เคยคิดไหมว่าคุณอยากเกษียณจากชีวิตการทำงานตอนอายุเท่าไร?
ในการรับรู้ของคนไทยที่มีมาอย่างยาวนาน เรามักจะเกษียณและปลดตัวเองออกจากสถานะ ‘คนทำงาน’ เมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และได้รับค่าครองชีพจากระบบบำนาญ รวมถึงเบี้ยผู้สูงอายุจำนวน 600 บาทต่อเดือน แต่ด้วยภาระค่าใช้จ่าย และพิษเศรษฐกิจทำให้คนไทยกว่า 70% ไม่มีเงินเก็บที่เพียงพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณ และยังคงต้องทำงานต่อไปเรื่อยๆ
ถึงแม้ว่านี่จะเป็นความจริงที่ปรากฏอย่างเห็นได้ชัดในสังคมไทย แต่สำหรับตลาดแรงงานแล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่พนักงานสูงวัยที่มีประสบการณ์สูงจะได้รับการว่าจ้าง และได้รับสวัสดิการที่เหมาะกับวัยของแรงงานกลุ่มนี้ และต่อให้จะเอาชนะเลขอายุ เงื่อนไขสุขภาพ ค่านิยมของสังคม เพื่อทำงานต่อไปได้แล้ว แต่การไม่ได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมจากบริษัทก็ทำให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้
ในสหรัฐอเมริกาเองก็เกิดสถานการณ์ที่คล้ายกัน เนื่องจากอายุเฉลี่ยของคนทำงานในสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 42 ปี ซึ่งในบางสาขาอาชีพมีค่าเฉลี่ยที่สูงมากกว่านั้นอีก ทำให้ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปกลายเป็นกลุ่มแรงงานขนาดใหญ่ที่กำลังขยายตัวของสหรัฐฯ
แต่ถึงอย่างนั้น จากข้อมูลการสำรวจขององค์กรไม่แสวงผลกำไร AARP กลับพบว่ามีเพียงไม่กี่องค์กรที่ให้ความสำคัญกับแรงงานกลุ่มนี้ โดยจากผลการสำรวจมีบริษัทที่มุ่งมั่นในการสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุในสหรัฐฯ น้อยกว่า 4% นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่รับรู้ถึงปัญหานี้ และจะพิจารณาเพื่อสนับสนุนแรงงานสูงอายุในองค์กรอยู่แค่ 27% เท่านั้น
นี่นับว่าเป็นความท้าทายใหญ่ที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานสหรัฐๆ แล้ว HR รวมถึงองค์กรต่างๆ จะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไรบ้าง?
สถิติของการจ้าง ‘แรงงานสูงอายุ’ ใน US พุ่งสูงกว่า 117% เมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อน
ในปัจจุบันหลายประเทศเข้าสู่การเป็น ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ไปเรียบร้อยแล้ว และประชากรชาวสหรัฐฯ มีอายุเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้แรงงานสูงวัยมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยจากการสำรวจสำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐฯ (Bureau of Labor Statistics) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมพบว่า การจ้างงานแรงงานที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น 117% ภายในระยะเวลา 20 ปี
เช่นเดียวกับแรงงานที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไปที่มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น 117% เช่นกัน เท่านั้นยังไม่พอ ข้อมูลยังเผยให้เห็นอีกด้วยว่าการจ้างงานกลุ่มผู้สูงอายุเป็นพนักงานประจำก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แรงงานกลุ่มนี้กลับได้รับบาดเจ็บ และมีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่าแรงงานในช่วงอายุอื่นๆ เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านร่างกาย
โดยจากการสำรวจของ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) พบว่า ชาวอเมริกันที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 2 ใน 5 มีภาวะทุพพลภาพหลายลักษณะ เช่น ความบกพร่องทางสายตาและการมองเห็น อาการปวดหลัง และโรคแทรกซ้อนตามอายุ ทำให้การปรับตัวเข้ากับสถานที่ทำงานกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากของคนกลุ่มนี้
แม้ว่าการสนับสนุนสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพของแรงงานสูงวัยจะเป็นเรื่องใหม่ที่ทั้งยากและท้าทายองค์กรอย่างมาก ทำให้หลายบริษัทหลีกเลี่ยงการจ้างงานประชากรกลุ่มนี้ แต่ด้วยปรากฏการณ์ด้านสังคมและการเปลี่ยนแปลงของประชากร ทำให้หลายบริษัทไม่อาจหลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้ได้
ดังนั้น HR รวมถึงองค์กรบริษัทต่างๆ จะสามารถดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือ สนับสนุน และยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของแรงงานสูงอายุได้อย่างไร?
ชวนสำรวจแนวทางการรับมือกับจำนวน ‘แรงงานสูงวัย’ ที่เพิ่มมากขึ้น
จริงๆ แล้วการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานสูงวัยที่มีข้อจำกัดทางร่างกายสูงก็ไม่ต่างกับการดูแลพนักงานทั่วไป กล่าวคือ องค์กรหรือ HR สามารถเพิ่มการสนับสนุนได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นประกันกลุ่ม สวัสดิการ หรือการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่ทำงานให้เหมาะสมกับคนทำงานวัยนี้มากขึ้น เช่น
[ ] ปรับปรุงทัศนียภาพในที่ทำงานให้เหมาะกับพนักงานสูงวัย
แนวทางการทำงานแบบ Remote Working หรือ Work from Anywhere อาจไม่เหมาะกับพนักงานกลุ่มนี้สักเท่าไรนัก บริษัทจึงต้องเตรียมสถานที่ หรือออฟฟิศเอาไว้ให้พร้อมสำหรับพวกเขา
เอริน แมคแดนนัลด์ (Erin McDannald) CEO ของ Elevated บริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสำหรับการก่อสร้างอาคารกล่าวว่า สุขภาพของพนักงานทุกช่วงวัยถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกๆ ของทุกบริษัท ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศ แสง เสียง หรือสภาพแวดล้อมรอบสถานที่ทำงานก็ล้วนส่งผลต่อความเครียด ความคิด และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้สูงวัยที่อ่อนไหวต่อปัจจัยแวดล้อมนี้มากกว่าพนักงานในช่วงวัยอื่นๆ
[ ] HR ต้องทำความคุ้นเคยกับ ‘ข้อกฎหมาย’ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานสูงวัย
การทำความคุ้นเคยกับกฎหมายสำหรับแรงงานกลุ่มนี้จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจความต้องการ และรู้วิธีที่จะสนับสนุนความต้องการของพนักงานกลุ่มนี้มากขึ้น และต้องคอยจัดการอบรมเพื่อให้พนักงานสูงวัยได้รับรู้สิทธิตามกฎหมายของตัวเองด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติด้านอายุในที่ทำงาน สิทธิในการขอการอำนวยความสะดวกตามที่สมควรสำหรับผู้พิการสูงวัย รวมไปถึงเทคโนโลยี และอุปกรณ์สำนักงานที่เหมาะกับสรีระกับตำแหน่งงาน เป็นต้น
คริสเตียน กรอสส์มันน์ (Cristian Grossmann) CEO ของ Beekeeper แอปพลิเคชันที่ออกแบบมาเพื่อคนทำงานได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการอำนวยความสะดวกไปยังพนักงานทุกคน ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ทำงานในสำนักงาน เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และมีความเครียดน้อยที่สุด
[ ] ดูแลสุขภาวะทั้งทางกายและทางใจให้กับพนักงานสูงวัย
นอกเหนือจากข้อกฎหมายและสภาพแวดล้อมแล้ว การสนับสนุนสุขภาวะทางกายและทางใจของพนักงานกลุ่มนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน และเป็นสิ่งที่ HR ขององค์กรบริษัทต่างๆ ต้องศึกษาความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับพนักงานกลุ่มนี้ให้ดีด้วย
ทิม โกลวา (Tim Glowa) ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Brain ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับ HR กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสำหรับแรงงานสูงอายุถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังในกลุ่มผู้สูงวัย เช่น โรคเบาหวาน และโรคหัวใจที่มีอัตราสูงขึ้น และมีแนวโน้มความรุนแรงของโรคมากขึ้น นายจ้างจึงควรพิจารณาที่จะร่วมมือกับโรงพยาบาลโดยตรง เพื่อสร้างแนวทางการดูแลที่ปรับแต่งสำหรับพนักงานสูงอายุโดยเฉพาะ และช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับพนักงานด้วย
นี่เป็นแนวทางที่ HR รวมถึงบริษัทองค์กรต่างๆ ในสหรัฐฯ เลือกใช้เพื่อรับมือกับจำนวนพนักงานสูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการกลายเป็น ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบไปยังด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง
การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งแนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ การเพิ่มรายได้และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการรัฐ เท่านั้นยังไม่พอ แม้จะเป็นประชากรสูงอายุ แต่การได้รับโอกาสทางด้านอาชีพการงาน และการสร้างรายได้ที่เทียบเท่ากับแรงงานกลุ่มอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องการด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
– Aging workforce calls for a closer look at workplace design : Tony Case, Worklife – https://bit.ly/3ZdSztP
– Data and Statistics on Aging Workers : CDC – https://bit.ly/3YPIK40
#agingsociety
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast