สถานการณ์ความไม่มั่นคงทางสภาพอากาศ และอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นทุกวันจนกลายเป็นที่มาของคำว่า ‘ภาวะโลกเดือด’ และเมื่อพูดถึงปัญหาโลกร้อน ทางแก้ปัญหาอย่างแรกที่มักโผล่เข้ามาในความคิดของใครหลายคนก็คือการปลูกต้นไม้
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เทรนด์การปลูกต้นไม้เริ่มได้รับความนิยมตามไปด้วย แม้กระทั่งผู้คนที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองก็ยังหันมาทำสวนตามดาดฟ้าของตึก เพื่อสร้างพื้นที่ใกล้ตัวให้เป็นพื้นที่สีเขียว และนอกจากพื้นที่ธรรมชาติใกล้ตัวจะช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังช่วยผ่อนคลายความเครียดจากมลพิษของเมืองได้อีกด้วย
ภาคธุรกิจเองก็กำลังผลักดันแนวคิด Sustainability และอาศัยโอกาสนี้ในการเพิ่มยอดขาย พร้อมโปรโมตโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมขององค์กรไปด้วย เช่น โครงการปลูกต้นไม้ตามยอดขาย เป็นต้น โดยร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 ที่รัฐบาลหลายประเทศตั้งเอาไว้
ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนและภาครัฐเริ่มขยับขยายมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถลดการปล่อยคาร์บอกไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้จริง ทำให้ธุรกิจอื่นๆ เริ่มหันมาใช้วิธีนี้ส่งต่อความยั่งยืนให้กับลูกค้าไปด้วย และเพิ่มกำไรในการขายไปด้วยมากขึ้นโดยโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความรุนแรงของปัญหาโลกเดือด ยกระดับความร่วมมือตั้งแต่ในระดับชุมชน และพยายามฟื้นฟูความหลากหลายของระบบนิเวศ
แต่ด้วยปัจจัยและตัวแปรที่หลากหลาย ทำให้เทรนด์การปลูกต้นไม้อาจจะส่งผลให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิมได้ หากภาคธุรกิจไม่วางแผนให้ดี
โครงการปลูกต้นไม้ที่ไม่ต่างกับ ‘ดาบสองคม’
จริงอยู่ว่าการปลูกต้นไม้ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ดีก็จริง แต่ปัญหาโลกเดือดไม่อาจแก้ไขหรือบรรเทาได้ด้วยการปลูกต้นไม้เพียงวิธีเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงปัจจัยอื่นไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากระบบนิเวศบนโลกใบนี้มีความหลากหลาย พืชสายพันธ์ุหนึ่งอาจจะตอบโจทย์กับถิ่นกำเนิดที่หนึ่ง และสร้างคุณประโยชน์ให้กับประชากรในถิ่นนั้น
ในทางกลับกันแล้ว ถ้าไปอยู่ในถิ่นอื่นก็อาจจะให้ผลกระทบที่ต่างกันหากอยู่ในถิ่นกำเนิดที่อื่น ดังนั้น การดำเนินโครงการปลูกต้นไม้โดยไม่วางแผนอย่างรอบด้านจึงไม่ต่างอะไรกับ ‘ดาบสองคม’ ที่นอกจากจะไม่ช่วยให้ดีขึ้นแล้ว ยังซ้ำเติมให้สถานการณ์แย่ลงได้ด้วย
มาดูกันว่าตัวอย่างการปลูกต้นไม้ที่ไม่ได้ช่วยให้เย็นขึ้น อีกทั้งยังซ้ำเติมปัญหาระบบนิเวศให้ยิ่งแย่ลงมีอะไรบ้าง?
[ ] โครงการปลูกต้นไม้บนเขตที่ราบสูงของสาธารณรัฐคองโกของ TotalEnergies บริษัทน้ำมันก๊าดยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส โดยหลังจากที่บริษัทประกาศออกไป นักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมก็ออกมาให้ความเห็นที่หลากหลาย
เนื่องจากพื้นที่นั้นเป็นทุ่งหญ้าแบบสะวันนา ซึ่งมีพืชท้องถิ่นที่สำคัญกับการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า และระบบนิเวศทางธรรมชาติในที่ราบสูงแห่งนั้นก็ยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับการศึกษาวิจัยน้อยที่สุดในทวีปแอฟริกาอีกด้วย จึงไม่ใช่สถานที่เหมาะที่จะทำโครงการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศพืชท้องถิ่นและสัตว์ป่าได้
[ ] โครงการปลูกต้นยูคาลิปตัส พืชสำคัญที่เป็นอาหารหลักของหมีโคอาลาในประเทศออสเตรเลีย อีกทั้งยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถทำกำไรให้กับธุรกิจได้ และนิยมปลูกในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำคัญอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การปลูกยูคาลิปตัสจำนวนมากในพื้นที่ขนาดใหญ่จะทำให้ดินเป็นพิษ และส่งผลกระทบกับพืชอื่นๆ ใกล้เคียง ยิ่งไปกว่านั้นต้นยูคาลิปตัสยังเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้ไฟป่าลุกลามอย่างรุนแรงอีกด้วย ดังนั้น เราจึงมักเห็นนักสิ่งแวดล้อมจำนวนไม่น้อยออกมาต่อต้านธุรกิจที่ดำเนินโครงการปลูกต้นไม้แบบไม่คำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นบ่อยๆ
พื้นที่สีเขียวแบบไหนที่เป็นประโยชน์กับระบบนิเวศอย่างแท้จริง?
เทรนด์การปลูกต้นไม้ที่ดี และสร้างประโยชน์ให้กับโลกนี้จริงๆ จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงระบบนิเวศในท้องถิ่น รวมไปถึงผลกระทบอื่นๆ อย่างรอบด้านด้วย เพราะบางครั้งประชากรก็พึ่งพาผลผลิตทางการเกษตรเป็นรายได้หลักในการประกอบอาชีพ ดังนั้นการปลูกต้นไม้ที่ไม่เหมาะกับระบบนิเวศในท้องถิ่นก็อาจจะรบกวนพืชท้องถิ่น และส่งผลเสียให้กับการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าและผู้คนในพื้นที่นั้นได้
ด้วยเหตุนี้หลายๆ ธุรกิจที่ยกให้การปลูกต้นไม้เป็นหมุดหมายสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรจึงต้องวางแผนโครงการของตัวเองให้ดี โดยคำนึงถึงระบบนิเวศท้องถิ่น การควบคุมวงจรน้ำ การหยุดการพังทลายของดิน และการฟื้นฟูที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังมักมีเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ยกระดับวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น รวมไปถึงพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย
โดยโครงการฟื้นฟูป่าที่ไม่ทำลายระบบนิเวศท้องถิ่น แล้วยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนมีให้เห็นจากทั่วทุกมุมโลก เช่น
[ ] โครงการ Plant to Stop Poverty ในพื้นที่ชนบทของประเทศแทนซาเนีย ซึ่งใช้วิธีแบบบูรณาการให้คำแนะนำกับชาวบ้าน จนสามารถเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ให้กับท้องถิ่น ในขณะเดียวกันป่า และพื้นที่ธรรมชาติก็ได้รับการฟื้นฟูและปกป้องผ่านการปลูกต้นไม้ด้วย
[ ] โครงการฟื้นฟูพื้นที่ป่า และการเสริมพลังทางสังคมในชุมชนขนาดเล็กที่มีทรัพยากรจำกัดของประเทศเม็กซิโก โดยการนำกลยุทธ์นวัตกรรมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไปใช้ โดยโครงการนี้ช่วยให้ชุมชนสามารถต่อสู้กับความเสื่อมโทรมของป่า ปรับปรุงความหลากหลายทางชีวภาพ ป้องกันการกัดเซาะ เติมเต็มแหล่งน้ำสำรอง และบรรเทาผลกระทบที่รุนแรงจากปัญหาสภาพอากาศด้วย
[ ] โครงการชุมชนต้นไม้ สหราชอาณาจักร มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในประเทศอังกฤษ เนื่องจากมีพื้นที่สีเขียวเพียง 13% ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราที่ต่ำที่สุดในยุโรป โดยโครงการนี้ช่วยให้คนในชุมชนสามารถปลูกต้นไม้พื้นเมืองในพื้นที่สาธารณะท้องถิ่นของตน และจัดหาที่อยู่อาศัยที่สำคัญสำหรับสัตว์ป่าท้องถิ่น รวมไปถึงเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้ประเทศอังกฤษด้วย
ประเทศไทยเองก็มีโครงการฟื้นฟูป่าและพื้นที่ธรรมชาติที่ดีต่อท้องถิ่นเช่นกัน อย่างบริษัท โตโยต้าก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศของท้องถิ่นอย่างรอบด้าน อีกทั้งยังมุ่งเน้นที่จะปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับสังคมไทย การร่วมมือกับชุมชนทั่วประเทศผ่านกิจกรรมเพิ่มพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก เช่น
[ ] กิจกรรมปลูกป่านิเวศที่โรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ ตั้งแต่ปี 2008 โดยปลูกป่านิเวศไปแล้วทั้งสิ้น 1,860,000 ต้น
[ ] กิจกรรมปลูกป่าชายเลนที่สถานีตากอากาศบางปู ตั้งแต่ปี 2005 โดยปลูกไปแล้วทั้งสิ้น 792,800 ต้น
[ ] ศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน ‘ชีวพนาเวศ’ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีพื้นที่รวม 60 ไร่ แบ่งเป็นป่านิเวศ 30 ไร่ และแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ 30 ไร่ เพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม
[ ] ศูนย์การเรียนรู้ โตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยา โดยโตโยต้าร่วมมือกับจังหวัดอยุธยา เพื่อผลักดันให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกและสร้างการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลายเป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
การเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้ที่ไม่ทำลายระบบนิเวศในท้องถิ่นไม่เพียงแต่จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกได้ แต่ยังสามารถฟื้นฟูธรรมชาติ และช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับระบบนิเวศทางธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ โครงการการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อยกระดับชีวิตของผู้คน โดยไม่ทำลายระบบนิเวศเดิมของท้องถิ่นยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทายทั้งกับโตโยต้า ชุมชน รวมถึงองค์กรต่างๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน
อย่างไรก็ตาม การสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจและการตระหนักรู้เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความสุข ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์ให้กับผู้คนอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับระบบนิเวศของท้องถิ่นก็ยังเป็นภารกิจสำคัญที่ไม่ว่าธุรกิจไหนก็ไม่อาจมองข้ามได้
อ้างอิง
– Tree Planting Is Booming. Here’s How That Could Help, or Harm, the Planet. : Catrin Einhorn, New York Times – https://nyti.ms/3VdD5UO
– Plant to Stop Poverty, Tanzania : Tree Nation – https://bit.ly/4dKcZir
– Restoration and Social Empowerment, Mexico : Tree Nation – https://bit.ly/4doxOQM
– Community Tree Planting, United Kingdom : Tree Nation – https://bit.ly/4djoBt2
#toyota
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast