ทำไมไทยยังเผชิญวิกฤตน้ำท่วม? ถอดบทเรียนการรับมือปัญหาน้ำท่วมจากต่างประเทศ

476
ไทยยังเผชิญวิกฤตน้ำท่วม

เชื่อว่าตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวที่หลายๆ คนเฝ้าติดตาม ให้ความสนใจและเป็นกังวลคงเป็นข่าวสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมในปัจจุบัน ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย ที่มีความรุนแรงและได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและบ้านเรือนของประชาชนเป็นอย่างมาก

การแผลงฤทธิ์ของเจ้าพายุโซนร้อนที่อ่อนกำลังลงจากประเทศจีนกลายมาเป็นพายุดีเปรสชัน “เตี้ยนหมู่” ที่เพิ่งถล่มไทยไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ฝนตกกระหน่ำอย่างต่อเนื่องกระจายไปหลายพื้นที่และเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่งกระทบกว่า 40 จังหวัด โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ยังมีอีกหลายจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เช่น ลพบุรี นครสวรรค์ สุโขทัย อยุธยา ชัยภูมิ นครราชศรีมา เป็นต้น 

นอกจากจังหวัดเหล่านี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑลก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีเมื่อมวลน้ำมานั่นเอง

Advertisements

“เป็นเพราะฝน” หรือ “ความไม่พร้อมรับมือ”

เมื่อพูดถึงประเด็นน้ำท่วมในปัจจุบันอาจทำให้หลายคนหวนนึกถึงอีกหนึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ของไทยเมื่อปี 2554 เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบหลายร้อยปีที่ได้กินพื้นที่หลายจังหวัด เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและสถานที่สำคัญต่างๆ และยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ซึ่งกว่าจะฟื้นฟูได้ก็เรียกได้ว่าใช้เวลาค่อนข้างนานเลยทีเดียว

จนมาถึงวันนี้ระยะเวลาผ่านมา 10 ปีจากน้ำท่วมปี 2554 สู่น้ำท่วมในปี 2564 คงทำให้ใครหลายคนต่างเป็นกังวลว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกหรือไม่?

ภัยพิบัติต่างๆ บางครั้งก็เกิดขึ้นจากธรรมชาติ บางครั้งก็เกิดจากฝีมือของมนุษย์ หากมาแบบไม่ทันตั้งตัวและไม่มีความพร้อมรับมือก็คงจะมีแต่ความเสียหายเกิดขึ้น แน่นอนว่าวิกฤตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดแต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว หลายคนต่างก็ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วต้นตอของปัญหาคืออะไรกันแน่ จากธรรมชาติ ฝนที่ตกหนักติดต่อกันนาน สภาพภูมิประเทศ หรือเป็นเพราะว่าโครงสร้างระบบการบริหารจัดการน้ำของเรายังดีไม่พอ?

เราเชื่อว่าการเตรียมความพร้อมรับมือและป้องกันที่ดีนั้นควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและไปถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริง

วันนี้เราจึงจะพาทุกคนไปถอดบทเรียน ดูวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากหลายประเทศ รวมถึงมาตรการเยียวยาประชาชนเมื่อไม่สามารถต้านภัยธรรมชาติได้ ไปดูกันเลยว่าจะมีประเทศอะไรบ้าง!

โมเดลการรับมือและป้องกันจากต่างประเทศ

จีน’ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เรายังคงเห็นข่าวน้ำท่วมและดินถล่มค่อนข้างบ่อย ไม่ว่าจะด้วยพายุ สภาพอากาศแปรปรวน หรือสภาพภูมิประเทศก็ตาม เห็นได้จากหลายเดือนที่ผ่านมาจีนประสบภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบหลายร้อยปี ถึงขนาดที่ทำให้น้ำท่วมรถไฟฟ้าใต้ดิน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและมีผู้สูญเสียเป็นจำนวนมาก

เมื่อปี 2013 จีนได้พัฒนาแนวคิด “Sponge City” หรือ “เมืองฟองน้ำ” เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับโครงสร้างและสภาพภูมิประเทศ แนวคิดนี้คือการทำให้หลายพื้นที่ของจีนสามารถดูดซับ กักเก็บ และกระจายน้ำได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนฟองน้ำ เช่น การทำให้น้ำสามารถซึมผ่านถนนได้ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น นอกจากจะช่วยบรรเทาน้ำท่วมได้แล้วยังเป็นการหมุนเวียนพลังงานน้ำไปพร้อมๆ กันอีกด้วย

Advertisements

ที่ผ่านมาจะเห็นว่า ‘ญี่ปุ่น’ เผชิญกับภัยธรรมชาติในหลายรูปแบบมาโดยตลอดทั้งทางบก น้ำ และอากาศ เพราะว่าลักษณะภูมิประเทศของญี่ปุ่นที่อยู่ระหว่างรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกถึง 4 แผ่น แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมโดนภัยธรรมชาติเล่นงานขนาดนี้แต่กลับไม่ทิ้งร่องรอยความเสียหายมากเท่าไหร่ และสามารถฟื้นฟูให้เหมือนเดิมได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย นั่นเป็นเพราะญี่ปุ่นให้ความสำคัญและลงทุนกับ 2 เครื่องมือที่มีประโยชน์มากๆ นั่นเอง คือ “นวัตกรรม” และ “คน”

“Metropolitan Area Outer Underground Discharge Channel” หรือ “อุโมงค์ยักษ์คัสสึนาเบะ” ที่รัฐบาลญี่ปุ่นทุ่มงบสร้างกว่าหลายแสนล้านบาทและใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง 20 ปี อุโมงค์ใต้ดินแห่งนี้สร้างแล้วเสร็จในปี 2000 โดยได้ตั้งอยู่ที่โตเกียว ถึงแม้ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณมหาศาลแต่ก็ได้ผลตอบรับที่ค่อนข้างคุ้มค่า สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ดีด้วยระบบระบายน้ำที่ออกแบบมาอย่างตรงจุด นอกจากนี้ “คน” ก็เป็นตัวช่วยสำคัญในการแก้วิกฤตเพราะความใส่ใจและความมีระเบียบวินัยของชาวญี่ปุ่นทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นได้อย่างทันตาเห็น เช่น การทิ้งขยะอย่างเป็นระเบียบทำให้ไม่มีขยะอยู่ในแม่น้ำ ไม่เกิดการอุดตัน น้ำไหลระบายได้ดีนั่นเอง

ประเทศ ‘เนเธอร์แลนด์’ เป็นอีกประเทศที่มีพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่าน ด้วยสภาพภูมิประเทศเหล่านี้ ทำให้เนเธอร์แลนด์ต้องเจอวิกฤตน้ำท่วมมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาวิธีการป้องกันน้ำท่วมหลากหลายวิธีและกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีระบบการบริหารจัดการน้ำได้ดีอันดับต้นๆ ของโลกเลยก็ว่าได้

Delta Works เป็นโครงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นการสร้างเขื่อน ประตูระบายน้ำ พนังกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ กำแพงกั้นคลื่นทะเล และอีกมากมาย นอกจากนี้ Delta Works ยังเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอีกด้วย

นอกจากนี้หลายประเทศก็ให้ความสำคัญกับระบบเตือนภัยฉุกเฉิน ทั้งแถบอเมริกา ยุโรป หรือฝั่งเอเชีย อย่างญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงหรือภัยธรรมชาติก็จะมีข้อความเตือนแจ้งกับประชาชนทุกคน พร้อมยังมีการรายงานความคืบหน้าแบบเรียลไทม์ (Emergency Alert)  จากหน่วยงานรัฐเพื่อให้ทุกคนในทุกพื้นที่พร้อมรับมือ ประเมินความเสี่ยง และสามารถรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ได้ทันเวลา

ศึกษา ประยุกต์ ปรับใช้ ตัวช่วยไทยพ้นวิกฤติ

พอกลับมามองสถานการณ์ในประเทศไทย เราอาจไม่จำเป็นที่จะต้องยกนวัตกรรมหรือโครงสร้างของประเทศเหล่านี้มาทั้งหมด เพียงแต่ต้องศึกษาจากต้นแบบที่ประสบความสําเร็จและนำมาปรับให้เข้ากับโครงสร้างและลักษณะภูมิประเทศของเรา ก็จะช่วยให้เรามีระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดีและเหมาะกับประเทศเราได้อย่างแน่นอน เพราะการแก้ตั้งแต่ต้นตอของปัญหาย่อมดีกว่าการมาคอยตามแก้หลังปัญหานั้นเกิดแล้วนั่นเอง 


อ้างอิง
bit.ly/3mpjOwO
bit.ly/3B6Xmig
bbc.in/3ouGQ8h

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements