NEWSTrendsเห็นข่าวแมส อย่าเพิ่งแชร์! Oxford ชี้ 3 เทคนิครู้เท่าทัน ‘Fake News’

เห็นข่าวแมส อย่าเพิ่งแชร์! Oxford ชี้ 3 เทคนิครู้เท่าทัน ‘Fake News’

คิดว่าเรามีนิสัยอ่านข้อความพาดหัวแล้วแชร์เลยกันบ้างหรือเปล่า? ถ้าใช่ก็แปลว่า…เราอาจจะกำลังตกเป็นเหยื่อของ ‘ข่าวลวง’ โดยไม่รู้ตัว!

ในยุคที่เทคโนโลยีทำลายข้อจำกัดด้านเวลาและพรมแดน ทำให้เราสามารถรับรู้ข่าวสารและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอีกมุมหนึ่งของโลกได้ตามเวลาจริง สามารถเกาะติดความคืบหน้าได้แทบ 24 ชั่วโมง และไม่ถูกปิดกั้นการเข้าถึงสื่อข้อมูลข่าวสารเหมือนอย่างในอดีต

แต่การพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุดของเทคโนโลยีก็ทำให้ผู้คนต้องเผชิญกับ ‘ข่าวลวง’ หรือ Fake News มากมายมหาศาล จนสร้างผลกระทบให้กับสังคม นับตั้งแต่ระดับรายบุคคลไปจนถึงระดับประเทศชาติด้วยเช่นกัน และในบางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นเป็น ‘ภัยคุกคาม’ เลยก็ว่าได้

โดยบทความนี้จะพาทุกคนไปสำรวจกลไกทางจิตวิทยาที่ทำให้เราหลงเชื่อ หรือตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง รวมทั้งหาคำตอบไปพร้อมๆ กันว่า เราจะป้องกันตัวเองจากข่าวลวงเหล่านั้นอย่างไร

ก่อนที่จะหาคำตอบว่า “ทำไมผู้คนถึงแชร์ข่าวลวงมากกว่าข่าวจริง?” เราอยากชวนทุกคนมาสำรวจประเด็นที่ว่า “ทำไมข่าวลวงถึงน่าเชื่อถือมากกว่าข่าวจริง?” กันก่อน

สาเหตุที่ทำให้คนหลงเชื่อ หรือตกหลุมพรางของข่าวลวงมีหลายประการ โดยสเตฟาน เลวานโดวสกี (Stephan Lewandowsky) นักจิตวิทยาชาวออสเตรเลียกล่าวว่า ‘อคติทางความคิด’ (Bias) มีส่วนสำคัญที่ทำให้เราหลงเชื่อข่าวลวงโดยไม่รู้ตัว

โดยกลไกทางจิตวิทยาสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงมีอยู่ 2 ตัว ได้แก่ Cognitive Bias หรืออคติทางความคิดที่ทำให้เราหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดหรือความเชื่อของตัวเอง และ Confirmative Bias หรืออคติทางความคิดที่ทำให้เราเลือกเชื่อแต่ข้อมูลที่ตรงกับความคิดเห็นของเรา และปิดกั้นข้อมูลที่ขัดแย้งกับความคิดเห็นของเรา

นอกจากนี้ ‘กระแสสังคม’ หรือ Bandwagon Effect ก็มีอิทธิพลมากเช่นกัน โดยเลวานโดวสกีกล่าวอีกว่าการกด Like หรือกด Share ถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมรูปแบบหนึ่ง และผู้คนมักจะต้องการมีส่วนร่วม และต้องการการยอมรับจากคนส่วนใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้นยอดไลก์และยอดแชร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็มีส่วนทำให้เราเชื่อ และกดแชร์ต่อโดยไม่ได้พิจารณาเนื้อหาอย่างละเอียด

เมื่อยอด Engagement ของข้อมูลข่าวสารในออนไลน์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จะนำไปสู่ปรากฏการณ์กระแสนิยม หรือที่ชาวเน็ตคุ้นเคยกันว่า “แมสแล้ว” ทำให้หลายคนเชื่อไปตามๆ กันโดยไม่รู้ว่าหลายโพสต์ที่แมสในโซเชียลมีเดียเป็นข่าวลวงหรือข่าวจริงกันแน่

ยิ่งไปกว่านั้น เลวานโดวสกียังพบว่าไม้ตายสำคัญของข่าวลวงก็คือ ‘การเล่นกับใจคน’ หรือใช้วิธีชี้นำด้วยอารมณ์นั่นเอง ในข้อความพาดหัว หรือปกคลิปในข่าวลวงส่วนใหญ่มักจะใช้คำ หรือภาพที่กระตุ้นอารมณ์ของผู้คน เช่น โกรธ แค้น เศร้า สงสาร หรือทำให้รู้สึกว่าเนื้อหาข่าวมีส่วนเชื่อมโยงกับตัวผู้อ่าน ยิ่งผู้อ่านถูกกระตุ้นอารมณ์เหล่านี้มากเท่าไร ก็จะยิ่งกดแชร์ไวขึ้นมากเท่านั้น 

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ข่าวลวงแพร่กระจายเร็วกว่าข้อมูลที่เป็นจริงถึง 6 เท่า เพราะผู้คนกำลังมีส่วนร่วมกับข้อมูลที่ยั่วยุอารมณ์ มากกว่าจะใช้เวลาเสพข่าวอย่างมีสติ และตระหนักถึงข้อเท็จจริง

แล้วมีวิธีอะไรบ้างที่ช่วยให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง?

ในปัจจุบัน ข่าวลวงหรือข้อมูลปลอมๆ นับว่าเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลเสียให้กับสังคมทั้งในวงแคบและในวงกว้าง ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ความรู้ผิดๆ เกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็ง ข่าวลวงจากแก๊งคอลเซนเตอร์ หรือข่าวลวงเกี่ยวกับสงครามระหว่างประเทศ เป็นต้น

ซึ่งข้อมูลข่าวสารที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อ โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้มีความรู้ หรือเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีหรือการรับข่าวสารจากออนไลน์ก็จะยิ่งตกเป็นเหยื่อได้อย่างง่ายดาย ดร. ราโคเอน มาร์เทนส์ (Dr. Rakoen Maertens) และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Oxford จึงได้ออกแบบกลยุทธ์ทางจิตวิทยาที่ช่วยให้ผู้คนป้องกัน และรับมือข่าวลวงบนโลกอินเทอร์เน็ตได้ดีขึ้น

โดยทีมนักวิจัยจะทำการอบรมผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 11,000 คน ถึงวิธีตอบสนองต่อโพสต์ข่าวลวง และความสามารถในการระบุโพสต์ข่าวลวงบนโลกออนไลน์ด้วย 3 วิธีดังนี้

[  ] การอ่านบทความสั้นๆ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการจับข่าวลวง
[  ] การดูวิดีโอสั้นๆ ที่แสดงเทคนิคการนำเสนอของข่าวลวง
[  ] การเล่นเกมที่ให้ผู้เข้าร่วมได้ลองสร้างข่าวลวง เพื่อให้เข้าใจการทำงานของข่าวลวงอย่างถ่องแท้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามผลหลังจากเสร็จสิ้นการอบรมไปแล้ว พบว่าการให้ความรู้ด้วยวิธีดังกล่าวทำให้ผู้เข้าร่วมมีความสามารถในการรู้เท่าทันข่าวลวงบนโลกออนไลน์และได้ผลดีทั้งหมด แต่ความรู้และความสามารถนี้จะไม่ถาวร โดยวิธีแรกถือว่าได้ผลดีและผู้เข้าร่วมสามารถจดจำความรู้เกี่ยวกับข่าวลวงได้ยาวนานที่สุด แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้เข้าร่วมก็จะหลงเชื่อข้อมูลเท็จบนอินเทอร์เน็ตอีกครั้ง 

ดังนั้น ทีมนักวิจัยจึงสรุปได้ว่าการอบรมและให้ความรู้เรื่องการจับผิด หรือรู้เท่าทันข่าวลวงเป็นวิธีที่ได้ผลก็จริง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้เหล่านี้ก็จะเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน เราจึงต้องมีการเตือนตัวเองอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ภูมิคุ้มกันต่อข่าวลวงของเราหายไป

อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ผู้คนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น และมีสื่ออยู่ในมือเช่นนี้ ทำให้ความคิดของเราเปิดกว้างและช่วยเสริมความสามารถในการตรวจจับข้อมูลที่ถูกบิดเบือนได้ง่ายกว่าสื่อประเภทดั้งเดิมในยุคก่อนหลายเท่า

แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ควรที่จะเช็กความถูกต้องของข้อมูล หรือที่มาของแหล่งข่าวให้ถี่ถ้วนก่อนแชร์ เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อข่าวลวงหรือข้อมูลเท็จต่างๆ ด้วยตัวเอง และควรเสริมภูมิคุ้มกันที่มีอยู่แต่เดิมให้แข็งแกร่งอยู่ตลอดด้วย

เพียงเท่านี้ เราก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลเท็จ ข่าวลวง หรือ Fake News ทั้งหลายที่ไหลผ่านเข้ามาในหน้าฟีดของเราอีกต่อไป

อ้างอิง
– Fact check: Why do we believe fake news?: Ines Eisele, Deutsche Welle – https://bit.ly/4hj2y73
– This psychological ‘booster’ could help people resist misinformation, a new study finds: Julianna Bragg, CNN – https://bit.ly/41TAcKT


#cognitivebias
#confirmationbias
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า