The Social Dilemma ทุนนิยมสอดแนม

3669
เคยสงสัยไหมว่า การตัดสินใจของเราใน “โซเชียลมีเดีย” มาจากตัวเราเอง หรือว่ามีใครชักใยอยู่ข้างหลัง? The Social Dilemma ทุนนิยมสอดแนม สารคดีจาก Netflix ความยาว 1 ชั่วโมง 30 นาที ว่าด้วยเรื่องราวของโลกเบื้องหลังโซเชียลมีเดียที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน อัดแน่นไปด้วยข้อมูลและเนื้อหามากมายจากประเด็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว ที่ดูจบแล้วคุณอาจจะไม่อยากจับมือถือขึ้นมาเล่นอีกเลยเป็นพักใหญ่
 
สารคดีเล่าเรื่องผ่านบุคคลที่เคยทำงานหรือเป็นผู้ก่อตั้งของบริษัทแพลตฟอร์ม Social Media ต่างๆ เช่น Facebook, YouTube, Twitter ,Pinterest หรือ Instagram
 
พูดถึงเบื้องหลังการทำงานของอัลกอริทึม ที่พยายามจูงใจคุณให้ใช้เวลาอยู่บนหน้าจอให้นานที่สุด ทำทุกวิถีทางที่ทำให้คุณเสพติดมันโดยไม่รู้ตัว หรือแม้แต่การพยายามแทรกแซงกิจวัตรประจําวัน คาดเดาพฤติกรรมของผู้ใช้เพื่อจะยิงโฆษณาให้คุณ
 
ซึ่งตัวสารคดีมีการจำลองเหตุการณ์จากครอบครัวธรรมดาครอบครัวหนึ่ง เพื่อให้คนดูเข้าใจกลไกการทำงานของระบบอัลกอริทึม (ให้นึกภาพการ์ตูน Inside Out ผสม The Matrix ที่เปลี่ยนระบบการทำงานของสมอง ไปเป็นการทำงานของอัลกอริทึมแทน)
 
“ผมหวังว่าจะมีคนเข้าใจกลไกของเรื่องนี้มากขึ้น เพราะมันไม่ควรเป็นเรื่องที่รู้กันแค่เฉพาะในวงการเทคโนโลยี มันควรเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้” – Tristan Harris
 
หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่าการเข้ามามีทบบาทของโซเชียลมีเดีย ส่งผลกระทบกับเราอย่างไรบ้าง ในแง่ดี มันเชื่อมต่อทุกคนให้เข้าถึงกัน ข่าวสารมากมายจากทั่วโลกสามารถหลั่งไหลเข้ามาเพียงแค่ปลายนิ้ว และสิ่งน่าดึงดูดสำหรับแพลตฟอร์มพวกนี้คือมัน ‘ฟรี’ ของฟรีเย้ายวลใจเราเสมอ เพียงแค่กรอกข้อมูลส่วนตัวไม่กี่อย่าง เราก็ได้ใช้บริการมากมายที่ทางแพลตฟอร์มเตรียมไว้ให้
 
“ถ้าคุณไม่ได้จ่ายเงินซื้อสินค้า งั้นคุณก็จะเป็นสินค้าเสียเอง”
 
ฟังดูดี แต่ของฟรีไม่มีในโลก โมเดลธุรกิจของแพลตฟอร์มพวกนี้คือการดึงผู้ใช้งานให้ติดอยู่กับหน้าจอให้นานที่สุด เพราะลูกค้าตัวจริงของแพลตฟอร์มคือผู้ลงโฆษณาต่างหากคือลูกค้า ส่วนเราคือสินค้า ความสนใจของเรา ทุกการคลิก การค้นหา ถูกเปลี่ยนเป็นสินค้าที่ถูกขายให้กับผู้ลงโฆษณา
 
“สิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนรู้ก็คือว่าทุกอย่างที่พวกเขาทำออนไลน์​ ล้วนถูกจับจ้อง จับตามรอย และถูกประเมิน ทุกๆ การกระทำที่เราทำล้วนถูกจับตาดูด้วยความระมัดระวังและบันทึกเอาไว้” – Jeff Seibert
 
สิ่งที่ตัวสารคดีพยายามนำเสนอให้เห็นภาพคือ ให้นึกภาพว่าหากคุณเลื่อนมาเจอรูปภาพหนึ่งระบบจับตามองว่าคุณใช้เวลากับภาพนี้ไปกี่วินาที แล้วคุณมีปฏิกิริยาอย่างไรกับรูปนั้นบ้าง คุณเปิดดูรูปแฟนเก่าเป็นครั้งที่เท่าไหร่ของวัน ทุกคลิก ไลค์ วิดีโอที่ดู ทุกอย่างที่คุณทำล้วนถูกบันทึกไว้เป็นข้อมูล สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือพวกเขาไม่ได้นำข้อมูลของเราไปอย่างเดียว พวกเขายังจำลองขึ้นมา นำข้อมูลของคุณไปวิเคราะห์ แล้วคาดเดาการกระทำของคุณ
 
ดั่งคำทำนายจากอนาคต ที่เจาะเข้าไปในก้านสมองของทุกคนเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว เช่น YouTube หมวดวิดีโอแนะนำล้วนเป็นคำทำนายจากอัลกอริทึม ที่มีผลมาจากวิดีโอที่คุณเปิดดูก่อนหน้านี้ คุณอาจจะลองถามตัวเองดูว่า สิ่งที่คุณตัดสินใจคลิกไปแต่ละครั้ง เป็นการตัดสินใจของคุณหรืออัลกอริทึมกันแน่
 
“มีเพียงสองอุตสาหกรรมที่เรียกลูกค้าว่า ‘ผู้ใช้’ นั่นคือยาเสพติดกับซอฟต์แวร์” – Edward Tufte
 
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ การที่โซเชียลมีเดียส่งผลกระทบจิตใจของเราในด้านลบ แทนที่จะเป็นด้านบวก ปุ่ม ‘Like’ จุดประสงค์ดั้งเดิมถูกสร้างมาเพื่อส่งต่อพลังบวกให้แก่กัน แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นเหมือนเครื่องมือชี้วัดระดับความน่าสนใจหรือเกิดการเปรียบเทียบขึ้นมา ถูกนำมันมาปะปนกับคุณค่าของความเป็นจริง
 
“มันชัดเจนมากสำหรับผม บริการเหล่านี้กำลังฆ่าผู้คน และทำให้ผู้คนฆ่าตัวตาย”
 
หนึ่งฉากที่ประทับใจแล้วทำให้เราเห็นความแสบของระบบอัลกอริทึมได้เป็นอย่างดี คือ ตอนที่เบน (นักแสดงสมมุติในสารคดี) พยายามจะเลิกใช้โทรศัพท์เป็นเวลา 7 วัน แต่เมื่อเริ่มเข้าวันที่ 3 ระบบอัลกอริทึมก็เริ่มเห็นความผิดปกติของเบนที่ไม่มีความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียมาพักใหญ่ ระบบจึงเริ่มหาวิธีกระตุ้นเบนให้กลับมาใช้งานอีกครั้ง โดยวิธีที่ระบบเลือกคือการส่งแจ้งเตือนเรื่องแฟนเก่าของเบน ที่กำลังมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่ไปให้เบน ทำให้เบนอดใจไม่ไหวหยิบโทรศัพท์มาเปิดใช้งานอีกครั้งเพื่อดูข้อความ
 
สิ่งที่ตัวสารคดีแสดงออกมาอาจจะไม่ถึงขึ้นนั้นในชีวิตจริง แต่มันก็สะท้อนให้เห็นว่า A.I. พวกนี้รู้จักพวกเราดีแค่ไหน ซึ่งหลายคนก็พยายามตั้งคำถามเชิงศิลธรรมกับการกระทำแบบนี้อยู่ในช่วงที่ผ่านมา
 
ถึงแม้สารคดีเรื่องนี้อาจทำให้เรามองเทคโนโลยีเป็นผู้ร้าย กลัวที่จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา แต่ตัวสารคดีเองก็พยายามสื่อว่าเทคโนโลยีนั้นก็มีข้อดีอยู่ เพียงแต่ต้องการให้ผู้คนได้รับรู้ข้อเสียของมัน และควรต้องได้รับการแก้ไข เรียกร้องให้มีกฎหมายรวมถึงการลงโทษที่ชัดเจน ปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งาน ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง Business Model ใหม่ มองเรื่องนี้ให้เป็นปัญหาที่เรามาพูดคุยกันอย่างจริงจัง
 
“มันอาจจะฟังดูแปลกๆ ผมไม่ได้เกลียดพวกเขา ผมไม่ได้คิดร้ายกับ Google หรือ Facebook ผมแค่อยากปฏิรูปเพื่อไม่ให้พวกเขาทำลายโลกนึกออกไหม?” – Jaron Lanier
 
Author: Thongthong Mahawijit
Illustrator: Patt Srisutthi
Advertisements