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวกับการจ้างงานด้วย

ภาวะ ADHD ในผู้ใหญ่เป็นโรคทางจิตเวชที่สามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น ยา การบำบัด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตก็สามารถรักษาอาการสมาธิสั้นในวัยผู้ใหญ่ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการวินิจฉัยของหมอ

อย่างไรก็ตาม การสร้างความตระหนักรู้ของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ให้กับประชาชนก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เราสามารถสังเกตตัวเอง รวมถึงคนรอบข้างได้ไว และรักษาได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้การตระหนักรู้ในภาวะ ADHD ในวัยผู้ใหญ่ยังสามารถลดอุบัติเหตุ รวมถึงโรคจิตเวชอันตรายอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นเราในยุคที่โลกเต็มไปด้วยความกดดันรอบทิศทางอย่างทุกวันนี้ได้อีกด้วย

อ้างอิง
– ลักษณะทางคลินิกของโรคสมาธิสั้นในวัยผู้ใหญ่ Clinical Presentations of Attention-Deficit/ Hyperactivity Disorder in Adults : นิดา  ลิ้มสุวรรณ และภัทรพร  วิสาจันทร์, วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 2560 – https://bit.ly/3Bb1CTa
– 34 ADHD Statistics: How Many People Have ADHD? : Golden Steps ABA – https://bit.ly/41gfqq5
– Eight-year ADHD backlog at NHS clinics revealed : Catherine Burns and Vicki Loader, BBC – https://bit.ly/3ZjzV2t

#ADHD
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า