ความสำคัญของ Portfolio กับการเข้ามหาวิทยาลัย

14635

ก่อนอื่นต้องบอกว่านี้เป็นงานเขียนชิ้นแรกของทาง Mission to the Moon เลยก็ว่าได้ ที่เกี่ยวกับเรื่อง การเรียนการศึกษา โดยพูดถึงในมุมของน้องๆ ที่กำลังจะต้องเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย

เรื่องเกิดจากผมได้รับเชิญให้ไปร่วมฟัง Workshop ที่ทาง Brand Summer Camp+ ได้จัดขึ้น เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา ภายในงานก็มีวิทยากรจากหลากหลายสาขาอาชีพมาเล่าถึงประสบการณ์ที่น่าสนใจให้น้องๆ ได้เรียนรู้ และพร้อมที่จะ “อัพเกรดสมอง พร้อมพิชิตทุกฝัน”

โดยพาร์ทที่ทางผมได้เข้าไปร่วมฟังนั้น เป็น Workshop ของคุณ ด๋อน เรืองชาย สุพรรณพงศ์ Chief Disruption Officer Bar B Q Plaza

Advertisements

คุณด๋อน เล่าถึงประสบการณ์ที่น่าสนใจที่ได้ลองผิดลองถูกในการพัฒนาและหา Innovation ใหม่ๆ ให้กับ BBQ โดยใช้หลักของ Design Thinking มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา และเมื่อได้ไอเดียที่ต้องการ ก็ให้ทำ Prototype เพื่อทำสิ่งที่เราคิดให้ออกมารูปเป็นร่าง โดยใช้วิธีคิดของการ fail fast, fail cheap (ล้มให้เร็ว, ล้มให้ถูก)

โดยใน Workshop คุณด๋อนได้รวมเอาแนวคิดที่น่าสนใจเหล่านี้ มาถ่ายทอดในแง่ของการออกแบบ Portfolio และออกการออกแบบชีวิตให้กับน้องๆ ที่กำลังจะต้องเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย

img 2
กิจกรรม Workshop ออกแบบพอร์ตโฟลิโอสำหรับเข้ามหาวิทยาลัย

“Portfolio” คือ เอกสารที่เราออกแบบได้

Portfolio คือการรวบรวมเรื่องราวต่างๆ ที่สามารถอธิบายถึงความเป็นตัวตนของเรา เป็นตัวแทนที่จะบอกเล่าถึงเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมาว่าเราเคยทำอะไรมาบ้าง และ ทำอะไรได้บ้าง คีย์เวิร์ดสำคัญของการสร้าง Portfolio คือ “การทดลองทำ” เพื่อให้สิ่งที่เหล่านั้นกลายมาเป็นประสบการณ์ที่เราอยากจะเอาไปใส่ลง Portfolio

img 3

เริ่มแรกคุณด๋อนพูดถึงสิ่งหลักสำคัญที่เราต้องเข้าใจก่อนก็คือหลักของ “Design Thinking”

เพื่อที่จะได้นำมาใช้เป็นแกนกลางในการออกแบบ Portfolio ซึ่งมีดังนี้ 

Empathize | เข้าใจ/เอาใจใส่ : สำรวจและเรียนรู้เกี่ยวกับ Audience เพื่อที่เราจะได้เข้าใจความต้องการของเขาอย่างแท้จริง

Define | ระบุความต้องการ : หาปัญหาและระบุความต้องการของ Audience ให้เจอ อะไรกันแน่ที่พวกเขากำลังมองหาอยู่

Ideate | ท้าทายสมมติฐานและสร้างสรรค์ไอเดีย : จากข้อมูลที่ได้มาจากการทำ Empathize และ Define ให้เรานำมาคิดและวิเคราะห์ให้ละเอียดอย่าเพิ่งด่วนสรุป แต่จงลองท้าทายสมมติฐานต่างๆ ให้มากที่สุด

Prototype | เริ่มต้นสร้างโซลูชั่น : สิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญของขั้นตอนนี้ก็คือ การระบุทางออกที่ดีที่สุดที่เท่าที่จะเป็นไปได้ โดยจะเริ่มทดลองสร้างสินค้าหรือบริการต้นแบบโดยใช้งบน้อยๆ และเลือกหยิบคุณสมบัติที่สำคัญๆ ของโปรดักซ์มาลองสร้างเป็นต้นแบบดูก่อน

Test | ทดสอบ : นี่เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำ Design Thinking นั้นก็คือการทดลองนำ Prototype ที่ได้นั้นมาใช้งานทดสอบดูจริงๆ ว่ามันออกมาอย่างที่ Audience หรือ เราต้องการหรือเปล่า เป็นไปตามที่คิดไหม และหากมีปัญหาเกิดขึ้นในขั้นนี้ให้เราวนลูบไปที่ข้อหนึ่งอีกครั้ง

img 4
แนวคิด Design Thinking ที่ประยุกต์ใช้กับการทำ Portfolio

เมื่อเราใจถึงหลักการคร่าวๆ ของ Design Thinking แล้ว

ตอนนี้ก็ถึงเวลานำหลักของ Design Thinking มาปรับใช้กับการทำ Portfolio

Advertisements

โดยเริ่มจาก 

1. Empathize | คนอ่านพอร์ตของเรา “เขาต้องการอะไร”

ข้อแรกเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก เพราะถ้าเราเริ่มต้นผิด ข้อที่เหลือก็ผิดวัตถุประสงค์ไปด้วย เปรียบเสมือนการติดกระดุมเม็ดแรก ดังนั้นจงหาคำตอบด้วยการพูดคุยที่ทำอาชีพนี้ (ในกรณีทำ Porfolio เพื่อสมัครงาน) หรือสำหรับน้องๆ  ก็สามารถหาคำตอบนี้ได้จากการคุยกับรุ่นพี่หรืออาจารย์คณะที่อยากเข้า ว่าคณะนี้เขามองหาอะไร

2. Define | ระบุสิ่งที่เขาต้องการ

หลังจากที่เราได้เข้าไปพูดคุยมาเรียบร้อย เราจะได้รับข้อมูลมาชุดหนึ่ง จากนั้นให้เราระบุสิ่งที่เขาต้องการออกมาโดยการเขียนลงมาเป็นข้อๆ

3. Ideate | สร้างสรรค์ผลงานแบบ “โม้ไปก่อน”

เมื่อเราได้เริ่มทำข้อ 1-2 แล้ว ลองคิดดูว่า กิจกรรมแบบไหนหรือประสบการณ์อะไรที่เราควรมี เพื่อที่จะได้เข้าข่าย “คนนั้น” ที่อาจารย์คณะนั้น (หรือคนที่อ่านพอร์ตของเรา) ตามหา ซึ่งตรงนี้ไม่มีถูกหรือผิด เราสามารถโม้ขึ้นมาได้เต็มที่ เพราะขั้นตอนนี้เป็นเพียงการตั้งสมมติฐาน

4. Prototype | สร้างต้นแบบให้พอร์ตโฟลิโอ

ขั้นตอนนี้คือการที่เรานำสิ่งที่เราโม้ไว้ไปเขียนใส่ลงในพอร์ตของเราเหมือนกับว่าเราได้ไปทำกิจกรรมเหล่านั้นมาแล้ว (ทั้งที่ความจริงแล้วเราอาจจะยังไม่เคยทำเลยก็ได้) แต่ให้เขียนมันลงไปก่อนเพื่อที่จะได้มันออกมาเป็นต้นแบบของพอร์ตโฟลิโอของเรา

เมื่อเรามีพอร์ตโฟลิโอแล้ว ลองนำพอร์ตที่เรา “โม้” ขึ้นมา ไปปรึกษาอาจารย์หรือรุ่นพี่ในข้อที่ 1 ว่าพอร์ตของเราดีไหม สิ่งที่เราได้ทำไปเป็นสิ่งที่เขากำลังมองหาหรือยัง ถ้าดีแล้วก็เยี่ยมเลย เราจะได้นำ Prototype อันนี้ไปพัฒนาต่อให้เป็นของจริง แต่ถ้ายังไม่ดี ก็แค่เริ่มต้นทำ Prototype อันใหม่เท่านั้นเอง

ขั้นตอนนี้แหละครับ คือตัวอย่างที่ดีในการอธิบายคำว่า​ “fail cheap” คือล้มให้มีราคาถูกที่สุด

5. Test | ลองทำจริง

คือการนำ Prototype พอร์ตโฟลิโอของเรานั่นแหละไปลองทำจริง นำสิ่งที่เราเคยโม้ไว้ไปหาหนทางทำมันออกมา ไปลองเรียนรู้มันด้วยตัวเอง ไปทำกิจกรรมเหล่านั้น ทำจนมันกลายเป็นประสบการณ์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของพอร์ตโฟลิโอ และเป็นส่วนที่จะได้ทดสอบว่าสิ่งนี้เป็นไปที่คาดไหม ตรงกับสิ่งที่คนอ่านพอร์ตของเราต้องการจริงๆ หรือเปล่า

และหลังจากที่เรานำ prototype ของพอร์ตโฟลิโอเราไปลองทำจริงแล้ว ต้องไม่ลืมที่จะนำสิ่งนั้นไปปรับปรุง แก้ไข และทำใหม่เรื่อยๆ จนกว่าพอร์ตของเราจะออกมาเจ๋งสุดๆ 

img 5

นอกจากนั้นเมื่อเราได้ลองผิดลองถูก ได้มีประสบการณ์ใส่ในพอร์ตแล้ว ให้เรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ตัวเราได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมที่ได้ไปทำ และได้ทักษะอะไรติดตัวกล้บมา ซึ่งสิ่งนั้นอาจจะเป็น hard skill (ความสามารถทางเทคนิค) เช่น ได้ลองใช้โปรแกรม ได้วาดรูป หรือจะเป็น soft skill (ความสามารถทางสังคม) เช่น ทักษะในการสื่อสาร ทักษะความเป็นผู้นำ ก็ได้ทั้งนั้น

ซึ่งผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์สำหรับน้องๆ โดยเฉพาะวัยมัธยมปลายเป็นอย่างมาก เพราะการได้ทำกิจกรรม Workshop กับผู้ที่เป็นตัวจริงในสายงานนั้นๆ ก็เหมือนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานจริงว่ากว่าจะมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จได้ผ่านการลองผิดลองถูกอะไรมาบ้าง และมันจะช่วยให้น้องๆ ได้ค้นหาตัวเองได้เร็วขึ้น ได้เจอทางที่ใช่ก่อนจะเลือกเดิน 

เพราะอย่างที่ผมบอกครับ ว่าจุดเริ่มต้นนั้นสำคัญมาก โดยเฉพาะจุดเริ่มต้นของการเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าเราได้เริ่มต้นดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง

img 6

และสุดท้าย สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณด๋อนอยากให้น้องๆ ทุกคนได้รับจากกิจกรรมนี้ ไม่ใช่แค่การได้ทำพอร์ตโฟลิโอ แต่เป็นการสอนแนวคิดเพื่อให้น้องๆ ได้เรียนรู้ว่า เราทุกคนสามารถออกแบบชีวิตได้ด้วยตัวเอง

อย่าลืมนะครับ ว่าชีวิตของเรา เราสามารถออกแบบได้ ขอให้ทุกคนโชคดีครับ 🙂

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่