ปัญหาของความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้อยู่แค่ความเหลื่อมล้ำ

1958

Keith Payne อาจารย์ด้านจิตวิทยาสังคมที่ University of North Carolina ซึ่งศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ได้พูดบนเวที TED เกี่ยวกับประเด็นนี้ในมุมที่ทำให้เราต้องมองเรื่องความเหลื่อมล้ำในอีกมิตินึง

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าโลกเรามีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นทุกวัน คุณเองก็อาจจะเคยได้ยินตัวเลขบางเรื่องที่ฟังดูน่าตกใจมากๆ เช่น มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก 8 คน มีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าคนที่ยากจนที่สุดในโลก สามพันห้าร้อยล้านคนรวมกัน เป็นต้น

ความเหลื่อมล้ำเป็นสาเหตุที่ทำให้คนมีอายุสั้นลง มีความสุขน้อยลง และมีโอกาสจะเข้าสู่วงโคจรของอาชญากรรมและยาเสพติดมากขึ้นอีกด้วย เรื่องนี้เป็นจริงไม่ว่ากับประเทศที่ยากจนหรือประเทศที่ร่ำรวย

Advertisements

ในประเทศที่ร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกา ความเหลื่อมล้ำยังถูกเชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองอีกด้วย

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับความขัดแย้งทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นด้วย

เรื่องสองเรื่องนี้มันเกี่ยวกันอย่างไร?

แม้ว่าคนที่สนับสนุนพรรค Democrat และ Republican ต่างก็เห็นด้วยว่าควรจะมีการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ด้วยความขัดแย้งทางการเมือง ทำให้ต่างฝ่ายต่างมองคนที่อยู่ตรงข้ามไม่ใช่แค่คนเห็นต่าง แต่คนจำนวนมากเห็นว่าคนที่สนับสนุนอีกฝ่าย ‘โง่’ และเป็นภัยต่อประเทศ เมื่อเป็นแบบนี้การหาจุดร่วมเพื่อหาทางออกจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

Keith Payne ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า หากความขัดแย้งทางการเมืองและความเหลื่อมล้ำมีความสัมพันธ์กันแล้วละก็ เราคงต้องศึกษาทั้งสองอย่างไปพร้อมๆกัน เพราะบางทีการเปลี่ยนแปลงอาจจะต้องเกิดขึ้นในทั้งสองมิติ

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “Better than average effect”  คือ ปรากฏการณ์ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวเรานั้นทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยในทุกๆ เรื่องที่เราสนใจ

คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเรามีความรู้มากกว่า, ทำงานหนักกว่า มีความสามารถมากกว่า หรือแม้แต่ขับรถดีกว่าค่าเฉลี่ย

แม้ว่าคนที่นอนอยู่โรงพยาบาลเพราะพึ่งประสบอุบัติเหตุรถยนต์ที่ตัวเองเป็นฝ่ายผิด ยังคิดว่าตัวเองขับรถดีกว่าค่าเฉลี่ยเลย

ดังนั้น คนส่วนใหญ่จะเห็นตัวเองดีกว่าค่าเฉลี่ยทั้งสิ้น แต่บางครั้งเมื่อผลออกมาแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น การรับมือกับมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จะว่าไปแล้วมันเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อโลกเลยก็ว่าได้

Keith Payne ทำการวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยให้ผู้เข้าทดลองทำงานที่ใช้ความคิดและให้ผลตอบแทนจากงานที่ใช้ “ความคิด” นั้นเป็นเงิน โดยทุกคนได้รับเงินเท่ากัน แต่ว่าไม่มีใครรู้

เมื่อทำจบแล้ว คนทั้งหมดได้รับการแบ่งออกเป็นสองกลุ่มแบบสุ่ม โดยกลุ่มแรกได้รับการบอกว่าพวกเขาทำงานได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยและได้เงินเยอะกว่าอีกกลุ่มนึง ส่วนกลุ่มที่สองก็ได้รับการบอกว่าพวกเขาทำงานได้แย่กว่าค่าเฉลี่ย และได้เงินน้อยกว่าอีกกลุ่มนึง

การทำแบบนี้ทำให้คนกลุ่มแรกรู้สึก “รวยกว่า “ ในขณะที่กลุ่มที่สองรู้สึก “จนกว่า” ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วทุกคนมีเงินเท่ากันหมด

ทั้งสองกลุ่มได้รับคำถาม เช่น คุณคิดว่าคุณมีความสามารถในการตัดสินใจแค่ไหน กลุ่มที่ “รวยกว่า” บอกว่าตัวเองความสามารถดีกว่ากลุ่มที่ “จนกว่า” เมื่อถูกถามว่าการที่คุณหาเงินได้เยอะกว่า (ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้หาได้เยอะกว่า) เพราะอะไรกลุ่มที่รวยกว่าจะตอบว่ามาจากความพยายามที่มากกว่า และผลของมันยุติธรรมแล้ว

Advertisements

ในขณะที่กลุ่มที่จนกว่าจะบอกว่า ระบบมันไม่แฟร์ ซึ่งในกรณีนี้พวกเขาถูกต้องเสียด้วย

เมื่อถามคำถามเรื่องภาษีและสวัสดิการของรัฐ กลุ่มที่ ”รวยกว่า” บอกว่าภาษีของคนรวยนั้นเยอะเกินไปควรลดลงหน่อย และควรตัดสวัสดิการของพวกคนจนด้วย เพราะคนเหล่านั้นควร “พยายามมากขึ้น” เพื่อตัวเอง

เมื่อถามต่อว่าคุณคิดอย่างไรที่กลุ่มที่ “จนกว่า” ไม่เห็นด้วยกับความคิดของพวกเขา กลุ่มที่ “รวยกว่า” บอกว่าคนที่ “จนกว่า” ที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดเรื่องภาษีและสวัสดิการของพวกเขานั้น ไร้ความสามารถ, ลำเอียง และเห็นแก่ประโยนช์ส่วนตัว

เมื่อคำถามทำนองเดียวกันถูกถามกับกลุ่มที่ “จนกว่า” พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่ากลุ่มที่ “รวยกว่า” นั้นไร้ความสามารถ, ลำเอียง หรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวแต่อย่างใด

เรายังไม่ลืมนะครับ ว่าความจริงแล้วทุกคนได้เงินเท่ากันหมด…

แต่เพราะรู้สึกว่า “รวยกว่า” คนจำนวนนึงจึงคิดว่าตัวเองมี “สิทธิ” มากกว่าคนอื่น และสามารถ “ลดค่า” ความคิดของคนที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเองไปได้

ความเชื่อแบบนี้ที่เราเคยคิดว่าต้องปลูกฝังกันมานานๆ แต่การทดลองเพียงไม่กี่นาทีนี้แสดงให้เห็นว่า “ความรู้สึก” ที่ว่าตัวเอง “รวยกว่า” หรือ “จนกว่า” นั้น เปลี่ยนแปลงมุมมองที่เรามีต่อโลกจริงๆ

เวลาที่เราทำอะไรสำเร็จมันง่ายมากที่จะให้เครติดกับตัวเองแล้วบอกว่าความสำเร็จนั้นมาจาก การทำงานหนักและความสามารถของเราล้วนๆ แต่อย่างที่เราเห็นจากงานวิจัยว่า คนที่ทำงานหนักไม่ได้หมายความว่าจะ “สำเร็จ” เสมอไป

Shai Davidai และ Tom Gilovich สองนักจิตวิทยา เคยทำงานวิจัยชื่อว่า The headwinds/tailwinds asymmetry: An availability bias in assessments of barriers and blessings.

โดยงานวิจัยกล่าวไว้ว่า ในช่วงชีวิตที่เราพยายามดิ้นรนเพื่ออะไรสักอย่าง มันเหมือนกับเรากำลังเดิน “ต้านลม” สิ่งที่เรามองเห็นนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรค และอุปสรรคเป็นเพียงของอย่างที่เห็นและจำได้

ในขณะที่บางช่วงบางตอนของชีวิต เราก็เดิน “ตามลม” ซึ่งมันอาจจะหมายถึงโชคหรือระบบที่เอื้อกับเราอยู่ก็ได้ ตอนที่เราเดิน “ตามลม” นี้สิ่งที่เราเห็นคือ “ตัวเอง” และความสามารถอันน่าอัศจรรย์ โดยน้อยคนนักจะรู้สึกถึงลมที่กำลังช่วยดันเราอยู่

ถ้าหากเราเห็นแบบนี้แล้วผมเชื่อว่า ครั้งต่อไปที่เราจะ “ตราหน้า” ใครว่า เขาโง่, ขี้เกียจ หรือไร้ความสามารถ บางทีเราเองอาจจะต้องกลับมาทบทวนว่าในชีวิตของเรานั้นเรามี “ลม” ช่วยผลักมามากน้อยขนาดไหน กี่ครั้งแล้วที่ “โชคดี” พาเราออกจากสถานการณ์แย่ๆ

หากมองในมุมนี้เชื่อว่าเราก็จะไม่ตัดสินคนที่ไม่เห็นด้วยกับเราว่าเขา ไร้ความสามารถ, ลำเอียง หรือเอาแต่ทำเพื่อตัวเอง เราจะเห็นโลกตามความเป็นจริงได้มากขึ้นและผมเชื่อว่าเราจะเข้าใจมากขึ้นด้วยว่า มีคนอีกจำนวนมากที่เขาพยายามไม่ต่างจากเรา แต่ด้วยโครงสร้างทางสังคม กฎกติกา หรือแม้แต่โชคทำให้เขามาไม่ได้ไกลเท่าเรา

ถ้าเข้าใจแบบนี้แล้ว เราจะเมตตาคนอื่นมากขึ้น ในขณะที่อัตตาของตัวเราเองก็จะลดลงไปด้วย

เราน่าจะมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่าง “เข้าใจ” และ “สุขใจ” มากขึ้นครับ
Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่